Long COVID ผลวิจัยชี้ คนส่วนใหญ่มีปัญหา นอนไม่หลับ-ความจำถดถอย

27 พ.ย. 65

หมอธีระ เผยข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับภาวะลองโควิด (Long COVID) พบปัญหา "นอนไม่หลับ" ในผู้ที่เคยติดเชื้อ รวมถึงปัญหาด้านความคิดความจำ

วันที่ 27 พ.ย.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า

27 พฤศจิกายน 2565...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 291,643 คน ตายเพิ่ม 447 คน รวมแล้วติดไป 645,867,540 คน เสียชีวิตรวม 6,635,701 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ไต้หวัน และฮ่องกง 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.84 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 89.7

...ภาพรวมของโลก

ข้อมูลจาก Ourworldindata เช้านี้ ชี้ให้เห็นว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ทั่วโลกมีจำนวนการติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ โอเชียเนีย และยุโรป

ในเอเชีย ที่น่าจับตาดูอย่างใกล้ชิดคือ จีน ซึ่งมีการระบาดขยายตัวอย่างรวดเร็วจนจำนวนติดเชื้อรายวันนั้นทำลายสถิติเท่าที่เคยมีการระบาดมาในรอบสามปี ล่าสุดติดไปกว่า 35,000 คน ที่น่าสนใจคือรายงานจากข่าวที่ระบุว่าส่วนใหญ่ราว 90% ที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลการการวิจัยทางคลินิกของประเทศต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าสายพันธุ์ที่แพร่ในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่ทำให้เกิดอาการป่วย โดยมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการน้อย 

ดังนั้นจึงน่าสนใจว่าการระบาดในจีนนั้นเกิดจากสายพันธุ์ใดและมีความแตกต่างจากประเทศอื่นทั่วโลกหรือไม่ หรือการตรวจพบว่าติดเชื้อจำนวนมากนั้นเกิดจากกระบวนการตรวจหาแบบ mass screening ทำให้พบติดเชื้อในระยะแรกก่อนที่จะเกิดอาการป่วย

หากจำแนกการระบาดทั่วโลกตามระดับรายได้ของประเทศ จะพบว่า การระบาดที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้นั้นตกอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง และรายได้ปานกลางระดับสูง (ซึ่งไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้) ซึ่งคงพออธิบายได้โดยอ้อมว่าการระบาดที่มากขึ้นย่อมสัมพันธ์กับกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นมากในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิต บริการต่างๆ รวมถึงการท่องเที่ยวด้วย

...อัพเดต Long COVID เรื่องปัญหาการนอนหลับ

Moura AEF และคณะ จากประเทศบราซิล ตีพิมพ์ผลการวิจัยติดตามประเมินกลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และประสบปัญหา Long COVID จำนวน 189 คน

สาระสำคัญที่พบคือ ปัญหาด้านการนอนหลับนั้นพบบ่อยราวหนึ่งในสี่ (25.3%)

โดยส่วนใหญ่จะเกิดอาการนอนไม่หลับ (22.2%) และมีส่วนน้อยที่ประสบปัญหานอนมากกว่าปกติ (3.1%)

ทั้งนี้ผู้ป่วย Long COVID ในการวิจัยนี้ กว่าครึ่งหนึ่งก็มีปัญหาด้านความคิดความจำด้วย (53.4%)

...ผลการศึกษานี้ก็สอดคล้องกับสิ่งที่เราพบในปัจจุบัน ที่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาทั้งเรื่องนอนไม่หลับ รวมถึงปัญหาด้านความคิดความจำ ซึ่งกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการเรียนได้

ภาวะ Long COVID นั้นเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และไม่ว่าจะติดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการมาก

ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก เพศหญิงเสี่ยงกว่าเพศชาย ติดเชื้อแล้วป่วยรุนแรงเสี่ยงกว่าอาการน้อยหรือไม่มีอาการอาการผิดปกติเกิดได้ทุกระบบในร่างกาย และส่งผลให้เกิดปัญหา รวมถึงโรคเรื้อรังตามมาในระยะยาวได้

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำย่อมเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกัน Long COVID

ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรง ตาย และ Long COVID ได้

ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่แออัดระบายอากาศไม่ดี

เหนืออื่นใด การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างตะลอนนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

 

 

 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส