ระวัง “โรคติดพนัน”! กรมสุขภาพจิต เป็นห่วงคนไทยช่วงฟุตบอลโลก

27 พ.ย. 65

กรมสุขภาพจิต ห่วงสถานการณ์ช่วง "ฟุตบอลโลก 2022" เกิด “โรคติดพนัน” แนะหลักคิดดูแลตนเอง เตือนอย่าเผลอใจหลงไหล

วันที่ 27 พ.ย. 65 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันช่องทางการพนันมีหลากหลายรูปแบบ สามารถเข้าถึงแหล่งพนันได้ง่ายดาย ทั้งในรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์ในทุกช่วงอายุ ไม่เว้นแม้ในกลุ่มเด็ก และเยาวชน ส่วนใหญ่เล่นการพนันมักมีสภาพแวดล้อมที่ทำให้สุ่มเสี่ยง เช่น มีโต๊ะสนุกเกอร์อยู่ใกล้บ้าน เล่นบอล ฯลฯ ยิ่งปัจจุบันเข้าสู่โลกดิจิทัล รูปแบบการพนันออนไลน์ยิ่งเข้ามาปะทะตัวเด็กและเยาวชนได้ง่าย โดยเฉพาะเกมพนันที่ตอบสนองพฤติกรรมของวัยรุ่น คือ รู้ผลเร็ว เล่นได้ทุกที่ทุกเวลา

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้สามารถสังเกตพฤติกรรมโรคติดพนันได้จากอาการ 3 ข้อ ได้แก่ 1.เมื่อพยายามหยุดหรือลดการเล่นพนัน จะกระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย ทำไม่สำเร็จ ครุ่นคิดถึงแต่การพนันอย่างมาก 2.หลังจากเสียเงินพนัน จะกลับไปเล่นเพื่อเอาเงินคืน โกหกเรื่องการใช้เงิน เสี่ยงต่อการหาเงินอย่างผิด กฎหมาย และ 3.เพิ่มปริมาณเงินพนันมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้คงความรู้สึกตื่นเต้นเท่าเดิม หากพบว่าบุคคลในครอบครัวหรือตนเองมีพฤติกรรม 1 ใน 3 ข้อที่กล่าวมา แสดงว่าเสี่ยงต่อการติดพนัน

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่อยากเลิกเล่นพนันให้สำเร็จด้วยตนเอง ขอให้ยึดหลักแนวคิด 3 ข้อ ดังนี้1.สร้างแรงจูงใจในการเลิกเล่น 2.สำรวจวิเคราะห์สาเหตุตัวกระตุ้นภายในหรือความความคิด อารมณ์ ที่ทำให้เล่นพนัน แล้ววางแผนจัดการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะกลับไปเล่นพนัน เช่น ไม่เปิดดู ไม่คุยกับกลุ่มที่เล่นพนัน ควรกำหนดวันเลิกเล่น 3.หาทางเลือกกิจกรรมอื่นๆที่ ดีกว่าไปทำ

ด้านแพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล ผู้อำนวยการสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต กล่าวว่า การพนันถูกออกแบบมาให้คนติดง่าย เมื่อเราตกไปในวังวนนี้ บางคนก็ไม่สามารถออกมาจากการเสพติดนี้ได้ ทั้งนี้ผู้อยากเลิกพนัน สามารถรักษาให้หายได้ หากไม่รักษาเพื่อปรับพฤติกรรมที่เหมาะสม จะทำให้เกิดปัญหาชีวิตตามมา เช่น ปล้นชิงทรัพย์ ล่อลวงเงิน ขายบริการทางเพศ ค้ายาเสพติด มีโอกาสติดเหล้า เกิดภาวะซึมเศร้า และพยายามฆ่าตัวตาย เป็นต้น กรมสุขภาพจิต จึงขอเน้นย้ำว่า ครอบครัวควรสังเกตอาการสัญญาณเตือน และให้คำแนะนำปรึกษา เพื่อให้โอกาสผู้ที่มีปัญหาติด พนันมีกำลังใจเกิดแรงจูงใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ทั้งนี้ยังสามารถรับบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ให้คำปรึกษาฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส