เตือนประชาชนจะเข้าถ้ำหรือโพรงต้นไม้ที่มีค้างคาว ต้องระวังป่วยจากเชื้อรา

7 ต.ค. 65

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนจะเข้าถ้ำ หรือโพรงต้นไม้ที่มีค้างคาวต้องสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันการป่วยจากเชื้อรา (ฮีสโตพลาสโมสิส)

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนจะเข้าถ้ำหรือโพรงต้นไม้ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราเข้าปอดทำให้เกิดโรค "โรคฮีสโตพลาสโมสิส" หลังจากมีรายงานข่าวคณะเดินทางศึกษาธรรมชาติ เดินเข้าไปในโพรงต้นไม้ใหญ่ในป่า เพื่อชมค้างคาวในเวลาเพียง 2.15 นาที และหลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์ 7 ใน 10 คน มีอาการไอ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เอกซเรย์ปอดพบมีจุดขนาดแตกต่างกันกระจายทั่วปอด

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคฮีสโตพลาสโมสิส สามารถพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยพบรายงานประปราย โรคนี้เกิดจากเชื้อราฮีสโตพลาสมา แคปซูลลาตุม (Histoplasma capsulatum) ซึ่งมีอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น ในดินอยู่แล้ว แต่ปริมาณเชื้อจะมีมากในมูลของค้างคาว เมื่อคนเข้าไปในช่วงกลางวัน ค้างคาวกำลังนอนพัก การส่งเสียงดัง ทำให้ค้างคาวตกใจ ส่งเสียงร้อง เครียด ถ่ายมูล ฉี่ ทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในมูลฟุ้งกระจายในโพรงต้นไม้ คนจะติดโรคโดยการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราเข้าไป ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-17 วัน แสดงอาการได้หลายรูปแบบ อาจพบอาการปอดอักเสบ มีไข้ ไอ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำหนักลด ในรายที่อาการรุนแรง อาจมีอาการไอเป็นเลือด เอกซเรย์จะเห็นมีฝ้าที่ปอด แต่คนส่วนใหญ่ที่รับเชื้อมักไม่แสดงอาการป่วยเนื่องจากภูมิคุ้มกันสามารถต่อสู้กับเชื้อได้ ในคนที่ภูมิคุ้มกันปกติหรือรับเชื้อเข้าไปในปริมาณเล็กน้อยสามารถหายเองได้ใน 1 เดือน

“โดยทั่วไปเชื้อนี้เป็นเชื้อฉวยโอกาสทำให้เกิดอาการในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นประจำ แต่ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีอาการรุนแรง เช่น ติดเชื้อที่ปอดเรื้อรัง และเชื้ออาจแพร่กระจายไปยังระบบประสาทส่วนกลางก่อให้เกิดอาการทางระบบประสาท และเสียชีวิตได้ โรคนี้รักษาได้โดยใช้ยาฆ่าเชื้อราร่วมกับการรักษาตามอาการ ซึ่งอาจต้องรับประทานยานาน 3 เดือน ถึง 1 ปีขึ้นกับอาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค การติดต่อจากคนสู่คนหรือจากสัตว์สู่คนเป็นไปได้ยาก” นายแพทย์ธเรศ กล่าว

นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไม่มีวัคซีนหรือตัวยาที่จะป้องกันโรคนี้โดยตรง วิธีป้องกันตนเองที่มีประสิทธิภาพ คือ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการเข้าถ้ำที่มีค้างคาว ในสิ่งแวดล้อมที่อับชื้นมีมูลนกหรือมูลสัตว์ โพรงต้นไม้ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่เหล่านี้ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หลังจากนั้นต้องล้างมือให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้า และหากมีอาการป่วยภายหลังไปท่องเที่ยวในสถานที่ที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์พาหะ หรือการทำความสะอาดเล้า/กรง/คอกสัตว์ รวมถึงการพรวนดิน และจัดเก็บบ้านเก่า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส