สธ. พบผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" 2 ราย ที่ภูเก็ต เป็นรายที่ 9 และ 10 ของไทย

1 ต.ค. 65

กรมควบคุมโรค เผย ตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง รายที่ 9 เป็นหญิงไทย และรายที่ 10 เป็นชาวเยอรมนี อยู่ในจังหวัดภูเก็ต

วันที่ 30 กันยายน 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  ได้รับรายงานจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรจำนวน 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยัน รายที่ 9 และรายที่ 10 ในจังหวัดภูเก็ต ประวัติพบว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน

ผู้ป่วยยืนยันรายที่ 9 เป็นเพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 37 ปี อาชีพ พนักงานบริการ เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 มีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตัว วันที่ 17 กันยายน 2565 ผู้ป่วยซื้อยารับประทานเอง ต่อมา เริ่มมีผื่นที่บริเวณก้น มีผื่นตุ่มหลายประเภท ทั้งตุ่มน้ำใส ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง ทั่วร่างกาย ไม่คัน แต่เจ็บบริเวณที่เป็นตุ่ม จนถึง 25 กันยายน 2565 ขณะที่มีอาการป่วยในวันที่ 17 กันยายนให้ประวัติว่าได้สัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวเยอรมัน อายุ 54 ปี ซึ่งต่อมาเริ่มมีอาการผื่นและตุ่มหนองที่บริเวณหน้าอก ในวันที่ 27 กันยายน

สำหรับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 9 ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ตและแพทย์ซักประวัติผู้ป่วยได้ข้อมูลว่าไม่ได้สัมผัสผู้ป่วยที่มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง และไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ ในช่วง 21 วัน ก่อนป่วย แต่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดชาวต่างชาติ แพทย์วินิจฉัยว่าสงสัยเป็นโรคฝีดาษวานร ส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อ วันที่ 26 กันยายน 2565 ผลตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox virus กรมควบคุมโรคส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนโรคจากกองระบาดวิทยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลในพื้นที่ดำเนินการสอบสวนโรคตั้งแต่วันที่ 27 – 30 กันยายน 2565 ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จนพบชาวเยอรมนี เป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 10 จากผลการตรวจ PCR ข้อมูลการสอบสวนพบว่าติดเชื้อผ่านการสัมผัสใกล้ชิด

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ย. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยัน จำนวน 67,556 ราย เสียชีวิต 27 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังอยู่ในแถบทวีปยุโรป ส่วนสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 65) พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 10 ราย

ขอแนะนำประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่ไม่รู้จัก หรือผู้ที่มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกาย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้อื่น ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารปรุงสุกสะอาดและไม่สัมผัสสัตว์ป่วย  

“ทั้งนี้ การเฝ้าระวังผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร ในประเทศไทยยังคงดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อเนื่องทั้งในสถานพยาบาล คลินิกนิรนาม คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนังและโรงพยาบาล ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ รวมทั้งการเฝ้าระวังเชิงรุกในสถานที่เสี่ยง เพื่อค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม และเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการเพื่อให้การตรวจวินิจฉัยทำได้รวดเร็วขึ้น และโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนมีศักยภาพในการรักษาโรคนี้ได้ ทั้งนี้หากท่านใดเคยมีกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีอาการป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร เช่น มีผื่น ตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ดตามลำตัว ร่วมกับ มีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อและวินิจฉัยโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายแพทย์โอภาส กล่าว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส