กยศ.เปิด 20 มหา’ลัยชำระหนี้ดี พร้อมเผยลูกหนี้ชะลอจ่ายเหตุรอ พ.ร.บ.ใหม่

23 ก.ย. 65

กยศ.เปิดรายชื่อ 20 มหา’ลัยชำระหนี้ดีเด่น พร้อมเผยลูกหนี้เริ่มชะลอจ่ายหนี้เหตุรอ พ.ร.บ.สุดซอย ย้ำหากปรับเป็นปลอดดอกเบี้ยรัฐต้องประคองกองทุน

 

วันที่ 23 ก.ย. นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของผู้กู้ยืมในการจ่ายเงินคืนกยศ. เนื่องจากผู้กู้ยืมกำลังรอความชัดเจน พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในสมาชิกวุฒิสภา ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ว่าจะมีการลดเบี้ยปรับและลดดอกเบี้ยกู้ยืมหรือไม่

โดยปัจจุบันการจ่ายหนี้กยศ. รับชำระหนี้ 2 ทาง คือ 1.การหักจากบัญชีลูกจ้าง ซึ่งเป็นการร่วมมือกับสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ในส่วนนี้ยอดไม่ลดลง และ2.การจ่ายหนี้ด้วยตัวเอง มีอัตราชำระลดลง จากเดิมมีการชำระหนี้วันละ 50 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลือเพียงวันละ 10 ล้านบาทเท่านั้น

 

ตามกฎหมายให้กยศ.เก็บเบี้ยปรับได้ไม่เกิน 1% และดอกเบี้ยไม่เกิน 2% แต่ปัจจุบันกยศ.เก็บทั้งดอกเบี้ยและเบี้ยปรับต่ำกว่ากฎหมายที่กำหนดไว้ จึงมองว่าดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่จัดเก็บในปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว ส่วนลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเนื่องจากผิดชำระหนี้ ปัจจุบันกยศ.ชะลอการฟ้องอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้เข้ามาทำการไกล่เกลี่ยแล้วจำนวน 1.4 แสนคน ดังนั้นจึงจะเปิดไกล่เกลี่ยหนี้ที่กยศ.ทุกแห่งเพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้ามาไกล่เกลี่ยหนี้ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันกลุ่มที่ผิดนัดชำระหนี้มีอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มยากจน 2.กลุ่มที่ขาดวินัยทางการเงิน และ3.กลุ่มที่ไม่มีจิตสำนึก เช่น มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารแต่ไม่ยอมจ่าย เป็นต้น

ส่วนปัจจุบันกยศ.มีทรัพย์สิน 3.7 แสนล้านบาท รับชำระหนี้อยู่ปีละ 3 หมื่นล้านบาท และปล่อยกู้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีรายได้จากเบี้ยปรับและดอกเบี้ยปีละ 3,000 ล้านบาท รวมเป็น 6,000 ล้านบาท สำหรับผลการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียน นักศึกษาได้รับอนุมัติให้กู้ยืมจำนวน 638,132 ราย รวมเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 38,879 ล้านบาท

 

ดังนั้นในอนาคตอีก 5 ปี ข้างหน้า(2566-2570) กยศ.มีรายจ่ายแน่นอนประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่รายรับนั้นได้ปีละ 3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่ง 5 ปี ก็จะมีรายรับอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท ส่วนกรณีที่ไม่มีดอกเบี้ยและถูกลดเบี้ยปรับนั้นจะทำให้กยศ.เสียรายได้ปีละ 6,000 ล้านบาท ดังนั้นหลังจากนี้จะต้องขอความร่วมมือให้ลูกหนี้มีวินัยในการจ่ายหนี้ หรืออาจขอใช้งบประมาณจากภาครัฐ เพื่ประคับประคองกองทุนต่อไป

 

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยว่า กองทุนได้จัดอันดับข้อมูลการชำระหนี้ของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน จำนวน 313 แห่ง พบว่ามีอัตราเงินต้นค้างชำระเฉลี่ย 61% และเมื่อพิจารณาจากสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีจำนวนผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้มากกว่า 2,000 ราย พบว่าสถานศึกษาที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด 25 อันดับแรกส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุดเป็นอันดับแรก ได้แก่ มหาวิทยาลัยพะเยา และมีมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับคือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

 

โดยเรียงตามลำดับมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด ดังนี้

  1. มหาวิทยาลัยพะเยา
  2. มหาวิทยาลัยศิลปากร
  3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  4. มหาวิทยาลัยนเรศวร
  5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  6. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  7. มหาวิทยาลัยมหิดล
  8. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  9. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  10. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  11. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  12. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
  13. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  14. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  15. มหาวิทยาลัยบูรพา
  16. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
  17. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  18. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  19. มหาวิทยาลัยแม่โจ้
  20. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  21. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
  22. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  23. สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
  24. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  25. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ทั้งนี้ สถานศึกษามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างวินัยและปลูกฝังความรับผิดชอบให้กับนักเรียน นักศึกษาที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพ โดยกองทุนขอชื่นชมสถานศึกษาทุกแห่งที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานกองทุนและมีส่วนในการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบให้แก่ผู้กู้ยืม จนทำให้กองทุนได้รับชำระเงินคืนกลับมาหมุนเวียนเพียงพอในการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง

advertisement

ข่าวยอดนิยม