"ตะลิงปลิง" ผลไม้สุดเปรี้ยวมากประโยชน์ กินมากไปเสี่ยงไตวาย

7 ก.ย. 65

"ตะลิงปลิง" ผลไม้รสเปรี้ยวมากประโยชน์ นิยมนำมาใช้ปรุงรสอาหารแทน แฝงด้วยสรรพคุณทางยา แต่ถ้ากินมากไปอาจทำให้เสี่ยงภาวะไตวาย

เมื่อนึกถึงผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวถึงใจแล้วล่ะก็ "ตะลิงปลิง" อาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ขาดไม่ได้เพราะสามารถพบเจอได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย แถมยังเป็นผลไม้ที่ถูกนำมาปรุงในอาหารหลากหลายเมนูตั้งแต่สมัยโบราณ 

ตะลิงปลิง

ตะลิงปลิง 

ตะลิงปลิง เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 5-10 เมตร อยู่ร่วมวงศ์เดียวกับมะเฟือง สามารถปลูกได้ทั่วไปในประเทศไทยบางพื้นที่จะใช้ปรุงอาหารแทนมะนาว หรือ รับประทานสดๆจิ้มกับพริกเกลือ ตะลิงปลิงมีชื่อเรียกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น มูงมัง (เกาะสมุย), กะลิงปริง ลิงปลิง ลิงปลิง ปลีมิง (ระนอง) , บลีมิง (นราธิวาส) และ มะเฟืองตรน, หลิงปลิง (ภาคใต้)

ลักษณะของต้นตะลิงปลิง 

"ตะลิงปลิง" เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งก้านเปราะหักง่าย มีขนนุ่มตามกิ่ง

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกมีใบย่อยเรียงตัวกันเป็นคู่ ใบย่อยรูปหอก ปลายใบแหลม โคนมน จะเรียงจากขนาดเล็กไปหาขนาดใหญ่ ที่โคนจะมีขนาดเล็ก ใบกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร มีสีเขียวอ่อนมีขนนุ่มๆ ปกคลุมอยู่

ดอก ออกเป็นช่อตามลำต้นและกิ่ง (ดอกขนาดเล็กหลายช่อ) แต่ละช่อยาวราว 6 นิ้ว ดอกมี 5 กลีบ มีสีแดงเข้ม มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบสีเขียวอมชมพู เกสรกลางดอกมีสีเขียวแดง ดอกมีกลิ่นหอม ผลกลมยาวเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร

ผลสีเขียว เป็นพูตามความยาวผล 5 ร่อง ออกเป็นช่อห้อย เมื่อสุกมีสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เมล็ดแบน ผลมีรสเปรี้ยวจัดเพราะมีกรดออกซาลิกอยู่สูง ให้ผลในฤดูหนาว

ตะลิงปลิง

ประโยชน์ของตะลิงปลิง 

ตะลิงปลิง เป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยา ซึ่งในตำหรับยาไทยมักนิยมนำส่วนต่างๆ ของผลไม้ชนิดนี้มาใช้ดังนี้ 

ราก : สรรพคุณแก้พิษร้อนใน กระหายน้ำ ฝาดสมาน บำรุงกระเพาะอาหาร แก้เลือดออกตามกระเพาะอาหาร ลำไส้ ดับพิษร้อนของไข้ แก้ริดสีดวงทวาร แก้คัน แก้คางทูม แก้ไขข้ออักเสบ รักษาสิว รักษาซิฟิลิส บรรเทาโรคเกาต์ บรรเทาการอักเสบของลำไส้ใหญ่

ใบ : สรรพคุณใช้พอกแก้คัน ที่ประเทศฟิลิปปินส์ใช้พอกรักษาคางทูม โรคข้อรูมาตอยด์ และรักษาสิว ใช้ภายในโดยนำมาต้มดื่มรักษาอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ รักษาซิฟิลิส แก้ไขข้ออักเสบ น้ำต้มใบใช้อาบให้กับผู้ป่วยที่มีไข้

ดอก : นำมาชงเป็นชา สรรพคุณแก้ไอ

ผล : สรรพคุณเจริญอาหาร บำรุงกระเพาะอาหาร ฝาดสมานและลดไข้ แก้เสมหะเหนียว ฟอกโลหิต ยาบำรุงแก้ปวดมดลูก แก้ไอ บรรเทาโรคริดสีดวงทวาร แก้ลักปิดลักเปิด ชาวเกาะชวากินผลร่วมกับพริกไทยเพื่อขับเหงื่อในผู้มีอาการซึมเศร้า

นอกจากนี้ ผลของ ตะลิงปลิง ยังช่วยให้การเจริญอาหารมากขึ้น, บำรุงและบรรเทาอาการปวดมดลูก, บรรเทาอาการอักเสบของลำไส้ โรคริดสีดวงทวาร โรคเกาต์ โรครูมาตอยด์ และไขข้ออักเสบ, แก้ร้อนใน, ละลายเสมหะ, บรรเทาอาการไอและอาการเจ็บคอ, ช่วยลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด, มีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด

ตะลิงปลิง

ใช้ตะลิงปลิงปรุงอาหาร 

ยอดอ่อนและก้านดอกใช้ต้มจิ้มน้ำพริก ในประเทศไทยส่วนที่นิยมใช้กินคือผลอ่อน ผลตะลิงปลิงมีรสเปรี้ยวจัด นิยมใช้แกงส้ม แกงคั่ว ทำน้ำพริก ต้มหมู ต้มเนื้อ ยำต่างๆ นำมาดอง หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ กินกับขนมจีน ใส่ในน้ำบูดู หรือใช้แทนมะนาวในเมี่ยงคำ (ภูเก็ต)

กิน "ตะลิงปลิง" เสี่ยงไตวาย?

ถึงแม้ว่า "ตะลิงปลิง" จะเป็นผลไม้ที่สามารถนำมารับประทาน ปรุงอาหาร หรือแม้กระทั่งใช้ประโยชน์ของสรรพคุณทางยาได้ แต่ "ตะลิงปลิง" ก็มีโทษได้เช่นกันหากรับประทานไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้เกิด "ภาวะไตวายได้" 

เนื่องจาก ผลของตะลิงปลิง มีกรดอ๊อกซาลิค(oxalic acid) ในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อไต เกิดภาวะไตวายเกิดขึ้น เป็นอันตรายได้ดังนั้นคำแนะนำในการบริโภคตะลิงปลิงคือ

  • ไม่ควรรับประทานตะลิงปลิงปริมาณมาก
  • ไม่ควรนำผลตะลิงปลิงมาคั้นทำเป็นน้ำผลไม้ดื่ม
  • ไม่ควรรับประทานตะลิงปลิงตอนท้องว่าง
  • ไม่ควรรับประทานตะลิงปลิงในภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ
  • ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติไม่ควรรับประทานตะลิงปลิง หรือ มะเฟือง เพราะเป็นพืชที่มีกรดอ๊อกซาลิคสูงทั้งคู่ ซึ่งจะทำให้เกิดการทำงานของไตที่ผิดปกติมากขึ้น จนนำไปสู่ภาวะไตวายไตล้มเหลวในที่สุด

โดย มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้ข้อมูลว่า พบผู้ป่วยที่ทานตะลิงปลิงเชื่อม 3-4 ลูก และน้ำเชื่อมจากตะลิงปลิง 1 แก้ว แล้วไตวาย มีอาการแสดง คือ 10 นาทีหลังทาน คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ 5-6 ครั้ง โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้ทานยาหยุดถ่าย ไม่ได้ทาน ORS น้ำสะอาดดื่มตามปกติ ตั้งไว้ 1 แก้ว ก็ดื่มหมดในวันนั้น (ถือว่าดื่มน้ำน้อย) หลังถ่ายเหลว มีอาการปวดหลังมาก ปวดเอว ปวดเมื่อยทั้งตัวมาก ปัสสาวะปกติ ผู้ป่วยแจ้งว่าเพื่อนบ้านก็ทาน แต่ไม่เป็นไร

ข้อแนะนำในการรับประทาน "ตะลิงปลิง"

ไม่ควรทานตอนท้องว่าง ไม่ควรทานปริมาณมาก และไม่ควรทานต่อเนื่อง เพราะกรดออกซาลิกสามารถสะสมในร่างกายได้ ยังไม่มีขนาดการทานที่ปลอดภัยแนะนำชัดเจน เนื่องจากขึ้นอยู่กับสภาวะของแต่ละคน แต่ภาวะที่ขาดน้ำ (ผู้ป่วยรายนี้ทานแล้วท้องเสีย) หรืออดอาหารสามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดไตวายได้ ควรหลีกเลี่ยงการทานในผู้ป่วยโรคไต รวมถึงผู้ที่ฟอกไตแล้ว เพราะมีรายงานการเกิดพิษต่อระบบประสาทในคนไข้ฟอกไต

advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส