ชัชชาติ ประสานมูลนิธิกระจกเงา แก้ปัญหาคนจนเมือง จ้างงานมีศักดิ์ศรี

20 ก.ค. 65

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประสานมูลนิธิกระจกเงา แก้ปัญหาคนจนเมือง เน้นการจ้างงานที่มีศักดิ์ศรีและพึ่งพาตัวเองได้

 

วันที่ 20 ก.ค.65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา ว่า วันนี้ได้หารือกับมูลนิธิกระจกเงาหลายเรื่อง อาทิ ปัญหาคนไร้บ้าน คนจนเมือง การจัดการขยะ การจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งการจ้างงานถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เฉพาะเรื่องเงิน แต่เป็นการสร้างความภูมิใจในการใช้ชีวิต รวมทั้งการมีสังคมร่วมกับผู้อื่น ในวันนี้ก็มีอาสาสมัครคนรุ่นใหม่มาทำงานร่วมกับผู้สูงอายุซึ่งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน มูลนิธิมีการบริหารจัดการหลายๆ อย่างที่ดีมาก เข่น การแยกขยะ การนำขยะไปขาย สำหรับ กทม. ขยะคือรายจ่าย แต่สำหรับมูลนิธิฯ ขยะคือรายได้ กทม. อาจต้องเรียนรู้จากมูลนิธิฯ

 

ซึ่งในเมืองใหญ่หลายแห่งในโลกจะมีมูลนิธิแบบนี้ที่ช่วยบริหารจัดการ เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่เสริมการสร้างงานและจัดการขยะให้กับเมือง



ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สิ่งที่กทม. จะดำเนินการต่อคือการเรียนรู้โมเดลที่จะทำร่วมกันกับมูลนิธิฯ รวมทั้งมีโครงการที่จะเปิดบ้านอิ่มใจอีกครั้งเพื่อดูแลคนไร้บ้าน โดยจะปรับการให้บริการเป็นรูปแบบ “พื้นที่สวัสดิการ” จากเดิมการใช้บริการบ้านอิ่มใจ ต้องลงทะเบียนเข้าพักค้างก่อนจึงจะได้รับสวัสดิการ อาทิ อาบน้ำ ซักผ้า แต่รูปแบบใหม่จะให้บริการด้านสวัสดิการก่อน ไม่ต้องลงทะเบียนพักค้าง สามารถอาบน้ำ ซักผ้าได้ ซึ่งหากต้องการพักค้างก็สามารถทำได้ รวมถึงการเพิ่มจุดรวมการหางานและการเข้าสังคม

 

นอกจากนี้ กทม. มีอัตราการจ้างงานหลายภาคส่วน อาจจะพิจารณาจ้างคนไร้บ้านเข้ามาเสริมในเรื่องการแยกขยะ เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนไร้บ้านทั้งในเรื่องที่พักและการจ้างงานด้วย ซึ่งจากการดำเนินการของมูลนิธิฯ พบว่า หากคนไร้บ้านทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ จะมีรายได้สามารถเช่าที่พักได้ มีงานทำอย่างต่อเนื่อง และมีสวัสดิการจะทำให้คนไร้บ้านสามารถกลับสู่ภาวะสังคมปกติได้

 


ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกปัญหาที่มองเห็นคือเรื่องการบริโภคของเมือง เรามีการบริโภคเยอะ เรามีการจับจ่ายซื้อของ ซื้อเสื้อผ้าเยอะ แต่ไม่มีที่ทิ้งซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นแหล่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนอื่นได้ โดยการหมุนเวียนหรือการบริจาค นอกจากนี้ได้เห็นถึงพลังของผู้บริจาคที่มีน้ำใจ นี่คือความสำคัญของคำว่า “เมืองแบ่งปัน” ซึ่งการมาเยี่ยมมูลนิธิฯ วันนี้ทำให้เห็นการทำงานในหลายมิติ การทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาคมและภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญ จะทำให้เกิดพลังบวกเป็นทวีคูณ แต่ถ้าต่างคนต่างทำ ไม่ได้เป็นพลังบวก รัฐเองก็ไม่ง่ายที่จะสร้างงานเพราะว่าไม่เข้าใจหน้างาน ไม่มีความลึกในพื้นที่ ส่วนภาคเอกชนมีพลัง แต่ก็ติดเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งหากทั้งสองภาคส่วนรวมกันได้ ก็จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่

 


ด้านนายสมบัติ กล่าวว่า มูลนิธิกระจกเงาเป็นภาคประชาสังคมถือว่าเป็นองค์กรที่อยู่ส่วนหน้าของปัญหา และประชาชนส่วนมากติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือ ปัญหาหลักๆ ที่พบคือปัญหาคนไร้บ้านและปัญหาคนจนเมือง และกรุงเทพฯ กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นจะต้องกันงานบางส่วนและออกแบบงานบางประเภทให้กับผู้สูงอายุที่เป็นคนจนและต้องการที่จะทำงาน เพื่อป้องกันผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถด้านการพึ่งพาตนเอง และจากออกมานอกบ้านกลายเป็นคนไร้บ้านซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไป โดยหากเอางานมาแก้ปัญหาโดยนำผู้สูงอายุหรือคนไร้บ้านมาช่วยในการจัดการแยกขยะ โดยการจัดการพลาสติก การจัดการสิ่งของ การจัดการกระดาษ จะทำให้เกิดการสร้างงานอย่างมหาศาลทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนภาระเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคม

 


“การแก้ปัญหาคนจนเมือง คนไร้บ้าน ไม่ใช่แค่เอาเงินไปให้ เนื่องจากไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะถมเท่าไรก็ไม่เต็ม สิ่งที่ดีคือการจ้างงานที่มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่งานที่มาจากความสงสาร งานที่มีความต้องการของตลาด มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนทำ ซึ่งบางส่วนอาจจะต้องมีการอบรมสอนงาน กทม. เองต้องดูเรื่องการฝึกสอนเพิ่มเติม เช่น นวดแผนโบราณ นวดแผนไทยให้สอดคล้องตามความต้องการของผู้สูงอายุและความต้องการของตลาดด้วย” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส