หาร 500 ชนะ! สภาหนุนสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ สกัดเพื่อไทยแลนด์สไลด์

7 ก.ค. 65

สมาชิกรัฐสภาออกเสียงส่วนใหญ่ 354 คะแนนต่อ 162 คะแนน เห็นชอบวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ด้วยการนำ 500 มาหาร

 

เมื่อคืนที่ผ่านมา การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประเด็นสูตรการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบหาร 100 และ 500 ในมาตรา 23

 

ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติโหวต เห็นด้วยให้คงร่างเดิม กมธ.ที่ใช้สูตรหาร 100 ด้วยคะแนน 160 เสียง ไม่เห็นด้วย 392 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 577 คน ซึ่งจำนวนเสียงไม่เห็นด้วยนั้นได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาที่มีสมาชิกทั้งหมด 726 เสียง (แบ่งเป็น ส.ส. 477 เสียง และ ส.ว. 249 เสียง) หรือ 363 เสียงขึ้นไป

 

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติร่างที่มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติซึ่งผลปรากฎว่า ที่ประชุมเห็นด้วยกับสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 ด้วยคะแนน 354 ต่อ 162 งดออกเสียง 37 ไม่ลงคะแนน 4 ท่ามกลางเสียงท้วงติงว่าจะทำให้หาร ส.ส. ไม่ลงตัว และอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ

 

1657155367218

 

สำหรับข้อเสนอหาร 500 เกิดจากนายระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ เสนอให้ใช้สูตรนี้โดยอ้างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าทุกเสียงต้องมีความหมาย การใช้ 500 มาหารแปลว่าตัวหารเยอะ เท่ากับว่า ส.ส. 1 คนใช้เสียงของประชาชนได้น้อยลง ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กมีโอกาสเข้าสู่สภาฯ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งข้อเสนอนี้เกิดขึ้นหลังจากกระแสความนิยมของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กำลังมาแรงตามโพลและกระแสบนโลกโซเชียล ส่วนพรรครัฐบาลอย่าง พรรคพลังประชารัฐ ได้รับความนิยมน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดจากการเลือกตั้งสภากรุงเทพมหานคร ที่ได้ไปเพียง 2 จาก 50 ที่นั่งเท่านั้น

 

วิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ตามสูตร 500 มีวิธีการคำนวณแบบง่ายๆ ดังนี้

 

1.นำคะแนนเสียงของทุกพรรคการเมืองมาหารจำนวน ส.ส.ทั้งหมด (500 คน) เพื่อหา คะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.หนึ่งคน

 

2.นำคะแนนเสียงของแต่ละพรรคการเมือง มาหารด้วยคะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.หนึ่งคน เพื่อหา "ส.ส.พึงมี" ของแต่ละพรรค

 

3. นำจำนวน ส.ส.พึงมี ของแต่ละพรรค มาลบด้วยจำนวน ส.ส.เขต ที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ เพื่อหา "ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ"

 

ตัวอย่างเช่น

 

คะแนนเสียงของทุกพรรครวมทั้งสิ้น 50,000,000 เสียง คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคน เท่ากับ 50,000,000/500 = 100,000

 

• ถ้าพรรคการเมือง A ได้คะแนนเสียงจำนวน 10,000,000 เสียง พรรค A จะมี ส.ส.พึงมี เท่ากับ 10,000,000/100,000 = 100 คน

 

• ถ้าพรรคการเมือง A ได้จำนวน ส.ส.เขต จำนวน 80 คน เท่ากับว่า พรรค A จะได้รับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100-80 = 20 คน

 

• แต่ถ้าพรรคการเมือง A ได้จำนวน ส.ส.เขต จำนวน 150 คน เท่ากับว่า พรรค A จะได้รับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100-150 = -50 คน เท่ากับว่า จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย เหมือนในปี 2562 ที่พรรคเพื่อไทยเคยเจอสถานการณ์นี้มาแล้ว

 

หากพรรคการเมืองได้ ส.ส.เขต จำนวนมาก ก็มีโอกาสที่ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็น้อยลง พรรคขนาดใหญ่จึงได้รับผลกระทบจากระบบเลือกตั้งแบบนี้ และมีโอกาสน้อยลงที่จะครองเสียงข้างมากแบบเด็ดขาดในสภา เว้นแต่ได้รับเสียงจากประชาชนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

 

นอกจากนี้ การจัดสรรที่นั่งให้กับพรรคการเมืองตามเศษทศนิยม โดยไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำ ซึ่งจะทำให้เกิดกลุ่ม ส.ส.ปัดเศษ ทำให้สภามีพรรคการเมืองจำนวนมาก ขาดเสถียรภาพและเสียงเด็ดขาดจนส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ และ ส.ว. 250 เสียง ยังคงเป็นส่วนสำคัญในการกุมบังเหียนชี้ทิศทางการเมืองไทยต่อไป

advertisement

ข่าวยอดนิยม