แผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน ชาวบ้านกังวล "สึนามิ" นายกฯ สั่งด่วนเฝ้าระวัง

6 ก.ค. 65

แผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน ประชาชนกังวลเรื่อง "สึนามิ" นายกฯ กำชับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง เตรียมแผนเผชิญเหตุ 24 ชม.

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยต่อกรณีที่มีการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน ซึ่งสร้างความวิตกกังวลแก่พี่น้องประชาชนว่าจะเกิดสินามิในประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรองรับหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน พร้อมเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอมสร้างความตื่นตกใจ



โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชี้แจงว่า กรณีการเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนบริเวณฝั่งอันดามัน และการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน ซึ่งนำมาสู่ความกังวลว่าจะเกิดสินามิในประเทศไทย โดยกรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า ในช่วงวันที่ 4 – 6 กรกฎาคม 2565 ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะอันดามัน ประเทศอินเดีย ศูนย์กลางห่างจาก จ.พังงา ประมาณ 500 กิโลเมตร มีขนาด 4.0-4.9 รวมทั้งหมด 32 ครั้ง ซึ่งเป็นการเกิดแผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรง เป็นเพียงการสั่นระดับปานกลาง ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทย และไม่ทำให้เกิดสึนามิ

 

อย่างไรก็ดี อาจทำให้ประชาชนรู้สึกกังวล เนื่องจากบริเวณ จ. ภูเก็ต พังงา กระบี่ มีภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งชี้แจงได้ว่า ไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหว แต่เป็นเพราะ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้บริเวณฝั่งอันดามันมีกำลังแรง ทำให้เกิดคลื่นสูง 2 - 3 เมตร และภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในจังหวัดฝั่งอันดามัน เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ คาดว่ามีโอกาสเกิดสึนามิค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการเลื่อนตัวในแนวดิ่ง และมีขนาดไม่ใหญ่

 

จึงขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด จากช่องทางของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยทางกรมอุตุนิยมมีการเฝ้าระวังแผ่นดินไหว 24 ชั่วโมง เบื้องต้นหากมีแผ่นดินเกิดขึ้น ทางกรมอุตุนิยมจะมีการแจ้งข้อมูลมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบต่อไป



ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งแนวทางการทำงานว่าหากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รับแจ้งยืนยันว่าเกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 7.8 ขึ้นไป ทางกรมฯ จะมีการแจ้งเตือนไปยังหอเตือนภัยในทะเลอันดามันซึ่งมีทั้งหมด 130 หอ เพื่อแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อสึนามิ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล และภูเก็ต ใน 27 อำเภอ 102 ตำบล 509 หมู่บ้านและชุมชน

 

ทั้งนี้ ทางกรมฯ มีเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวและแนวโน้มการเกิดสึนามิตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทุ่นสึนามิ ซึ่งหากมีการเกิดคลื่นสึนามิในทะเล ทุ่นจะส่งสัญญาณเตือนมาที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และส่งไปยังหน่วยงานระหว่างประเทศ NOOA ของสหรัฐอเมริกา และแจ้งเตือนไปยังพื้นที่เสี่ยงต่อไป ทั้งนี้ หากทุ่นไม่สามารถทำงานได้ ก็ยังมีทุ่นสึนามิของประเทศต่างๆ ที่จะส่งสัญญาณไปยัง NOOA เพื่อประมวลผลได้เช่นกัน และขณะนี้หากกรณีทุ่นของประเทศต่าง ๆ ไม่ส่งสัญญาณ การแจ้งเตือนจะเริ่มจากการแจ้งเตือนแผ่นดินไหวก่อน หากขนาดตั้งแต่ 7.8 ขึ้นไป ทาง NOOA จะส่งข้อมูลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเกิดสึนามิ ดังนั้น ยืนยันว่าประเทศไทยยังได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนการเกิดแผ่นดินไหวและการเกิดสึนามิอย่างต่อเนื่องแน่นอน



นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ยกระดับความพร้อมในการทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยไปยังหอเตือนภัยประเภทสึนามิที่ฝั่งอันดามัน โดยจะมีการทดสอบระบบทุกวัน และมีการสร้างความรับรู้และความเข้าใจของพี่น้องประชาชนถึงระบบการแจ้งเตือนภัยและสึนามิของประเทศไทยว่ายังสามารถทำงานได้ตามปกติ และให้ข้อมูลหลักการปฏิบัติกรณีเกิดภัย การเตรียมความพร้อมในเรื่องสถานที่ ศูนย์พักพิง ศูนย์อพยพชั่วคราว ที่แต่ละพื้นที่มีการเตรียมพร้อมไว้ตามแผนปฏิบัติการของแต่ละจังหวัด นอกจากนี้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากรและอุปกรณ์ในการรับมือกับภัยทุกประเภท โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด ในพื้นที่เสี่ยง 6 จังหวัด และมีการกำหนดฝึกซ้อมรับมือกับสึนามิในระดับจังหวัด อำเภอ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมแล้ว ดังนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจได้ว่า มีการเตรียมพร้อมต่อการปฏิบัติตลอด 24 ชั่วโมง



“นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชน โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติการ เฝ้าระวัง เตรียมความพร้อม อย่างเต็มกำลัง และให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงาน เตรียมการพูดคุยเพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้มีแผนเผชิญเหตุที่ รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และรัดกุมต่อการให้ความช่วยเหลือ บรรเทาผลกระทบต่อประชาชน โดยในช่วงเวลานี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ ประชาสัมพันธ์แนวทางการทำงานเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ คลายกังวล และรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานหลัก”

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส