สธ.ยัน ฝีดาษลิง ระบาดไม่เร็วเมื่อเทียบกับโควิด มีความรุนแรงน้อย และไม่พบผู้เสียชีวิต

7 มิ.ย. 65

สธ.เผยทั่วโลกพบผู้ป่วย “ฝีดาษลิง” 900 กว่ารายใน 43 ประเทศ ยันการระบาดไม่เร็วเมื่อเทียบกับโควิด โรคมีความรุนแรงน้อย และไม่พบผู้เสียชีวิต 

 

วันนี้ (6 มิถุนายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่า สถานการณ์ทั่วโลกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 เจอผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานร 900 กว่าคน ใน 43 ประเทศ หลังมีการรายงานมาเป็นเดือนและมีการกระจายในหลายประเทศแต่ลักษณะการระบาดไม่เร็วเมื่อเทียบโควิด ซึ่งหากเป็นโรคโควิด 19 อาจขึ้นหลัก 10 ล้านคนแล้ว นอกจากนี้ อาการยังไม่รุนแรง และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ซึ่งสายพันธุ์ที่ระบาดในขณะนี้เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกที่มีอัตราการป่วยเสียชีวิต 1% ไม่ใช่สายพันธุ์แอฟริกากลางที่มีความรุนแรงกว่า อัตราป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ 10% ขณะนี้ที่มีรายงานจะเป็นทางยุโรป เช่น สเปน อังกฤษ โปรตุเกส เยอรมนี รวมถึงแคนาดา

 

“องค์การอนามัยโลกประเมินโรคฝีดาษวานรว่าเป็นความเสี่ยงปานกลาง ยังไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน ยังไม่ต้องจำกัดการเดินทาง และไม่ได้ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย เพียงแต่เตือนให้ระมัดระวังและจัดระบบเฝ้าระวังซึ่งประเทศไทยดำเนินการแล้ว มีระบบคัดกรองคนเดินทางจากต่างประเทศ และกำหนดนิยามวินิจฉัยผู้ป่วย เตรียมห้องปฏิบัติการในการวินิจฉัยและสอบสวนควบคุมโรค และเตรียมจัดหาวัคซีนหากจำเป็นต้องใช้ ซึ่งจากการเฝ้าระวัง ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย แต่เคยมีผู้ต้องสงสัย 6 ราย แต่ตรวจแล้วเป็นเชื้อเริมไม่ใช่ฝีดาษวานร ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง” นพ.โอภาสกล่าว

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า ความเสี่ยงที่จะพบผู้ป่วยฝีดาษวานรในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเราเปิดประเทศทำให้มีผู้เดินทางเยอะขึ้น เข้ามาวันละประมาณหลายหมื่นคน แต่เชื่อว่าระบบเฝ้าระวังและความร่วมมือในการคัดกรองจะตรวจจับผู้ป่วยและควบคุมไม่ให้โรคแพร่ระบาดต่อไปได้ จึงไม่ต้องกังวลจนเกินไป สำหรับข้อมูลทางคลินิกของโรคฝีดาษวานร คือ ระยะฟักตัวยาว 5-21 วัน ต่างจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนค่อนข้างสั้น 2-7 วัน อาการสำคัญคือมีไข้ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามตัว เหมือนไข้หวัดทั่วไป แต่ไม่ค่อยมีน้ำมูก หลังเป็นไข้ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้น กระจายที่แขนขา ลำตัว และใบหน้า ลักษณะตุ่มมีหลายแบบตามระยะ ตั้งแต่ตุ่มแดง ตุ่มใส ตุ่มหนอง เป็นรอยบุ๋ม แห้งเป็นสะเก็ดและหลุดออก ส่วนใหญ่หายเองได้ การเกิดแผลเป็นเมื่อมีแบคทีเรียแทรกซ้อน

 

“การดูตุ่มอย่างเดียวบอกไม่ได้ว่าเป็นฝีดาษวานร เพราะคล้ายกับหลายโรค การวินิจฉัยต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วย RT-PCR ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสที่ทำลายเชื้อโดยตรง ส่วนวัคซีนที่มีคือวัคซีนฝีดาษคนซึ่งวัคซีนฝีดาษที่เก็บในคลังของประเทศ จากการตรวจพบว่าเชื้อยังไม่ตาย แต่ยังต้องใช้เวลาศึกษาประสิทธิภาพ ขณะนี้วัคซีนยังไม่จำเป็นมาก แต่ก็ต้องเตรียมการเผื่อสถานการณ์ต่าง ๆ ให้มีวัคซีนไว้ใช้ โดยสอบถามองค์การอนามัยโลกที่มีคลังวัคซีนฝีดาษคนสำรองอยู่ ส่วนวัคซีนฝีดาษลิงอยู่ระหว่างพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพ โดยมีการติดต่อไว้หลายแห่ง หากมีข้อมูลที่มีประสิทธิภาพให้แจ้งเราด้วย เพื่อพิจารณาเรื่องจัดหาวัคซีน” นพ.โอภาสกล่าว

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า การนำวัคซีนมาใช้จะพิจารณา 4 เรื่อง คือ 1.ประสิทธิภาพการป้องกัน 2.ความปลอดภัย 3.สถานการณ์ และ 4.ความจำเป็นในการจัดหา ต้องมีทั้ง 4 เรื่องครบถ้วน เพราะบางครั้งโรคไม่รุนแรงแต่วัคซีนมีผลข้างเคียงก็ต้องพิจารณา มาตรการตอนนี้คือการตรวจจับเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้แพร่กระจายออกไป และแจ้งเตือนประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อแจ้งเตือนไป บางคนมีตุ่มขึ้นมาก็มารายงานเป็นสิ่งที่ดีทำให้สามารถตรวจจับได้เร็ว มาตรการยังเป็นการวินิจฉัย การแยกกักผู้ป่วย และสอบสวนโรคเป็นหลัก คล้ายกับโควิดช่วงแรก ถ้าเจอจริง ๆ ก็แยกกักเพื่อไม่ให้ไปแพร่ระบาดและติดตามผู้สัมผัส โดยต้องดูไทม์ไลน์ให้ละเอียด

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

-"หมอยง" เผย "ฝีดาษลิง" แนวโน้มป่วยพุ่ง การระบาดคุมยากกว่าทุกครั้ง

-ฝีดาษลิงไม่ตายแต่อาจเสียโฉม "หมอธีระวัฒน์" เผยสงสัยติดเชื้อต้องทำยังไง

-หมอยง คาด ฝีดาษลิง มีโอกาสเกิดในไทย แต่ไม่ระบาดใหญ่เหมือน โควิด19

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส