ด่วน! ศาลตัดสิน "ยุบ" ไทยรักษาชาติ กรณีเสนอชื่อ "ทูลกระหม่อม" แคนดิเดตนายกฯ

7 มี.ค. 62
ที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ จากปรากฎการณ์บิ๊กเซอร์ไพรส์ที่มีการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยศาล รธน.วินิจฉัย ว่า การที่พรรคไทยรักษาชาติ เสนอพระนาม "ทูลกระหม่อม" เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลต่อการเมืองและการปกครองของประเทศอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการทำลายหลักการพื้นฐานของ รธน. และโบราณราชประเพณี ย้อนกลับไป จริงๆ พรรคนี้ก่อตั้งมา 10 ปีแล้ว ผ่านเรื่องราวต่างๆ มามากมาย พรรคไทยรักษาชาติ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ปี 2552 ในชื่อ พรรครัฐไทย มีนาย เอกสิทธิ์ เจาฑานนท์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และนาย ศิรเมศร์ เสถียรรุจิกานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค ก่อนจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น พรรคไทยรวมพลัง แล้วส่งสมาชิกลงสมัคร ส.ส. แต่ไม่ได้ที่นั่งในสภาเลยแม้แต่คนเดียว การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2561 เมื่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคมีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็น พรรคไทยรักษาชาติ ใช้ตัวย่อ "ทษช." ซึ่งถูกตีความว่า ย่อมาจาก “ทักษิณ ชินวัตร” เพื่อเป็นพรรคสำรองของพรรคเพื่อไทย เรื่องนี้ชัดเจนขึ้น เมื่อที่ประชุมใหญ่ ลงมติเลือก ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเจ๊แดง ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช เป็น หัวหน้าพรรค และให้นายมิตติ ติยะไพรัช ลูกชาย ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทยเขตภาคเหนือ เป็น เลขาธิการพรรค จากนั้นก็มีทั้งอดีตรัฐมนตรี และ อดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย นำโดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง ตบเท้าเดินเข้าพรรคอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ สลับสับหลีกกับผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย เป็นการตอกย้ำ เป็นยุทธศาสตร์แตกแบงค์ 1,000 หวังกระจายความเสี่ยง ให้พรรคเพื่อไทยกวาด ส.ส.เขต แล้วไทยรักษาชาติเก็บคะแนนบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ได้ ส.ส.มากที่สุด ไว้สู้กับพรรคของ คสช. ท่ามกลางกระแสข่าวลือตลอดทั้งวัน ของวันที่ 7 กุมภาพันธ์ รุ่งขึ้น เช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ร.ท.ปรีชาพล นำชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพียงชื่อเดียว คือ พระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งคนที่ออกมาค้านคนแรก คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป พร้อมกับยื่นคำร้องให้ กกต.ตรวจสอบว่า การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ ขัดต่อระเบียบของ กกต.หรือไม่ ก่อนที่เรื่องจะบานปลาย จน กกต.ไม่ประกาศรับรองรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ แล้วมีมติส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื่องจากกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92 (2)
นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป
ซึ่งคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติในวันนี้ (7 มี.ค.62) เป็นการยุบพรรคลูกหลานพรรคไทยรักไทย ครั้ง 3 ด้วยดาบในมือของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากที่เคยตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ไปเมื่อปี 2551 และยุบพรรคไทยรักไทย ในปี 2550 และอาจทำให้สถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนี้ เปลี่ยนไปแบบที่ไม่มีใครคาดคิด

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ