ฉีดวัคซีน แอสตร้าฯ ป้องกันโควิด ไม่ทำให้มีความเสี่ยงเป็น "โรคฝีดาษลิง"

23 พ.ค. 65

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้า ไม่มีความเสี่ยงเป็นโรคฝีดาษลิง ข้อมูลที่ถูกแชร์บนโลกออนไลน์ เป็นข้อมูลเท็จ 

กรณีที่มีการแชร์ข้อความว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้า มีความเสี่ยงเป็นโรคฝีดาษลิง ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฝีดาษลิงแต่อย่างใด โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้ จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ

เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85%

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมควบคุมโรค สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.ddc.moph.go.th หรือโทร 1422 ได้ตลอด 24 ชม.

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่เป็นความจริงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฝีดาษลิง และเชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิดโดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะรวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้ จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-สธ.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินรับมือ "ฝีดาษลิง" ติดตามอย่างใกล้ชิด

-หมอยง เผย ฝีดาษลิง ไม่เคยเกิดขึ้นในไทย ในอดีตยังไม่พบการระบาดใหญ่

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส