เปิดหีบเลือกตั้ง ส.ก.- ผู้ว่าฯ กทม. ลงคะแนนตั้งแต่ 08.00 ถึง 17.00 น.

22 พ.ค. 65

คณะกรรมการประจำหน่วย 50 เขตเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร เปิดหีบรับผู้มีสิทธิไปลงคะแนนเสียงเลือกผู้ว่าฯ กทม.และส.ก.ในเวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น.

วันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. 65 เวลา 08.00 น. เจ้าหน้าที่เปิดหีบเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถออกไปใช้สิทธิได้ตั้งแต่เวลา 08.00 น. จนถึงเวลาปิดหีบ 17.00 น. และอย่าลืมพกบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นๆ ที่ราชการออกให้ เช่น ใบบขับขี่ บัตรข้าราชการ พาสปอร์ต เพื่อยืนยันตัวตนการใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้งที่มีชื่ออยู่

ทั้งนี้ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้เดินทางออกไปใช้สิทธิสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 31 เบอร์ ได้ที่หน้าหน่วย

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ขั้นตอนการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.

ขั้นตอนที่ 1

ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่ของตนเอง จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้งให้เรียบร้อย

ขั้นตอนที่ 2

ยื่นหลักฐานแสดงตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ ที่มีภาพถ่าย และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ

ขั้นตอนที่ 3

ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ และรับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ
ในกรณีที่ย้ายเขตที่อยู่ใหม่ จะได้รับบัตรเลือกตั้งที่เขตที่อยู่ใหม่เพียงใบเดียว คือ บัตรเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และจะต้องเดินทางไปยังเขตที่อยู่เดิมที่ได้ทำการเพิ่มชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร

ขั้นตอนที่ 4

เข้าคูหา ทำเครื่องหมายกากบาทลงในช่องให้เต็มช่อง โดยทำเครื่องหมาย ดังนี้

บัตรสีน้ำตาล เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สามารถเลือกผู้สมัครได้ 1 คน เท่านั้น
บัตรสีชมพู เลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สามารถเลือกผู้สมัครได้เขตละ 1 คน ในเขตของตนเท่านั้น
หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครใดให้กากบาทที่ช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน แล้วพับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ ให้เรียบร้อย

ขั้นตอนที่ 5

หย่อนบัตรเลือกตั้งลงในหีบด้วยตนเอง โดยจะต้องสังเกตหีบบัตร และหย่อนให้ถูกประเภทด้วย


11 ข้อห้ามทำในหน่วยเลือกตั้ง

1. ห้ามไม่ให้ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนน หรือพยายามออกเสียงลงคะแนน

2. ห้ามจงใจทำให้บัตรเลือกตั้งของตนเองชำรุด เสียหายหรือทำให้เป็นบัตรเสีย หรือพยายามทำให้บัตรเสียเป็นบัตรที่ใช้ได้

3. ห้ามผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการเลือกตั้ง

4. ห้ามจัดหรือเล่นการพนันที่มีเดิมพันเกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง

5. ห้ามหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีใดก็ตาม แม้จะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง

6. ห้ามใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งเพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง

7. ห้ามขาย จำหน่าย แจกจ่าย หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้งในระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง

8. ห้ามเรียก รับ หรือยอมรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครใด หรืองดเว้นไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด

9. ห้ามทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง หรือเพื่อแกล้งให้ผู้สมัครผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

10. ห้ามจงใจทำเครื่องหมายอื่น หรือเขียนข้อความใดไว้ที่บัตรเลือกตั้งนอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนนเสียง

11. ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากหน่วยเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่และอำนาจ

ไม่ได้เลือกตั้ง สก. - ผู้ว่าฯ กทม. เสียสิทธิอะไรบ้าง

สำหรับผู้ที่ไม่ได้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ และไม่ได้แจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่ไปใช้สิทธิ จะถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี รวม 6 สิทธิ ประกอบด้วย

  • ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
  • ไม่สามารถสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
  • ไม่สามารถเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วย การลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  • ไม่สามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
  • ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และ เลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ทั้งนี้ ให้มีกำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง หากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้นั้นไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีก ให้นับเวลาการจำกัดสิทธิครั้งหลังนี้ โดยนับจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ และหากกำหนดเวลาการจำกัดสิทธิครั้งก่อนยังเหลืออยู่เท่าใด ให้กำหนดเวลาการจำกัดสิทธินั้นสิ้นสุดลง

สำหรับวิธีการแจ้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร และเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สามารถทำได้ผ่าน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย

  • ขอรับแบบฟอร์ม ศ.ถ./ผ.ถ. 1/8 หรือทำเป็นหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ พร้อมระบุเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ยื่นต่อนายทะเบียนท้องถิ่นที่เขตของตนด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นยื่นแทน
  • ขอรับแบบฟอร์ม ส.ถ./ผ.ถ. 1/8 หรือทำเป็นหนังสือชี้แจงเหตุทางไปรษณีย์ โดยถือเอาวันที่ไปรษณีย์ลงรับเป็นวันแจ้งเหตุ
  • แจ้งเหตุออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th หรือ www.ect.go.th หรือแอปพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อ "การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์"

ท้ังนี้ ผู้ที่ประสงจะแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ จะต้องทำเรื่องแจ้งภายใน 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง และหากเป็นเหตุด่วนในวันเลือกตั้ง ก็สามารถแจ้งหลังวันเลือกตั้งได้ ภายใน 7 วันเช่นกัน

  • มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกล
  • เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เป็นผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ต่างประเทศ
  • พักอาศัยอยู่ห่างไกลจากหน่วยเลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  • ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
  • เหตุผลอื่น ๆ ที่คณะกรรมการท้องถิ่นกำหนด

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส