คนไทยซื้อบุหรี่เดือนละ 700 บาท แม้นักสูบ 2 ล้านคน รายได้หลักพัน

23 เม.ย. 65

เปิดสถิติพบนักสูบชาวไทย ซื้อบุหรี่เฉลี่ยเดือนละมากกว่า 700 บาท แม้กว่า 2 ล้านคนมีรายได้หลักพัน ชวนเลิกเพื่อสุขภาพ-ประหยัดเงิน

วันที่ 22 เม.ย.65 ผศ.ดร.ศรัณญา เบญจกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยตัวเลขค่าใช้จ่ายในการซื้อบุหรี่ของผู้สูบบุหรี่ไทย สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า มีค่าใช้จ่ายเท่ากับ 734.7 บาทต่อเดือน ในจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน 5.24 ล้านคน

โดยมีผู้สูบบุหรี่ 3.68 ล้านคน ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,895 บาทต่อเดือน และมี 2 ล้านคนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 6,532 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายซื้อบุหรี่ของคนกลุ่มนี้จึงคิดเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายรับในแต่ละเดือน

 เลิกบุหรี่

คนสูบบุรี่เสี่ยงโควิดรุนแรงกว่า ชวนเลิกเพื่อสุขภาพ ประหยัดเงิน 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ขอให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ เพื่อให้ประชาชนประหยัด ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เนื่องจากบุหรี่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นต่อการครองชีพ ซ้ำยังทำอันตรายต่อสุขภาพทั้งต่อตนเอง และคนรอบข้างจากควันบุหรี่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีโรคระบาด คนสูบบุหรี่หากติดเชื้อโควิด-19 อาการจะรุนแรงกว่า เสียชีวิตมากกว่า และเป็นลองโควิดมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า การเลิกสูบบุหรี่ นอกจากทำให้สุขภาพดีขึ้น คนใกล้ชิดในบ้านไม่ต้องได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง และเป็นแบบอย่างที่ดี ลดโอกาสที่ลูกหลานในบ้านและชุมชนที่จะติดบุหรี่ โดยค่าซื้อบุหรี่ที่ประหยัดได้เดือนละ 700 กว่าบาท ยังสามารถนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อครอบครัว ยามที่เศรษฐกิจฝืดเคืองมากเช่นในปัจจุบันนี้

ซึ่งการเลิกสูบบุหรี่นั้น 9 ใน 10 คนเลิกได้ด้วยตนเอง ที่ตั้งใจจริงจังในการเลิก ผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบด้วยตนเองไม่ได้ สามารถขอคำแนะนำจากคนรู้จักที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้ว ซึ่งมีมากกว่าสี่ล้านคน หรือขอรับการรักษาเพื่อเลิกสูบบุหรี่ตามคลินิกโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมทั้งโทรศัพท์ปรึกษาวิธีเลิกได้ที่ 1600 สายด่วนเพื่อการเลิกสูบบุหรี่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิจัยพบ แม่สูบบุหรี่ ระหว่างตั้งครรภ์ เพิ่มความเสี่ยง โรคตา ในทารก
เอาจริง! นิวซีแลนด์เล็งออกกฎหมาย ห้ามวัยรุ่นซื้อ บุหรี่ ตลอดชีวิต
บุหรี่มือสอง - ฝุ่น PM 2.5 เสี่ยงมะเร็งปอด พบเร็วเพิ่มโอกาสรักษาหาย 31%

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส