หมอธีระ เผย ไทยติดเชื้อยืนยัน สูงอันดับ 14 ของโลก หวั่น Long COVID กระทบระยะยาว

7 มี.ค. 65

หมอธีระ เผย ไทยติดเชื้อยืนยัน สูงอันดับ 14 ของโลก หากรวม ATK ด้วย จะพุ่งไปถึงอันดับ 7 หวั่น Long COVID กระทบสังคมระยะยาว

หมอธีระ หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงประเด็นการติดเชื้อของคนไทย ซึ่งมีจำนวนการติดเชื้อยืนยันสูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก โดยผลตรวจนี้ยังไม่รวมกับผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบโดยการตรวจ ATK และถ้ารวมจะพุ่งไปถึงอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย โดย หมอธีระ ระบุว่า

ทะลุ 446 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,149,791 คน ตายเพิ่ม 3,884 คน รวมแล้วติดไปรวม 446,335,906 คน เสียชีวิตรวม 6,018,950 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เวียดนาม เยอรมัน รัสเซีย และเนเธอร์แลนด์

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.68 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 98.48

ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 37.1 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 32.38 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 10 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้หากดูเฉพาะจำนวนติดเชื้อยืนยัน จะสูงเป็นอันดับ 14 ของโลก แต่หากรวม ATK ด้วย จะพุ่งไปถึงอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ถ้าพิจารณาสถิติรายสัปดาห์ จะพบว่า จำนวนติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาของไทยเรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และจำนวนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกนั้นติดเชื้อลดลงร้อยละ 10 และเสียชีวิตลดลงร้อยละ 14

Long COVID

Leeuw E และคณะจากประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่บทความวิชาการในวารสารทางการแพทย์สากล Medical Journal of Australia วันนี้ 7 March 2022 ย้ำเตือนให้รัฐและประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของ Long COVID เนื่องจากเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวหลังจากการติดเชื้อโรคโควิด-19

มีรายงานการแพทย์ชี้ให้เห็นปัญหานี้มากขึ้นเรื่อยๆ และชี้ให้เห็นว่าผู้ป่วยที่เกิดภาวะ Long COVID นั้นจะพบกับปัญหาการตีตราทางสังคม (stigma), ความยากลำบากในการเข้าถึงระบบบริการดูแลรักษา (difficulties in accessing services), มีปัญหาในการกลับไปทำงานเต็มเวลาแบบในอดีตเพราะสมรรถนะของร่างกายเสื่อมถอยลง (returning to full time work), ประสบปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ครอบครัว และระหว่างการดำรงชีวิต (trouble maintaining important relationships and life roles), และไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอื่นๆ (barriers to engaging in activities of daily living)

ทั้งนี้ เราจะเห็นได้ว่าทั่วโลกต่างตื่นตัว ให้ความสำคัญกับเรื่อง Long COVID เพราะนอกจากเกิดผลกระทบต่อตัวบุคคลนั้นโดยตรงแล้ว ยังกระทบต่อคนใกล้ชิด ครอบครัว และประเทศ รวมถึงปัญหาภาระงานในระบบสุขภาพและภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวที่เกิดขึ้น

ดังนั้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีกว่า ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น และหากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนที่เกี่ยวข้องทราบ และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

เหนืออื่นใด นโยบายและมาตรการรัฐก็จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อลดจำนวนการติดเชื้อในแต่ละวันให้มีประสิทธิภาพ ยิ่งหากติดเยอะ โอกาสมีผู้ป่วย Long COVID ในระยะยาวยิ่งมาก และจะย้อนกลับมาในรูปแบบผลกระทบต่อสุขภาวะประชากร ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการขาดกำลังการผลิตและผลิตภาพของประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพ

อ้างอิง : Leeuw E et al. Long COVID: sustained and multiplied disadvantage. Med J Aust. 7 March 2022.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

-หมอธีระ ชี้ 27 ก.พ. ยอดโควิดไทยถึงจุดพีค เตือนระวัง Long COVID ส่งผลต่อสมรรถนะร่างกาย

กรมการแพทย์ เผย ภาวะ ลองโควิด ( Long Covid ) พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
หายป่วยโควิด แต่ทำไมยังเหมือนมีอาการ กรมควบคุมโรค ชี้อาจเกิดภาวะ Long Covid

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส