ภรรยา ตร.ทำคดีเสือดำ-หมีขอ ไม่ติดใจปมตาย ชนต้นไม้ดับยอมรับรถเก่า มีปัญหาระบบเบรก (คลิป)

28 ธ.ค. 61
จากกรณีการเสียชีวิตของ พ.ต.อ.สมหมาย โชติกะนาวิน นักวิทยาศาสตร์ กลุ่มงานตรวจทางเคมีฟิสิกส์ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ หลังขับรถเก๋ง พุ่งชนต้นไม้ริมทางเท้าติดกับรั้วองค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม ซึ่งผู้ตายเป็นเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานในคดีของ นายเปรมชัย กรรณสูต กรณีล่าเสือดำ และคดีนายวัชรชัย สมีรักษ์ ปลัดอำเภอด่านมะขามเตี้ย ในกรณีล่าหมีขอ
รถยนต์ของพ.ต.อ.สมหมาย ที่เกิดอุบัติเหตุ
วันที่ 27 ธ.ค. 61 ที่วัดพระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม สถานที่จัดสวดพระอภิธรรมศพ พ.ต.อ.สมหมาย โชติกะนาวิน บรรยากาศเป็นไปด้วยความโศกเศร้า มีครอบครัว เพื่อนตำรวจเดินทางมาร่วมอาลัยจำนวนมาก โดยมี พล.ต.ต.ชาติชาย เอี่ยมแสง รองผู้บัญชาการพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาร่วมงานด้วย
พ.ต.อ.สมหมาย โชติกะนาวิน นักวิทยาศาสตร์ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ผู้เสียชีวิต
น.ส.กิมฮวย จันทร์ฝั่ง ภรรยาผู้ตาย เปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุ ก่อนเกิดเหตุ ตนกับสามียังนอนอยู่ด้วยกัน และยืนยันสามีไม่ได้วูบหลับในแน่นอน ส่วนรถยนต์คันเกิดอุบัติเหตุ เป็นรถมือสองที่ซื้อมาได้ไม่กี่เดือน ค่อนข้างเก่า และมีปัญหาอยู่แล้ว อีกทั้งพวงมาลัยมีเสียงดัง และหากเบรกกระชั้นชิดก็จะเบรกไม่ค่อยอยู่ ที่ผ่านมาสามีเป็นคนไม่มีรถยนต์ จะขับรถจักรยานยนต์หลวงไปทำงาน แต่สามีอยากได้รถเพราะจะได้ไม่ต้องกลัวเปียกฝน ซึ่งตนก็ไม่คิดว่าสามีจะมาเสียชีวิตรถยนต์คันนี้
น.ส.กิมฮวย จันทร์ฝั่ง ภรรยาผู้ตาย
ส่วนตัวไม่ติดใจการเสียชีวิต และเชื่อว่าสาเหตุมาจากเบรกและสภาพรถเก่า อีกทั้งวันเกิดเหตุ สามีไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ประกอบกับผลชันสูตรก็ออกแล้วว่าสามีเสียชีวิต เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจแตก เนื่องจากแรงกระแทก น.ส.กิมฮวย กล่าวว่า ส่วนปัญหาเรื่องการทำคดีเสือดำ และหมีขอ ส่วนตัวยืนยันว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการตายของสามี เพราะสามีเองก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ ทั้งนี้ วันเสาร์ที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา ตนและสามีกลับบ้านที่ จ.กาญจนบุรี สามีบ่นอยากทำบุญโรงศพ ขณะขับผ่านมูลนิธิที่มีทำบุญ แต่ตนเห็นว่าเย็นแล้ว จึงบอกว่าค่อยไปทำวันอื่นก็ได้ แต่สามีก็พยายามบอกให้พาไปทำบุญ แต่ตนไม่พาไป ส่วนตัวก็เสียใจ เพราะหากพาสามีไปทำบุญวันนั้น อาจจะไม่เกิดอุบัติเหตุเช่นนี้
นายวรพล สิงห์เขียวพงษ์ ผู้เชียวชาญด้านรถยนต์ (แฟ้มภาพ)
ด้าน นายวรพล สิงห์เขียวพงษ์ ผู้เชียวชาญด้านรถยนต์ เปิดเผยว่า รถยนต์ยุโรป ผลิตในปี 1984 ซึ่งผ่านมา 34 ปีแล้ว ตัวถังรถเป็นเหล็กแข็ง แต่ใช้เทคโนโลยีสมัยก่อน การคำนวณเรื่องแรงซึบซับ แรงกระแทกยังไม่ดี สู้แรงของรถในปัจจุบันไม่ได้ คนทั่วไปมักเชื่อว่า ถ้าขับรถเก่า ตัวถังแข็งแรง มักจะใช้มือเคาะรถเพื่อพิสูจน์ความแข็งแรง และเชื่อว่าหากเกิดอุบัติเหตุแล้วจะปลอดภัย ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุ รถยนต์รุ่นเก่า เหล็กแข็งอาจจะพังเสียหายเล็กน้อยจริง แต่แรงกระแทกไม่ได้หายไปไหน เพราะแรงกระแทกจะกระจายอยู่ในตัวรถ และในห้องโดยสาร ซึ่งหากชนอย่างรุนแรง และไม่ได้คาดเข็มขัดก็เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เช่นกัน

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ