พอแล้วยางพารา หนุ่มหันปลูก พืชกระท่อม ป้อน รง. โกยรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน

17 ม.ค. 65

ยางจ๋าพี่ลาก่อน หนุ่มหันหลังให้ ยางพารา เบนเข็มปลูก พืชกระท่อม ป้อน โรงงานอุตสาหกรรม โกยรายได้นับแสนบาทต่อเดือน

หนุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง หันหลังให้ ยางพารา เพาะพืชกระท่อมก้านแดงหลายแสนต้นส่งขายเข้าโรงงานแปรรูปผลิตเป็นชา เครื่องดื่มชูกำลัง ยาแผนโบราณ และอาหารเสริม  สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเดือนละนับแสนบาท มีไม่พอขาย ถือเป็นพืชบุกเบิกเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ขณะที่ทางบริษัทเร่งทำ MOU  เพื่อดึงผลผลิดเข้าโรงงาน เนื่องจากอนาคตจะเกิดการแข่งขันสูงในการรับซื้อ เพราะความต้องการของตลาดสูงมาก และเร่งส่งเสริมเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก

ที่แปลงเพาะปลูกกระท่อมพันธุ์ก้านแดง “บังแม๊กซ์ ปะเหลียน กระท่อมไทยก้านแดง” ถ.ตรัง-ปะเหลียน ต.ท่าพญา อ.ปะเหลียน จ.ตรัง พบว่าคนงานจำนวนมากทั้งของเกษตรกร และของบริษัท เร่งเพาะเมล็ดและขยายพันธุ์พืชกระท่อมก้านแดง และส่วนหนึ่งเร่งนำบรรจุถุง บางส่วนเร่งลำเลียงขึ้นรถบรรทุกขนส่ง เพื่อนำเข้าโรงงานอุตสาหกรรม บริษัท ไร่เพชรตะวัน จำกัด ที่เดินทางมารับซื้อถึงที่ และร่วมลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างนายจักรตราวุธ ทองรอง หรือบังแม๊กซ์ ซึ่งเป็นเกษตรกรเจ้าของแปลงที่คิดใหม่ ทำใหม่ ไม่ยึดติดกับยางพารา เพราะราคาไม่แน่นอน ได้ร่วมลงนามเซ็น MOU กับนางสาววิยะดา พลประสิทธ์ บริษัทไร่เพชรตะวันจำกัด ในการผลิตและรับซื้อต้นกล้ากระท่อมไทย พันธุ์ก้านแดง เข้าสู่บริษัท เพื่อนำไปผลิตเป็นยา และเครื่องดื่มสมุนไพรในอนาคต ส่งขายต่างประเทศ ทำให้เกษตรกร ซึ่งหันมาจับพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ “กระท่อมพันธุ์ก้านแดง” รายแรก และรายใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง มีตลาดรองรับที่ชัดเจน ทั้งการประกันราคาและเป็นแหล่งตลาดที่ถาวรให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรตัวอย่างคนนี้มีรายได้หลังหักค่าจ้างคนงานแล้วมีเงินเข้ากระเป๋าเดือนละนับแสนบาท พร้อมกับส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ร่วมกันปลูกและจะขยายแปลงปลูกของตนเองด้วย และกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนที่สนใจ

นายจักราวุธ ทองรอง หรือ บังแม็กซ์ อายุ 37 ปี กล่าวว่า ตนมีที่ดินรวม 12 ไร่ เริ่มทำแปลงเพาะเมล็ดและกล้าพันธุ์พืชกระท่อม ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2564 ซึ่งเดิมคิดจะทำแปลงเพาะขยายพันธุ์กล้ายางพาราเพิ่มเติม เพราะเป็นอาชีพที่ทำมานาน  แต่ช่วงนั้นกล้ายางขายไม่ออก เพราะราคายางตกต่ำ คนเริ่มปลูกน้อยลง แต่เริ่มหาพืชชนิดอื่นแทนมากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงที่มีการปลดล๊อกพืชกระท่อมออกจากบัญชีสารเสพติด จึงได้ตัดสินใจเพาะปลูกกระท่อมพันธุ์ก้านแดง โดยเริ่มต้นจากรับซื้อเมล็ดกระท่อมจากชาวบ้านในราคากิโลกรัมละ 8,000 – 10,000 บาท แล้วมาเพาะจำหน่าย เดิมขายออนไลน์ และขายหน้าแปลง แต่ขณะนี้มีบริษัทมาติดต่อและลงนามทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกันในการรับซื้อและประกันราคา ตนเองจึงทำบันทึกตกลงทันที

พืชกระท่อม ชากระท่อม

โดยเบื้องต้นในแปลงมีต้นกล้าพันธุ์อยู่ 3 แสนต้น ขณะนี้ขายไปได้แล้วทั้งหมด 1-2 แสนต้น ในราคาที่แตกต่างกัน เช่น ความสูง 5 ซม.ราคาต้นละ 60 บาท สูง 7-10 ซม.ต้นละ 100 บาท 15-20 ซม.ต้นละ 150 บาท  โดยขณะนี้ต่อวันจะผลิตกล้าพันธุ์ได้วันละ 10,000 ต้น และใช้เวลาเพาะ 4 เดือน ก็สามารถจำหน่ายได้ ตนมองว่ากระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่ขายได้ราคาดี โดยตนเตรียมต่อยอมเป็นแปลงปลูกในรูปแบบขอวิสาหกิจชุมชนต่อไป  

ทางด้านนางสาววิยะดา พลประสิทธ์ กรรมการบริษัท ไร่เพชรตะวัน จำกัด  กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกต้นกล้าของบังแม็กซ์ เพาะเป็นต้นกล้าคุณภาพ โดยได้ส่งทีมนักวิชาการของโรงงานมาเก็บตัวอย่างต้นกล้า ดิน น้ำ จากแปลงเพาะชำไปตรวจ พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยต้นกล้าที่รับซื้อจากแปลงบังแม็กจะนำไปอนุบาลต่อ 10-15 วัน และพักต้นกล้าไว้ในศูนย์พักต้นกล้า ซึ่งมีประมาณ 100 แห่งทั่วประเทศ กระจายอยู่ทุกภาค โดยบริษัทตั้งเป้าไว้ 10 ล้านต้น ในเวลา 10 ปี โดยประกันราคาการรับซื้อใบจากเกษตรกรที่นำกระท่อมไปปลูก ในราคากิโลกรัม 200 บาท ในส่วนของต้นพันธุ์ประกันราคาที่ ความสูง 5 ซม.ราคาต้นละ 60 บาท  7-10 ซม. ต้นละ 100 บาท 15-20 ซม.ต้นละ 150 บาท ราคารับซื้อโดยตรงเพื่อให้เกษตรกรได้กำไรโดยตรง และการรับซื้อตรงโดยบริษัทสามารถการันตีคุณภาพได้ เพราะบริษัทเป็นผู้ตรวจคุณภาพด้วยตนเอง และเกษตรกรได้ขายในราคาที่เหมาะสม เกษตรอยู่ได้

พืชกระท่อม  ชากระท่อม

โดยจะนำไปผลิตชากระท่อม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ตามประกาศ อย. โดยได้เซ็นสัญญาส่งออกชากระท่อมกับประเทศจีนแล้ว ต่อไปจะขายเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง ตลาดจะอยู่ที่ 95% แปรรูปเป็นผงสเปรย์ดรายให้กับกลุ่มโรงงาน ตลาดจะอยู่ที่ 5% สกัดเป็นน้ำมันเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารเสริม ยาแผนโบราณ ตลาดอยู่ที่ 5%  ยาแผนโบราณ ซึ่งมีกระท่อมเป็นส่วนผสมให้กับผู้สนใจภายใต้แบรนด์ของลูกค้า หรือ ผลิตแบบ OEM

ตอนนี้ทางบริษัทมองว่าต้องใช้กระท่อมก้านแดงก่อน เพราะต้นพันธุ์ไม่ได้ขาดแคลน โดยมีสารไมทราไจนีนสูงกว่าทุกสายพันธุ์  
ขณะที่ภาคเหนือ อีสาน ตื่นตัวกับการปลูกพืชกระท่อมอย่างมาก เพราะถือเป็นพืชใหม่ ส่วนทางใต้ก็ขยับความนิยมขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์จากกระท่อมนั้น ตนคิดว่าจะได้รับความนิยม ทั้งในรูปแบบของยา เครื่องดื่มชูกำลัง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทั้ง รูปแบบผง น้ำมัน และสารสกัด จะอยู่ในรูปของยาแผนโบราณ และตอนนี้ได้รับการปลดล๊อกให้ผลิตได้ แต่ต้องขออนุญาตเป็นอาหารใหม่ตามประกาศของ อย.

ตนมองว่าตลาดกระท่อมจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถปลูกได้ไม่กี่ประเทศ มองว่าในอนาคตไทยจะเป็นเบอร์หนึ่งของพืชกระท่อม และประเทศไทยมีนวัตกรรมอาหารที่ดีทัดเทียมกับประเทศเกาหลี  พืชกระท่อมเป็นทางเลือกที่ดีให้เกษตรกร แต่ตนไม่อยากให้เกษตรกรล้มเลิกอาชีพเดิม แต่แนะนำให้ปลูกในร่องปาล์ม ร่องกล้วย ไม่สนับให้เกษตรกรไปกู้หนี้ยืมสิน ทำตามกำลัง ปลูกแค่ 5-10 ต้น บริษัทก็รับทำสัญญาซื้อใบคืน ในราคากิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งเกษตรกรสามารถทำสัญญาขายใบกระท่อมกับบริษัทฯ ได้ตั้งแต่ 1 ต้นขึ้นไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้ พืชกระท่อม ประกอบอาหาร-แปรรูปได้
-
ทำความรู้จัก ใบกระท่อม หลังปลดล็อก มีสรรพคุณทางยา บรรเทาโรค
-
รัฐบาล เตือนกิน กระท่อม มากเกินเสี่ยง ภาวะถุงท่อม ย้ำแปรรูป-ปรุงอาหารต้องขออนุญาต

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส