อธิบดีกรมปศุสัตว์ ลั่น ไม่ลาออก ปมอหิวาต์หมูระบาด ลุยงานต่อจนเกษียณ

14 ม.ค. 65

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยัน ไม่ลาออก แม้ถูกกดดัน ลั่นไม่ได้ทำอะไรผิด ปมอหิวาต์แอฟริกาหมูระบาด พร้อมลุยงานเต็มที่จนเกษียณในอีก 8 เดือน

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยในรายการ คมชัดลึก กรณีมีการกล่าวหากรมปศุสัตว์ปิดบังข้อมูลโรคอหิวาต์หมู หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)เพื่อเอื้อผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่อยู่ในระบบฟาร์มมาตรฐาน และธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มนี้สามารถเดินหน้าต่อได้อยู่แล้ว

ส่วนประเด็นที่กล่าวหาว่าปศุสัตว์เอื้อการส่งออกให้กับรายใหญ่ สามารถโชว์ข้อมูลให้ดูได้เลยว่ามีแต่ผู้เลี้ยงสุกรรายกลาง และรายย่อยเท่านั้นที่มีการส่งออกหมูเป็นไปที่กัมพูชาและเวียดนาม

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า กรณีที่พบเกษตรกรกำจัดหมูโดยนำใส่โอ่งที่ จ.นครปฐม และทำเป็นปุ๋ยขายนั้น อยากให้เกษตรกรแจ้งให้กรมปศุสัตว์รับทราบ พอในกรณีนี้มีการแจ้งย้อนหลัง ทางกรมก็จะมีการตรวจสอบย้อนหลังเช่นกันว่าทำไมตอนเกิดเหตุไม่แจ้งกรม

จากนี้จะได้ร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายกสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายอยากให้ผู้เลี้ยงสุกรที่เหลืออยู่เดือดร้อนน้อยที่สุด เพราะการประกาศโรคไม่ได้หมายความว่าทั่วประเทศจะพบโรคระบาดทั้งหมด แต่จะมีการเฝ้าระวังมากขึ้น หากตรวจพบเชื้อกรมจะเร่งประกาศควบคุมพื้นที่ เพื่อไม่ให้กระจายไปสู่พื้นทีอื่นต่อไป หลังจากนี้จะมีการสุ่มตรวจในทุกพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวถึงกระแสกดดันให้ลาออกด้วยว่า ในการทำงานมาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังไม่ถือว่าหนักที่สุดเพราะตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งในปี 2561 ก็เจอปัญหา โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ปีก่อนเจอลัมปีสกิน ก็ผ่านมาได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำงานด้วยความตั้งใจ และซื่อสัตย์สุจริต ดังนั้นคิดว่าทุกคนรวมถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกตรและสหกรณ์ก็น่าจะเห็นถึงความตั้งใจที่ตนต้องการทำงานให้ดีที่สุด เพื่อผู้เลี้ยงสุกรและสัตว์อื่นๆ จนกว่าจะเกษียณราชการในอีก 8 เดือนข้างหน้านี้ เพื่อให้ผู้เลี้ยงสุกรอยู่ได้

"ไม่ลาออก เพราะผมไม่ได้ทำผิดอะไร ตรงนี้เราทำงานมาตลอด ผมไม่ได้ทุจริตอะไร ทุกคนรู้ไม่มีใครปกปิดในเรื่องของการทำงานได้ ตลอด 3 ปีกว่า กรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นกรมที่มีความหลากหลายมากที่สุด ผมคิดว่าทำงานอย่างหนักหน่วงมาตลอด ผมเชื่อว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว" นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว 

ทั้งนี้ จำนวนสุกรในประเทศ เมื่อดูจากรายงานการเคลื่อนย้ายสุกรของฟาร์มเข้าโรงฆ่าใน E-Movement ปี 2564 ลดลงจากปี 2563 ประมาณ 13% ไม่ได้ลดลงถึง 50% อย่างที่มีบางฝ่ายออกมาให้ข้อมูล ดังนั้น สาเหตุที่เนื้อสุกรปรับขึ้น ไม่ได้เกิดจากโรคระบาดอย่างเดียว แต่มีปัจจัยต้นทุนอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้น และอื่นๆ ด้วย คาดว่าราคาเนื้อสุกรจะสูงต่อเนื่องอีก 8-12 เดือน ตามวงรอบการผลิตสุกร แต่ต้องติดตามอีกครั้งในสัปดาห์หน้า หลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนจะร่วมประเมินเพื่อกำหนดแนวทางตรึงราคา ซึ่งจะแจ้งต่อไป 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส