ย้อน 10 ข่าวเด่น เหตุการณ์ใหญ่ รอบโลกปี 2021 (พาร์ท 2)

29 ธ.ค. 64

ย้อน 10 ข่าวเด่น เหตุการณ์ใหญ่ รอบโลกปี 2021 (พาร์ท 2) จากตาลีบันครองอัฟกานิสถาน ถึง COP26

ปี 2021 ก็เป็นอีกปีที่เกิดข่าวใหญ่ เหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์สำคัญทั่วโลก ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งเรื่องความเป็นอยู่ เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม อมรินทร์ทีวีออนไลน์ เลยจะพาไปย้อนดูว่าตลอดปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์เด่นๆ อะไรบ้าง? 

791170

6.สิ้นสุดสงคราม 20 ปี สหรัฐฯ ถอนทหารจากอัฟกานิสถาน

ในปี 2021 นี้ เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เมื่อสหรัฐฯ ถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถาน ปิดฉากสงคราม 20 ปี เปิดทางให้ตาลีบันกลับเข้ามาปกครองประเทศได้สำเร็จ

ย้อนไปจุดเริ่มต้นของสงครามครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ นำโดยอุซามะฮ์ บิน ลาเดน ก่อเหตุปล้นบังคับเครื่องบินพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรด ในนครนิวยอร์ก เมื่อปี 2001 เกิดเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3 พันคน ทำให้ สหรัฐฯ ไม่พอใจอย่างมาก ประกาศทำสงครามกับการก่อการร้าย ซึ่งในเวลาดังกล่าวมีรายงานว่า กลุ่มตาลีบัน ซึ่งปกครองอัฟกานิสถานในแนวทางรัฐอิสลามสุดโต่งในขณะนั้น ให้ที่พักพิงแก่บิน ลาเดน ประธานาธิดี จอช ดับเบิลยู บุช ผู้นำสหรัฐฯ จึงส่งกำลังทหารเข้าไปบุกโจมตีและเอาชนะตาลีบันมาได้ อย่างไรก็ดีสหรัฐฯ ไม่สามารถจับกุมบิน ลาเดนได้ในครั้งนั้น และใช้เวลาอีก 10 ปีจึงสังหารผู้นำอัลกออิดะห์ได้ที่ปากีสถาน

หลังเข้าไปในอัฟกานิสถานและขับไล่ตาลีบันจากอำนาจ สหรัฐฯ จึงได้จัดระเบียบภายในประเทศ มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และจัดการเลือกตั้งในปี 2004 แต่เหตุการณ์ในประเทศก็ไม่ได้สงบ มีการปะทะกันระหว่างทหารสหรัฐฯ และกลุ่มตาลีบันที่พยายามกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นความไม่มั่นคงในหลายพื้นที่ ยืดเยื้อเช่นนั้นมาตลอด

นอกจากนี้การเข้าไปของสหรัฐฯ มีกระแสต่อต้านจากชาวอเมริกันอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะเมื่อสงครามยืดเยื้อมากขึ้น ทั้งที่มองว่าเป็นเรื่องภายในประเทศและไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ในอัฟกานิสถานก็ดีขึ้นมากนัก ทั้งสิ้นเปลืองงบประมาณจากภาษีของประชาชนจำนวนมาก รวมถึงสูญเสียชีวิตของทหารอเมริกันด้วย

จนกระทั่งในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีการเจรจาและลงนามข้อตกลงในเดือน ก.พ.2020 ว่า สหรัฐฯ จะถอนทหารภายในวันที่ 1 พ.ค.2021 แต่ตาลีบันจะต้องไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใดๆ เข้ามาปฏิบัติการพื้นที่อีก ต่อมาในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ได้มีนโยบายในแนวทางเดียวกัน

ไบเดน ได้ขยายเวลาออกเป็นวันที่ 11 ก.ย.2021 โดยเดินหน้าถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่ายว่า อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดและเร็วเกินไป และในช่วงที่ สหรัฐฯ ทยอยถอนทหารออก ตาลีบัน ก็บุกยึดเมืองเพิ่มมากขึ้น ก่อนวันที่ 15 ส.ค. ก็สามารถยึดกรุงคาบูล เมืองหลวงได้สำเร็จ ขณะที่โมฮัมหมัด อัชราฟ กานี ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน ได้เดินทางออกนอกประเทศ อ้างว่าถูกบีบให้ออกจากกรุงคาบูล และจำเป็นต้องทำเพื่อป้องกันเหตุนองเลือด

ขณะเดียวกันประชาชนชาวอัฟกันฯ หลายแสนคนที่ไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองของตาลีบัน ได้พยายามหลบหนีออกนอกประเทศ แม้ตาลีบันจะให้สัญญาว่าจะไม่ปกครองอัฟกานิสถานอย่างเข้มงวดและลิดรอนสิทธิอย่างเช่นอดีต ด้านกองทัพสหรัฐฯ มีการอพยพผู้ที่จำเป็นออกมาจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด จนเกิดเป็นภาพอันน่าสลดทั้งการแย่งกันปีนขึ้นเครื่องบินอพยพ หรือยอมเกาะล้อตามออกไป 

ในท้ายที่สุด สหรัฐฯ สามารถอพยพคนออกมาได้ราว 122,000 คน และทหารคนสุดท้ายออกจากประเทศในวันที่ 31 ส.ค. ปิดฉากภารกิจทางการทหารที่ยาวนานที่สุดของสหรัฐฯ แต่คงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นภารกิจที่สำเร็จ กินเวลายาวนาน 20 ปี ใช้งบประมาณมากกว่า 2 ล้านล้านดอลล่าร์ สูญเสียชีวิตทหารมากกว่า 2,500 คน ทิ้งอนาคตของอัฟกานิสถานไว้ใต้เงาของตาลีบันอีกครั้ง

439146

7.เมตาเวิร์ส ก้าวต่อไปของโลกอินเทอร์เน็ต

เป็นกระแสฮือฮาตั้งแต่ในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโซเชียลมีเดียอันดับ 1 ของโลกอย่าง "เฟซบุ๊ก" (Facebook) เมื่อมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ประธานบริหาร ออกมาประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น "เมตา"(Meta) ที่จะครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ทุกอย่างของบริษัท รวมถึงการวางรากฐานสร้าง เมตาเวิร์ส (Metaverse)  

จากข่าวใหญ่ครั้งนี้ ทำให้ทั้งโลกต่างตั้งคำถามว่า เมตาเวิร์ส (Metaverse) คืออะไร? และเฟซบุ๊กจะทำอะไรต่อจากนี้ 

คำว่า “เมตาเวิร์ส” ไม่ได้เพิ่งปรากฎครั้งแรก มันเคยโผล่ในนิยายวิทยาศาสร์ เรื่องสโนวแครช (Snow Crash) ของนีล สตีเฟนสัน เมื่อปี 1992 เป็นโลกเสมือนจริงให้ผู้คนเข้าไปใช้ชีวิตเพื่อหลบหนีจากโลกจริงที่เลวร้าย แต่หากถามว่า เมตาเวิร์ส ของเฟซบุ๊กคืออะไร ณ ตอนนี้ที่เรารู้ได้แน่ชัดที่สุด คือโลกเสมือนจริงบนอินเทอร์เน็ต พื้นที่ดิจิทัลที่หลอมรวมทั้งความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality-VR) และเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (Augmented Reality-AR) ที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปใช้ชีวิตข้างในได้ ทั้งการทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ หรือการซื้อสินค้าผ่านสกุลเงินดิจิทัล อย่างไรก็ดีในขณะนี้มันยังเป็นเพียงแนวคิดและช่วงเริ่มต้น จึงอาจจะยากที่จะนิยามออกมาอย่างชัดเจนหรือสร้างความที่เข้าใจตรงกันของทุกคน

เฟซบุ๊ก หรือ เมตา ประกาศด้วยว่า ขณะนี้จะมุ่งให้ความสำคัญกับเมตาเวิร์สเป็นอันดับแรกๆ รวมถึงจะมีการพัฒนาและเปิดตัวเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆ อาทิ แว่น AR, หูฟังโอคูลัส (oculus) แอปพลิเคชัน VR ต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของเมตาเวิร์ส นอกจากนี้ยังได้ทุ่มทุน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.67 พันล้านบาท) เพื่อร่วมมือกับพันธมิตรในการสร้างเมตาเวิร์สอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ทั้งนี้ เมตาเวิร์ส ไม่ได้เป็นแนวคิดของเฟซบุ๊กเพียงเท่านั้น แต่เป็นที่สนใจมาสักระยะในหมู่บริษัทเทคโนโลยีที่ซิลิคอนวัลเลย์ และหลายบริษัทก็กำลังพัฒนา “เมตาเวิร์ส” หรือโลกเสมือนจริงของตัวเองเช่นกัน อย่าง  ไมโครซอฟท์ (Microsoft) หรือบริษัทเกมส์ดังอย่าง โรบล็อกซ์ (Roblox) และบริษัทเอ็พพิค เกมส์ (Epic Games) เจ้าของเกมส์  Fortnite ที่ก่อนหน้านี้มีการจัดคอนเสิร์ตศิลปินดังอย่าง ทราวิส สกอตต์ หรืออาริอานา กรานเด กลางเกมส์มาแล้ว หรือ

บริษัทหรือหน่วยงานอื่นๆ แม้ไม่ใช่บริษัทเทค ก็ประกาศเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สกันอย่างคึกคัก แบบที่เรียกได้ว่าหากใครยังไม่เริ่มก็อาจเสียโอกาส ตกขบวนกันได้ สื่อบันเทิงยักษใหญ่อย่าง ดิสนีย์ (Disney) ก็ได้เกาะกระแสนี้ ประกาศเตรียมเข้าสู่โลกเสมือนจริงแล้ว หรือแบรนด์รองเท้าดังอย่าง ไนกี้ ก็ได้จดสิทธิบัตรเตรียมออกแบบผลิตภัณฑ์เสมือจริงขายในเมตาเวิร์ส รวมถึง กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ ที่ประกาศแผนจะเป็นเมืองเมตาเวิร์สแห่งแรกของโลก เปิดให้สามารถเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ หรือเข้าร่วมเทศกาลที่จัดขึ้นในเมตาเวิร์สโซลโดยเฉพาะ 

10_7

8.วิกฤตชายแดน โปแลนด์ – เบลารุส เมื่อชีวิตผู้อพยพกลายเป็นหมากในเกมการเมือง

ภาพน่าสลดของผู้อพยพหลายพันคนจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งจากอิรัก ซีเรีย เยเมนที่ดั้นด้นออกจากบ้านเกิดด้วยความหวังหนีความรุนแรงไปเริ่มในชีวิตใหม่ในภูมิภาคที่สงบและเจริญกว่าอย่างยุโรป แต่ต้องติดค้างอยู่บริเวณชายแดนโปแลนด์ กลับไม่ได้ ไปต่อไม่ถึง ท่ามกลางความหนาวเหน็บ แต่สิ่งที่น่าเศร้ากว่าคือการที่ชีวิตของคนเหล่านี้ต้องกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่าง “อียู” และ “เบลารุส” ประเทศแกะดำแห่งยุโรป

เบลารุส เป็น 1 ในประเทศที่แตกออกมาหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย และอยู่ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอ์ ลูคาเชนโก ตั้งแต่ปี 1994 จวบจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 27 ปี โดย ลูคาเชนโก ขึ้นชื่อเรื่องการปกครองแบบอำนาจเบ็ดเสร็จ จำกัดเสรีภาพของประชาชน ควบคุมสื่อ กีดกันคู่แข่งทางการเมือง จนได้ชื่อว่าเป็นเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป เป็นผูู้ปกครองจากยุคเก่า ที่เสื่อมความนิยมในคนยุคสมัยใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อเจอกับปัญหาโควิด-19 ลูคาเชนโก แสดงให้เห็นว่าเขาขาดความรู้ที่ทันสมัยในการรับมือวิกฤต ทั้งการไม่ยอมล็อกดาวน์ หรือแนะให้ประชาชนดื่มวอดก้าและเข้าซาวน่าเพื่อสู้กับไวรัส

ประจวบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ เมื่อกลางปี 2020 ลูคาเชนโกได้กีดกันนายเซอร์ไก ทีคานอฟสกายา บล็อกเกอร์ดังซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนไม่ให้ลงเลือกตั้งและถูกจำคุกด้วยความผิดเป็นสายลับให้ต่างชาติ ทำให้ภรรยาของเขาต้องลงสมัครแทน แต่ผลการเลือกตั้งกลับพบว่าลูคาเชนโก เอาชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 6 ด้วยคะแนนเสียงกว่าร้อยละ 90 สร้างความกังขาและสุมไฟความโกรธในหมู่ประชาชนมากขึ้น จนเกิดเป็นการประท้วงครั้งใหญ่มีคนมารวมหลายแสนคน

การประท้วงยืดเยื้อนับ 10 เดือน ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2020 ลากยาวมาจนถึงต้นปี 2021 ลูคาเชนโก ยืนยันจะไม่ลาออก ไม่เลือกตั้งใหม่ และสั่งปราบปราบผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง มีรายงานผู้ถูกจับกุมมากกว่า 3.5 หมื่นคน หลังจากนั้นเมื่อ พ.ค.64 ที่ผ่านมา เขายังได้บังคับเครื่องบินพาณิชย์ให้ลงจอดฉุกเฉิน เพื่อจับกุมผู้สื่อข่าวฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ทำให้สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศคว่ำบาตรเบลารุส เพื่อตอบโต้การกระทำอันอุกอาจและละเมิดสิทธิประชาชนดังกล่าว

แต่การคว่ำบาตรนี้ ไม่ได้ทำให้ลูคาเชนโก ยอมเปลี่ยนโยบายการปกครอง และแม้จะไม่เคยมีการยอมรับโดยตรง แต่เขาโต้กลับอียูด้วยการเปิดรับและอำนวยความสะดวกให้ผู้อพยพจากตะวันออกกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มีเป้าหมายไปเยอรมนี และจะต้องเดินทางผ่านเบลารุสเพื่อเข้าสหภาพยุโรปทางชายแดนโปแลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโทเนีย ซ้ำเติมวิกฤตผู้อพยพในยุโรปให้หนักข้อมากขึ้น และยังขู่ด้วยว่าหากมีมาตรการคว่ำบาตรเพิ่ม อาจจะสั่งตัดก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียที่เดินท่อผ่านเบลารุส ไม่ให้เข้าสู่ยุโรปที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานด้วย

แต่ทางสหภาพยุโรปเอง ก็ไม่ยอมเบลารุสง่ายๆ เพราะตอนนี้ก็เจอวิกฤตผู้อพยพมากพออยู่แล้ว และมองว่าการใช้ผู้อพยพเป็นเครื่องมือกดดันทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ โดยตรึงกำลังป้องกันเต็มที่ไม่ให้ผู้อพยพข้ามพรมแดนมาได้สำเร็จ ทำให้ล่าสุดมีผู้ติดค้างอยู่บริเวณชายแดน มากกว่า 2,000 คน เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 8 ราย ต้องอยู่อย่างไม่อาจทราบชะตากรรม ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเหน็บมากขึ้นเรื่อยๆ

967245

9.COP26 โลกต้องทำอะไรต่อ

เป็นอีกปีที่เกิดภัยพิบัติมากมายทั่วโลก หลายเหตุการณ์ก็รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เช่น น้ำท่วมจีน เยอรมนี คลื่นความร้อนโจมตีภูมิภาคอเมริกาและยุโรป พายุที่ซัดประเทศหมู่เกาะ และทุกคนน่าจะรู้แก่ใจว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภัยธรรมชาติเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน 31 ต.ค.-12 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการจัดการประชุมครั้งสำคัญของโลก “การประชุมว่าด้วยว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26” หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ โดยความพิเศษคือครบรอบทบทวนและปรับเป้าหมาย จาก "ความตกลงปารีส” ที่เลื่อนมา 1 ปีจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยมีตัวเลขที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ 1.5 องศา และ 2 องศา สิ่งนี้คืออะไร?

นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งการเผาไหมเชื้อเพลิงฟอสซิล ก๊าซธรรมชาติ ภาคปศุสัตว์ รวมถึงการแผ้วถางป่าเพื่อขยายเมืองและสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้โลกของเราร้อนขึ้นแล้ว 1.1 องศา เกิดปัญหาสภาพอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ และตัวเลข 1.5 และ 2 องศา ก็คือระดับอุณภูมิที่นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องว่า “โลกจะไปถึงไม่ได้” เพราะจะทำให้ประสบกับปัญหาสภาพอากาศที่เลวร้ายจนไม่สามารถแก้ไขได้อีก

ข้อมูลพบว่า หากโลกร้อนขึ้น 1.5 องศา 14% ของประชากรโลกจะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงทุกๆ 5 ปี และหากแตะ 2 องศา ตัวเลขจะพุ่งสูงเป็น 37% หากโลกร้อนขึ้น 1.5 องศา ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 26-77 ซม. แนวปะการังลดลง 70-90% หากร้อน 2 องศา จะสูงขึ้น 36-87 ซม.และแนวประการังจะหายไปทั้งโลก ซึ่งระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงและสภาพอากาศรุนแรงจะทำให้เกิดวิกฤตอื่นตามมาทั้ง ผู้ลี้ภัยจากโลกร้อน วิกฤตด้านอาหาร และผลกระทบต่อสุขภาพ

ทำให้ในการประชุม COP20 เมื่อปี 2015 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 195 รัฐทั่วโลกได้บรรลุ  "ความตกลงปารีส" เพื่อร่วมมือกันจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 2 องศา และจะพยายามรักษาให้ไม่เกิน 1.5 องศาจากระดับอุณหภูมิก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยแต่ละประเทศให้สัญญาและกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของตัวเอง มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนเหลือศูนย์ ภายในปี 2050 และประเทศพัฒนาแล้วจะต้องมอบเงินช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อปรับตัวรองรับการเปลี่ยนผ่านนี้

อย่างไรก็ดีผ่านมา 6 ปี พบว่ายังมีหลายชาติที่มีแนวโน้มจะทำตามแผนไม่สำเร็จ ขณะที่ข้อมูลระบุ โลกของเรายังอยู่ในเส้นทางการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอย่างน้อย 2.7 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้

ตลอดการ 13 วันของการประชุม COP26 ปีนี้ นานาชาติได้บรรลุข้อตกลง Glasgow Climate Pact โดยทั้ง 200 ประเทศถูกขอให้ยื่นแผนใหม่ในปี 2022 ถึงแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 โดยต้องมีเป้าหมายที่สูงขึ้น และให้กลุ่มประเทศร่ำรวยเพิ่มเงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา

ในการประชุมครั้งนี้ มีข้อตกลงที่น่าสนใจ เช่น ประเทศส่วนใหญ่ตั้งเป้า "ยกเลิก" การใช้งานถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดกว่า 40% ในแต่ละปี แม้จีนและอินเดีย จะขอเปลี่ยนคำในข้อตกลงในนาทีสุดท้าย เหลือเพียง "ลดการใช้" เท่านั้น 

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯและจีน ซึ่งเป็นผู้ปล่อยคาร์บอน 40% ของโลก สัญญาจะร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกินกว่า 1.5 องศา ส่วนผู้แทนจาก สหรัฐฯ อียูและอีกกว่า 100 ประเทศ สัญญาจะลดการปล่อยก๊าซมีเทน ก๊าซเรือนกระจกที่สร้างความเสียหายมากที่สุดลง 30% ภายในปี 2030 อย่างไรก็ดีจีนและรัสเซียซึ่งปล่อยมีเทนมากที่สุดในโลกไม่ได้ลงนามในข้อตกลงฉบับนี้

มากกว่า 120 ประเทศซึ่งครอบครอง 90% ของพื้นที่ป่าไม้ในโลก รับปากว่าจะยุติปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 ขณะที่ สหรัฐฯ และมากกว่า 20 ประเทศ ตกลงจะหยุดให้เงินอุดหนุนโครงการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้  ด้าน อินเดีย สัญญาว่า ประชาชนครึ่งหนึ่งของประเทศ หรือ 1.4 พันล้านคน จะใช้กระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น ลม แสงอาทิตย์ ภายในปี 2030 

ส่วนประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ประกาศเป้าหมายว่า ไทยจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065

103821

10.ปีแห่ง “คริปโตเคอร์เรนซี” คนแห่ลงทุน ธุรกิจกระโจนลงสนาม 

เชื่อว่าในรอบปีที่ผ่านมา “คริปโต” หรือ "คริปโตเคอร์เรนซี่" เป็นอีกคำที่เราแทบทุกคนย่อมเคยได้ยินผ่านหู เพราะเป็นกระแสการลงทุนที่กำลังมาแรงสุดๆ ของยุคนี้ มีผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจและหลั่งไหลตบเท้าลงสนามกันต่อเนื่อง

คริปโตเคอร์เรนซี หรือที่มักเรียกกันย่อๆ ว่า "คริปโต" มาจาก คริปโต ที่หมายถึงการเข้ารหัสและถอดข้อมูล รวมกับ เคอร์เรนซี ที่หมายถึงสกุลเงิน กลายเป็น “สกุลเงินดิจิทัล” ที่ต้องอาศัยการเข้ารหัส ซึ่งเราสามารถซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน กันได้หากทั้งสองฝ่ายยอมรับ โดยทำงานบนเทคโนโลยี บล็อกเชน (blockchain) ระบบการเก็บข้อมูลไม่มีตัวกลาง ที่จะส่งข้อมูลให้ทุกคนในระบบรับรู้ตรวจสอบร่วมกันได้ ทำให้การทำธุรกรรมของคริปโตเกิดขึ้นอย่างปลอดภัย โปร่งใส่ ปลอมแปลงแก้ไขได้ยาก โดยสกุลเงินคริปโตที่ได้รับความนิยม อาทิ บิทคอยน์ อีเธอเรียม ลิตคอยน์

อย่างไรก็ดี คริปโต ยังไม่ใช่เงินที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ของโลกยอมรับในการใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายโดยมีเพียง เอลซัลวาดอร์ เพียงชาติเดียวที่รองรับการใช้บิทคอยต์ แต่ก็กำลังมาแรงและก้าวสู่ความเป็นตลาดกระแสหลักมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายคนมองว่า คริปโต จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในโลกอนาคต

ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย.64 พบว่า มูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก ทะลุ 2.87 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว  โดย บลูมเบิร์ก นำเสนอรายงานจาก PitchBook บริษัทผู้ให้บริการข้อมูล ระบุว่า ในปี 2021 บริษัทร่วมลงทุนได้ลงทุนในบริษัทคริปโต กว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นเป็น 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2018 ขณะที่ปีนี้ ราคาของสกุลเงินยอดนิยมอย่าง บิทคอยต์ ก็พุ่งแตะนิวไฮที่ 68,000 เหรียญสหรัฐฯ มีอัตราเติบโตมากกว่า 1,300%   

ขณะที่ในไทยปีนี้ ก็มีการลงสนามของผู้เล่นรายใหญ่อย่าง "ไทยพาณิชย์" ที่ได้เข้าถือหุ้นใหญ่ของ บริษัทบิทคับ ออนไลน์ ผู้ให้บริการ "Bitkub" แพลตฟอร์มเทรดคริปโตที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในไทย เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และตลอดทั้งปีนี้ หลายกิจการต่างทยอยประกาศรับการซื้อขายสินค้าด้วยคริปโตแล้ว เช่น แสนสิริและอนันดาที่เปิดให้ใช้ซื้อบ้าน-คอนโดได้ ซื้อสินค้าและบริการในห้างเดอะมอลล์ หรือใช้ซื้อตั๋วภาพยนตร์ที่เมเจอร์

อย่างไรก็ดีคริปโตถือเป็นทรัพย์สินที่มีความผันผวนสูงมาก จึงมักแนะนำให้ผู้สนใจใช้เงินเย็นในการลงทุนเท่านั้น และศึกษารวมถึงพิจารณาความเสี่ยงให้ดีก่อน โดยนักลงทุนสามารถแลกคริปโตกลับมาเป็นเงินปกติผ่านผู้ให้บริการที่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เท่านั้น 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตาลีบัน ประกาศชัยชนะใน อัฟกานิสถาน อ้างยึด ปัญจชีร์ จังหวัดสุดท้ายได้สำเร็จ
SCB ปิดดีลใหญ่อีกครั้ง เข้าซื้อหุ้นบิทคับ 17,850 ล้านบาท
ราชบัณฑิตยสภา บัญญัติศัพท์ Metaverse เป็นภาษาไทยว่า "จักรวาลนฤมิต"

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม