ราชกิจจานุเบกษา ขอหนังสือรับรองฉีดวัคซีนโควิดไปต่างประเทศ เรียกเก็บ 50 บาท มีผลแล้ว

1 พ.ย. 64

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 พ.ศ.2564

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการมอบหมายผู้ที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และการเรียกเก็บหรือยกเว้นการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อ COVID-19

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อ COVID-19 ลงวันที่ 29 มี.ค.2564

ข้อ 4 ในประกาศนี้

“หนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค” หมายความว่า หนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อ COVID-19 แก่บุคคลที่ได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพื่อใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนกำหนดหรือไม่ก็ตาม โดยวัคซีนดังกล่าวต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกหรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ข้อ 5 การออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ให้จัดทำเป็นเอกสาร โปรแกรมแอปพลิเคชัน วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแบบที่กรมควบคุมโรคประกาศกำหนด

ข้อ 6 ให้อธิบดีกรมควบคุมโรคพิจารณามอบหมายให้บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ เป็นผู้ที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
(1) เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อไปนี้
(1.1) เจ้าหน้าที่สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อไปนี้
(1.1.1) นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด
(1.1.2) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์
(1.1.3) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป
(1.1.4) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน
(1.2) เจ้าหน้าที่สังกัดกรมควบคุมโรค ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อไปนี้
(1.2.1) รองอธิบดีกรมควบคุมโรค
(1.2.2) ผู้อำนวยการกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค
(1.2.3) ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา
(1.2.4) ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป
(1.2.5) ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร
(1.2.6) ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง
(1.2.7) ผู้อำนวยการสถาบันราชประชาสมาสัย
(1.2.8) ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12
(1.2.9) ผู้อำนวยการหน่วยงานระดับกองหรือหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากองในสังกัดกรมควบคุมโรค ตามที่อธิบดีกรมควบคุมโรคเห็นสมควร
(1.3) เจ้าหน้าที่สังกัดกรมการแพทย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อไปนี้
(1.3.1) อธิบดีกรมการแพทย์
(1.3.2) รองอธิบดีกรมการแพทย์
(1.3.3) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
(1.3.4) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี
(1.3.5) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน
(1.3.6) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์
(1.3.7) ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยาแห่งชาติ
(1.3.8) ผู้อำนวยการสถาบันพยาธิวิทยา
(1.3.9) ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
(1.3.10) ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง
(1.3.11) ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
(1.4) เจ้าหน้าที่สังกัดกรมอนามัย ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อไปนี้
(1.4.1) อธิบดีกรมอนามัย
(1.4.2) รองอธิบดีกรมอนามัย
(1.4.3) ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง
(1.4.4) ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ
(1.4.5) ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1-12
(2) เจ้าหน้าที่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อไปนี้
(2.1) นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ
(2.2) ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสถานพยาบาลอื่นในสังกัดโรงพยาบาลตำรวจ
(3) เจ้าหน้าที่สังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อไปนี้
(3.1) ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์
(3.2) ผู้อำนวยการสำนักอนามัย
(3.3) ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย
(3.4) ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สังกัดสำนักอนามัย
(3.5) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร
(4) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม
(5) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐ
(6) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดสภากาชาดไทย
(7) หัวหน้าส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลในสังกัดหน่วยงานของรัฐ ตามที่อธิบดีกรมควบคุมโรคเห็นสมควร

ข้อ 7 ให้อธิบดีกรมควบคุมโรคพิจารณามอบหมายให้บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นบุคลากรของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลซึ่งมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เป็นผู้ที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

(1) นายแพทย์ที่มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
(2) พยาบาลวิชาชีพที่มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง
(3) ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558

ข้อ 8 ให้กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เสนอบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งตามข้อ 6 หรือบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ 7 พร้อมเอกสารหลักฐานที่แสดงว่าบุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งตามข้อ 6 หรือมีคุณสมบัติตามข้อ 7 หรือเอกสารหลักฐานอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ต่ออธิบดีกรมควบคุมโรคเพื่อพิจารณามอบหมายให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

ข้อ 9 กรณีมีผู้ร้องขอแจ้งความประสงค์ขอรับหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคซึ่งจัดทำเป็นเอกสาร ให้ดำเนินการดังนี้
(1) กรณีผู้ร้องขอแจ้งความประสงค์ขอรับหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในวันที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมควบคุมโรคตามข้อ 7 เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ผู้ร้องขอ
(2) กรณีผู้ร้องขอแจ้งความประสงค์ขอรับหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคภายหลังจากการได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมควบคุมโรคตามข้อ 6 หรือข้อ 7 เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ผู้ร้องขอ

ข้อ 10 กรณีมีผู้ร้องขอแจ้งความประสงค์ขอรับหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคซึ่งจัดทำโดยโปรแกรม แอปพลิเคชัน วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด ทั้งกรณีที่ขอรับหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในวันที่ได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 หรือภายหลังจากการได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมควบคุมโรคตามข้อ 6 หรือข้อ 7 เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ผู้ร้องขอ

ข้อ 11 กรณีการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตามข้อ 9 และข้อ 10 ให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมควบคุมโรคตามข้อ 6 และข้อ 7 พิจารณาหรือนำเอกสารหลักฐาน ซึ่งยืนยันได้ว่าผู้ร้องขอได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ถูกต้องหรือครบถ้วนแล้วหรือเอกสารหลักฐานอื่นใดที่เกี่ยวข้อง มาประกอบการพิจารณาในการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยก็ได้

ข้อ 12 ให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจากผู้ร้องขอแต่ละรายในอัตราครั้งละห้าสิบบาท กรณีมีเหตุผลพิเศษอันควรแก่การพิจารณายกเว้นการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ให้อธิบดีกรมควบคุมโรคหรือผู้ที่อธิบดีกรมควบคุมโรคมอบหมายตามข้อ 6 และข้อ 7 สามารถยกเว้นการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ผู้ร้องขอก็ได้ เหตุผลพิเศษตามวรรคสอง ให้คำนึงถึงอายุ ประวัติ สุขภาพ อาชีพ รายได้ หรือเหตุอื่นใดของผู้ร้องขอประกอบด้วย

ข้อ 13 การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน และการใช้จ่ายเงินตามข้อ ๑๒ ให้เป็นไปตามกฎหมายประกาศ ข้อบังคับ หรือระเบียบของทางราชการ หรือตามแนวทางที่ทางราชการกำหนด

ข้อ 14 ให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมควบคุมโรคตามข้อ 6 และข้อ 7 รายงานข้อมูลการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคต่อกรมควบคุมโรค ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามวิธีการและแบบที่กรมควบคุมโรคประกาศกำหนด

ข้อ 15 บรรดาประกาศหรือคำสั่งใดที่ออกตามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อ COVID-19 พ.ศ.2564 ลงวันที่ 29 มี.ค.2564 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะมีประกาศหรือคำสั่งตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 16 ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามประกาศนี้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศนี้ ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด และให้คำสั่งหรือข้อวินิจฉัยของปลัดกระทรวงสาธารณสุขถือเป็นที่สุด

ประกาศ ณ วันที่ 29 ต.ค.2564
อนุทิน ชาญวีรกูล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ประธานกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ

อ้างอิงข้อมูล http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/263/T_0001.PDF

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส