หมอเฉลิมชัย ชี้โควิด เดลตาพลัส แพร่เร็วกว่าเดลตา 15% ระวัง แต่ไม่ต้องตระหนก

26 ต.ค. 64

กรณี เดลตาพลัส เมื่อวันที่ 25ต.ค.ที่ผ่านมา หมอเฉลิมชัย หรือ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ใน blockdit ส่วนตัว “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” หลังจากที่มีรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด “เดลตาพลัส” เป็นรายแรกที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยระบุหัวข้อว่า พบไวรัสเดลต้าพลัส (Delta Plus) รายแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แพร่ระบาดเร็วขึ้น 15%

หลังจากที่มีข่าวการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ “เดลตาพลัส” ในอังกฤษ โดยพบจำนวนผู้ติดเชื้อร้อยละ 6 จนทางการอังกฤษจัดให้เป็น VUI (Variant Under Investigation) เนื่องจากมีความสามารถในการระบาดเพิ่มขึ้น 15% แต่ยังไม่ได้ยกระดับขึ้นเป็นไวรัสที่น่าเป็นกังวล : VOC (Variant of Concern) เพราะยังขาดข้อมูลเรื่องความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีน

ไวรัส “เดลตาพลัส” เป็นปัจจัยที่ทางอังกฤษให้ความสนใจ เพราะเกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับที่มีการระบาดระลอกใหม่ มีผู้ติดเชื้อหลายหมื่นคนต่อวัน แต่คงไม่ได้เกิดจากปัจจัยไวรัส Delta Plus เพียงลำพัง แต่น่าจะเกิดจากการผ่อนคลายมาตรการของทางการอังกฤษ ร่วมกับการที่ประชาชนอังกฤษหย่อนวินัยในการป้องกันโรคระบาด

และจากกรณีที่ทางกรมควบคุมโรค ได้แถลงว่า พบไวรัส Delta Plus ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จากการถอดรหัสจีโนม ซึ่งทำเป็นประจำอยู่แล้ว และเคยพบว่า มีสายพันธุ์ย่อยของไวรัสเดลตาในประเทศไทย 4 สายพันธุ์ ซึ่งไม่ได้มีลักษณะการแพร่ระบาด หรือความสามารถในการก่อโรครุนแรง แตกต่างกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 และในช่วงเดือนกันยายน 2564 จากการถอดรหัสตามปกติ ได้พบผู้ติดเชื้อที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นไวรัสเดลตาพลัส ( AY.4.2)

จึงสมควรที่จะทำความรู้จักไวรัสก่อโรคโควิด และไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์ย่อย “เดลตาพลัส” ดังนี้

โควิดเกิดจากไวรัสตระกูลโคโรนาลำดับที่ 7

ไวรัสโคโรนา เป็นไวรัสอาร์เอ็นเอ (RNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว ไม่เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่น ที่มีดีเอ็นเอ (DNA) ที่เป็นสารพันธุกรรมคู่ สิ่งมีชีวิตสารพันธุกรรมเดี่ยว จะมีการกลายพันธุ์ได้ง่าย

จากการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา ขณะนี้มีจำนวนโดยประมาณมากกว่า 1,000 สายพันธุ์หลัก และสายพันธุ์ย่อย
ในการแบ่งกลุ่มไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ จะใช้เรื่องความสามารถในการแพร่ระบาด ความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีน โดยกลุ่มที่ถือว่ามีความสำคัญก็คือ กลุ่มที่น่ากังวล (VOC) ได้แก่ แอลฟ่า เบต้า แกมมา และเดลตา
ในกลุ่มไวรัสเดลตานั้น พบสายพันธุ์ย่อยแล้ว กว่า 20 สายพันธุ์ โดยในเดือนสิงหาคม 2564 ไทยพบ 4 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งไม่มีไวรัสสายพันธุ์ “เดลตาพลัส”

ไวรัสสายพันธุ์เดลตาพลัส เป็นสายพันธุ์ย่อย จากสายพันธุ์ที่เคยพบเมื่อเดือนสิงหาคมแล้ว และขณะนี้พบระบาดในประเทศอังกฤษ

ขณะนี้ประเทศไทย ได้พบไวรัสเดลตาพลัส 1 ราย นับเป็นรายแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เดลตาพลัส เป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อย ที่พบว่ามีการระบาดกว้างขวางรวดเร็วกว่าไวรัสเดลตา 15% ส่วนความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีนยังไม่มีการรายงาน

กล่าวโดยสรุป ไทยได้พบไวรัสสายพันธุ์เดลตาพลัสแล้ว นับเป็นรายแรก ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายอื่น ๆ เพิ่มเติม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะแถลงรายละเอียดในวันนี้ (26 ตุลาคม 2564)

เดลตาพลัส แพร่รวดเร็วขึ้น 15% เมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา จึงสมควรจะต้องระมัดระวัง แต่ยังไม่ต้องตระหนกตกใจ เพียงแต่ให้ตระหนักว่า ไวรัสมีความสามารถในการปรับตัวเก่งมาก มนุษย์จึงต้องต่อสู้อย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องวินัยในการป้องกันตนเอง การเร่งฉีดวัคซีน ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลทุกประเทศ จะต้องระดมออกมาเพื่อควบคุมโรคระบาดครั้งนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยพบผู้ป่วยโควิด เดลต้าพลัส 1 ราย ที่พระนครศรีอยุธยา
- สธ. เผย ไทยพบโควิดกลายพันธุ์ อัลฟาพลัส 18 ราย - เดลตาพลัส (AY.1) 1 ราย
เช็กเลย 7 จังหวัดเปิด ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ฟรี กลุ่มประชาชนทั่วไป - เด็กอายุ 12-18 ปี

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ