เหยื่อร่ำไห้ ถูกหลอกสัมปทานข้าวกล่องนับหมื่น สูญนับล้าน เงินซื้อผ้าอนามัยยังไม่มี อึ้ง! ญาติแท้ ๆ ยังโกง (คลิป)

7 พ.ย. 61
จากกรณีนางธนิสร กุยแก้ว แม่ค้าวัย 42 ปี ชาวอุตรดิตถ์ พร้อมด้วยคนงานจำนวนหนึ่ง อยู่ในอาการเครียด พร้อมร้องเรียนว่าถูกหลอกให้ทำอาหาร และน้ำดื่มส่งโรงงาน สูญเงินลงทุนไปเกือบ 1 ล้านบาท โดยมีข้าวกล่องจำนวน 1 หมื่นกล่อง กองเรียงรายอยู่ พร้อมอุปกรณ์ทำครัวจำนวนมาก ซึ่งในภายหลัง ผู้ว่าจ้างทำข้าวกล่องได้ออกมาเปิดเผยถึงสาเหตุที่ต้องยกเลิกข้าวกล่องทั้งหมดนั้น (อ่าน : สาวว่าจ้างทำข้าวกล่องนับหมื่น แจงแม่ค้าผิดสัญญา ทำช้าต้องปรับนับแสน แถมขอออเดอร์เพิ่ม) วันนี้ 7 พ.ย. 61 รายการต่างคนต่างคิด ตอน เหยื่อรวมพลแฉ! ถูกลวงทำข้าวกล่องเป็นหมื่น เจ๊งนับล้าน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ ทีวี ช่อง 34 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.50 น. ได้เชิญ ผู้เสียหายจากขบวนการข้าวกล่อง ได้แก่คุณอดุลย์ อ้วยมะเดื่อ, คุณยลภัทร์ สันบุรีม, คุณชารี อัครรัชภิญโญ และคุณรัชพล ศิริสาคร ทนายความ มาร่วมพูดคุยในรายการ
รายการต่างคนต่างคิด ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ ทีวี ช่อง 34 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.50 น.
คุณยลภัทร์ เปิดเผยว่า ตนรู้จักกับอิ๋ว ซึ่งเป็นหนึ่งขบวนการข้าวกล่องดังกล่าวร่วมกับนางกัญจ์หทัย ทางเฟซบุ๊ก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 และเริ่มทำธุรกิจสัมปทานส่งอาหารให้บ่อนในพื้นที่ด้วยกัน ในช่วงประมาณเดือน ก.พ. 61 ในครั้งแรก อิ๋ว ชวนตนทำสัมปทานแซนด์วิช 700 ชุด โดยให้ร่วมลงทุนเป็นเงิน 20,000 บาท ตนร่วมทำธุรกิจกับอิ๋วด้วยความเชื่อใจ ประกอบกับเห็นว่าอิ๋วมักจะลงรูปภาพในเฟซบุ๊กว่ามีเงินมาก ใช้ชีวิตหรูหราสุขสบาย ซึ่งนอกจากแซนวิชแล้ว ตนยังลงทุนในธุรกิจสัมปทานอื่นอีก คือ ข้าวเกรียบ 40,000 บาท, น้ำสี 140,000 บาท, ผ้าเย็น 120,000 บาท และกาแฟ 40,000 บาท โดยสัมปทานทั้งหมดนั้น อิ๋วอ้างกับตนว่า ไม่มีสัญญา และไม่อยากให้ตนทำสัญญาเนื่องจากสัญญาดังกล่าวมีข้อผูกมัดมาก แนะนำให้ตนไปทำสัญญาที่หน้างานแล้วเริ่มดำเนินงานทีเดียว ซึ่งตลอดเวลาที่ทำธุรกิจสัมปทาน ตนก็ไม่เคยเห็นสินค้าหรือสถานที่โรงงานผลิตสินค้าจริง มีเพียงการพูดคุยและส่งรูปภาพผ่านโทรศัพท์เท่านั้น ตนสามารถจับพิรุธของขบวนการดังกล่าวได้ เนื่องจากพบว่าอิ๋วส่งใบเสร็จปลอมให้กับตน ในขณะที่สั่งเครื่องดื่มชูกำลังที่โรงานหนึ่ง ซึ่งตนสอบถามกับโรงงานดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า โรงงานยืนยันว่าไม่มีการสั่งของใด ๆ ทั้งสิ้น
คุณยลภัทร์ และคุณชารี ผู้เสียหาย
โดย คุณชารี เหยื่ออีกราย กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกอิ๋วหลอกเช่นเดียวกัน โดยสูญเงินไปครั้งแรกคือ สัมปทานแซนด์วิช 60,000 บาท โดยอ้างว่าจะนำไปส่งให้กับบ่อน หลังจากนั้นก็ถูกชักชวนให้ทำสัมปทาน เครื่องดื่มชูกำลังอีก 300,000 บาท และเปลี่ยนเป็นสัมปทานไข่ต้มในภายหลัง โดนขณะที่ทำสัมปทานไข่ต้มนั้น ตนต้องเสียเงินจองไข่ 40,000 บาท จากนั้นจึงเริ่มรู้สึกสงสัย จึงได้เดินทางไปที่จังหวัดอุตรดิตถ์ พบว่า มีสถานที่ประกอบอาหารจริง แต่มาทราบในภายหลังว่าเป็นการจัดฉาก ซึ่งในระหว่างนั้น ก็ได้พูดคุยกับผู้ค้าไข่ต้ม และโอนเงินไปอีกจำนวนหนึ่ง แต่หลังจากที่โอนเงินไป ผู้ค้าไข่ต้มก็ลบประวัติการสนทนาดังกล่าวทันที
คุณอดุลย์ อ้วยมะเดื่อ ผู้เสียหาย
ต่อมา คุณอดุลย์ เปิดเผยว่า สำหรับตน รู้จักกับคนร้ายผ่านทางเครือญาติ เนื่องจากภรรยาเก่าเป็นพี่สาวของนางกัญจ์หทัย โดยครั้งแรก อิ๋ว ชวนตนไปทำธุรกิจจำนำรถยนต์จากบ่อน โดยหลอกให้ซื้อรถ ราคา 400,000 บาท ปรากฏว่าตนต้องจ่ายเงินไปทั้งหมด 600,000 บาท และยังไม่ได้รถคันดังกล่าว จากนั้นอิ๋วก็ชักชวนให้ไปทำสัมปทานข้าวแกง โดยอ้างว่ามีค่าสัมปทานอีกประมาณ 260,000 บาท ซึ่งครั้งนี้ ตนทำข้าวแกงส่งให้กับอิ๋วประมาณ 6 เดือน โดยไม่ได้รับเงินปันผลกลับมา สุดท้ายจึงรู้ว่าถูกหลอก และซึ่งในกรณีของตนนั้นไม่มีการทำสัญญาใด ๆ โดย ทนายรัชพล แสดงความคิดเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายว่า เรื่องมีหรือไม่มีสัญญานั้น ตนขออธิบายว่า ทางกฎหมาย นั้นไม่จำเป็นจะต้องมีเอกสารสัญญาแต่อย่างใด เพียงแค่คำพูดปากเปล่าหรือข้อความพูดคุยก็สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้ โดยจะต้องมีองค์ประกอบคือ คำเสนอและคำสนอง ซึ่งถ้าหากมีองค์ประกอบดังกล่าวครบ ก็สามารถนำมาอ้างอิงกับศาลได้ ส่วนเรื่องสัมปทานนั้น ตนรู้สึกแปลกใจ เนื่องจากกรณีทั้งหมดนั้น ไม่ได้เข้าข่ายเรียกว่า "สัมปทาน" เนื่องจากเป็นสัญญาธรรมดา คาดว่า คนร้ายอาจอ้างว่าเป็นสัมปทานเพื่อความน่าเชื่อถือมากกว่า ทั้งนี้ ขอฝากย้ำว่า การกระทำสัญญาใด ๆ จำเป็นต้องตรวจสอบให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนทุกครั้งและต้องระมัดระวังตัวเองในการทำสัญญา ต่อมา คุณธนิสร ให้สัมภาษณ์ทางวิดีโอคอล ว่า ในวันเกิดเรื่อง ประมาณ 06.00 น. ตนทำข้าวกล่องทั้งหมดเสร็จแล้ว 9,720 กล่อง เพียงแต่ยังไม่ได้จัดลงถุง ขณะนั้นนางกัญจ์หทัย และอิ๋ว ก็เดินทางมาตรวจสอบคุณภาพของสินค้าด้วยเช่นกัน ปรากฏว่า รถที่จะนำมาขนข้างกล่องนั้นมีแค่ 2 คัน ซึ่งไม่เพียงพอกับข้าวกล่องจำนวน 10,000 กล่อง แต่นางกัญจ์หทัย และอิ๋ว ไม่ยินยอมให้ทยอยขนข้าวกล่องไป และยืนยันว่าจะต้องขนข้าวกล่องทั้งหมดไปภายในครั้งเดียว หลังจากนั้น พบว่าพวกตนทำข้าวกล่องไม่แล้วเสร็จตามเวลาที่ตกลงกันไว้ นางกัญจ์หทัยจึงบอกยกเลิกข้าวกล่องทั้งหมด ขณะนั้นตนกับสามี รู้สึกช็อก ทำอะไรไม่ถูก ส่วนญาติ ๆ ที่มาช่วยกันทำข้าวกล่องก็ร้องไห้ เพราะกลายเป็นว่า สิ่งที่ลงแรงร่วมทำกันมาสูญเปล่าทั้งหมด ทั้งนี้ ตนเสียเงินค่าสัมปทานให้กับนางกัญจ์หทัย และอิ๋ว เป็นจำนวน 122,500 บาท
การบอกเลิกสัญญาการสั่งซื้อข้าวกล่อง
จากกรณีดังกล่าว ทนายรัชพล กล่าวว่า การจะอ้างว่าผิดสัญญาแล้วยกเลิกการสั่งสินค้าทั้งหมดนั้นสามารถทำได้ก็จริง แต่จะต้องพิจารณาว่า เกิดความเสียหายกับผู้สั่งหรือไม่ ขนาดไหน เนื่องจากหากพบว่าผู้ว่าจ้างใช้สิทธิในการยกเลิกสัญญาโดยไม่บริสุทธิ์ใจแล้ว ก็จะถือว่าเป็นการฉ้อโกง รวมถึงหากตรวจสอบไปที่ปลายทางคือโรงงานแล้ว พบว่าไม่มีการทำสัญญา ผู้ว่าจ้างเองก็จะถูกข้อหาฉ้อโกงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ พล.ต.ต.พยูห์ ธนะศรีสืบวงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้แจ้งความคืบหน้าของคดีดังกล่าวว่า จากกรณีของคุณธนิสร ตนตรวจสอบไปที่โรงงานดังกล่าวแล้ว ไม่พบว่ามีการทำสัญญาให้ส่งข้าวกล่องแต่อย่างใด รวมถึงโรงงานดังกล่าวเองก็มีร้านข้าวประจำอยู่แล้ว ขณะนี้ได้แจ้งข้อกับ นางกัญจ์หทัย และอิ๋ว เรียบร้อยแล้ว ในข้อหาฉ้อโกง
คุณยลภัทร์ สันบุรีม ผู้เสียหาย
คุณยลภัทร์ เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ อิ๋วใช้เรื่องไสยศาสตร์เข้ามาหลอกลวงตนเองอีกด้วย คือ อิ๋วให้คนมาดูดวงตน และบอกว่าตนนั้นเหมาะกับการทำสัมปทานจำพวกน้ำดื่ม หากทำแล้วจะเจริญรุ่งเรือง แต่ขอเพียงให้ผ่านพ้นวันเกิดของตนไปก่อน รวมถึงมีเหตุการณ์อีกหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ตนหลงเชื่อกลุ่มคนร้ายดังกล่าว ตนได้รับความเสียหายจากเรื่องดังกล่าวมาก ขณะนี้แม้แต่ผ้าอนามัยตนยังไม่มีเงินซื้อ ข้าวก็ต้องขอคนอื่นกิน เพราะตนทุ่มเงินลงทุนไปจนหมดตัว ชีวิตของตนถอยหลังกลับไม่ได้แล้ว เพราะเงินทั้งหมดอยู่กับอิ๋ว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ