ผู้เสียหายถูก แฮกข้อมูล ดูดเงินในบัญชีธนาคารจำนวนมาก ตำรวจเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

18 ต.ค. 64

กรณี ผู้เสียหายถูก แฮกข้อมูล ดูดเงินในบัญชีธนาคารจำนวนมาก คืนวานนี้ 17 ตุลาคม พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยกรณีมีการแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์มีผู้เสียหายถูกหักเงินจากบัญชีธนาคาร หรือบัตรเดบิต จำนวนหลายครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ สร้างความเสียหายซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชนห้วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์ได้นำประเด็นดังกล่าวไปโพสต์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย เกี่ยวกับมีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวบัญชีธนาคาร บัตรเดบิต โดยมิจฉาชีพจะทำการหักเงินออกจากบัตรเดบิตผ่านเครื่อง EDC หรือเครื่องรูดบัตร แต่ไม่มี SMS แจ้งเตือนไปยังเจ้าของบัตร มีการถอนเงินออกจำนวนหลายครั้งแต่ละครั้งจะถอนเงินจำนวนไม่มาก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยต่อภัยทางสื่อสังคมออนไลน์ที่หลอกลวงสร้างความเสียหายให้กับประชาชน โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้ตอบรับนโยบายรัฐบาล พร้อมกำชับสั่งการให้ทุกหน่วยในสังกัดที่เกี่ยวข้องทำการสืบสวนสอบสวน จับกุม ปราบปราม ภัยทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกรูปแบบ พร้อมขยายผลถึงเครือข่ายของผู้กระทำความผิดตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาด จริงจัง เห็นผลเป็นรูปธรรม

ขอแนะนำให้ผู้เสียหายแจ้งไปยังธนาคาร เพื่อทำการอายัดบัตร และปฎิเสธการชำระเงินค่าบริการทางออนไลน์ และทำการตรวจสอบรายการเดินบัญชี รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถเดินทางไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนในทุกพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนพิสูจน์ทราบถึงตัวผู้กระทำความผิดและนำตัวมาดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว ยังเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทราบว่า ทางสมาคมธนาคารไทยกำลังประสานงานกับธนาคารต่างๆ เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

พร้อมขอแนะนำแนวทางการป้องกันกรณีที่คนร้ายได้ข้อมูลที่อยู่ด้านหน้าบัตร และตัวเลขรหัส 3 ตัวที่อยู่ด้านหลังบัตร คนร้ายจึงสามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์ที่มีมูลค่าไม่สูงได้ โดยไม่ต้องใช้ OTP ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือผ่านทางออนไลน์ที่ต้องแจ้งข้อมูลด้านหน้าบัตร และรหัส 3 ตัวที่อยู่ด้านหลังบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องระวังการหลอกลวงให้กรอกข้อมูลบัตร เพื่อจ่ายเงินค่าภาษีของเว็บไปรษณีย์ไทยปลอม ซึ่งคนร้ายจะทำหน้าเว็บไซต์มีโลโก้ไปรษณีย์ไทยเหมือนของจริง หลีกเลี่ยงการกดลิงค์ที่มีการส่งมาทางอีเมล SMS หรือ สื่อสังคมออนไลน์

หากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ขอให้พิมพ์ชื่อเว็บด้วยตัวเองเพื่อป้องกันเข้าไปสู่เว็บไซต์ปลอมที่มีความแนบเนียนมาก

นอกจากนี้ ยังประชาชนควรนำแผ่นสติ๊กเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร หรือจดรหัส 3 ตัวดังกล่าวเก็บเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสดังกล่าวออกจากด้านหลังบัตร เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน และป้องกันมิจฉาชีพ มิให้แอบถ่ายรูปด้านหน้าและหลังบัตรเพื่อนำไปใช้จ่ายในโลกออนไลน์

ทั้งนี้ประชาชนที่พบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ธปท. - ส.ธนาคาร พบสาเหตุแล้ว บัตรเครดิต บัตรเดบิต มียอดใช้จ่ายโดยที่ลูกค้าไม่ได้ทำธุรกรรมเอง
- เตือนภัย! หลาย บัญชีธนาคารโดนแฮก ถูกตัดเงินรัวๆ ผู้เสียหายร่วมหมื่น
- มิจฉาชีพแฮกบัญชีธนาคารพ่อค้าส้มตำ หลอกคนให้โอนเงิน 2.6 ล้านบาท

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ