สุ่มตรวจ อาหารเจ เนื้อสัตว์เลียนแบบ พบ DNA เนื้อจริง 17.5%

8 ต.ค. 64

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจ อาหารเจ เนื้อสัตว์เลียนแบบ พบ DNA เนื้อจริง 17.5% ผัก-ผลไม้ ปนเปื้อนสารเคมี 23.8%

วันที่ 8 ตุลาคม 2564 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการตรวจเฝ้าระวังอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลกินเจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2564 ได้มีการเฝ้าระวังทั้งปี

โดยแบ่งอาหารเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ อาหารประเภทเส้น และผักผลไม้สดจากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลรวมจำนวน 93 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่า 

  • อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ เช่น เป็ดเจ หมูสามชั้นเจ ลูกชิ้น ปลาเค็ม ไส้กรอก จำนวน 57 ตัวอย่าง ตรวจพบ ดีเอ็นเอ (DNA) ของเนื้อสัตว์ปนเปื้อน จำนวน 10 ตัวอย่าง คิดเป็น 17.5%
  • อาหารประเภทเส้น เช่น วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ จำนวน 15 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบ กรดซอร์บิก ซึ่งไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหารประเภทนี้ แต่ตรวจพบกรดเบนโซอิก จำนวน 9 ตัวอย่าง คิดเป็น 60% ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 304-855 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่มีตัวอย่างใดเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด
    ทั้งนี้กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก เป็นวัตถุกันเสียที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ มีความเป็นพิษต่ำ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอันตรายได้สำหรับผู้แพ้สารนี้ เช่น เกิดผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น
  • ผักและผลไม้สด เช่น คะน้า ขึ้นฉ่าย ถั่วฝักยาว แครอท มะเขือเทศ ส้ม แอปเปิ้ล มันญี่ปุ่น จำนวน 21 ตัวอย่าง ตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในส้มและแอปเปิ้ล จำนวน 5 ตัวอย่าง คิดเป็น 23.8%

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า การกินเจเพื่อให้มีสุขภาพดี ควรรับประทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย ถูกหลักโภชนาการ รับประทานอาหารเจให้หลากหลายชนิด และปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ควรซื้ออาหารมาเก็บไว้นานๆ หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารนั้นควรเก็บไว้ในตู้เย็นและนำมาอุ่นก่อนรับประทาน

823349

สำหรับการรับประทานอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคหรือผู้ปรุงอาหารควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่เชื่อถือได้ และควรมีฉลากระบุสถานที่ผลิต วันเดือนปี และเครื่องหมาย อย.หรือเลขสารระบบอาหารที่ชัดเจน เพราะถ้าแหล่งผลิตไม่ได้มาตรฐานบางครั้งอาจมีส่วนประกอบ เช่น ไข่ นม หรือเนื้อสัตว์ปนเปื้อน ส่วนผักและผลไม้สด ควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนรับประทานหรือนำมาปรุงอาหาร เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคและได้รับความสุขทั้งกายและใจตลอดช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ 

*ภาพปกไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เทศกาล กินเจ 2564 เริ่ม 6 - 14 ต.ค. ผักแพง ยอดใช้จ่ายหดตัว 30-40%
น้ำท่วมเพชรบูรณ์ ทำผักสดราคาพุ่ง! ชาวบ้านปาดเหงื่อซื้อ ขึ้นฉ่าย กิโลกรัมละ 110 บาท
ตลาดสี่มุมเมือง เปิดคลังผัก รับเทศกาลกินเจ แม่ค้าคาดโควิดทำยอดขายลดลง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ