กทม.คาดน้ำขึ้นสูงสุด 10-11 ต.ค.นี้ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมรับสถานการณ์น้ำ

7 ต.ค. 64

กทม.คาดการณ์สภาวะระดับน้ำสูงสุดแม่น้ำเจ้าพระยา หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ น้ำขึ้นสูงสุดวันที่ 10-11 ต.ค.นี้ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมรับสถานการณ์น้ำ

(7 ต.ค. 64) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2564 ผ่านระบบประชุมทางไกล (Teleconference) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารหน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม

ในที่ประชุม สำนักการระบายน้ำได้รายงานสถานการณ์น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน โดยวานนี้ (6 ต.ค.) ปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 3,104 ลบ.ม./วินาที ในวันนี้ 3,051 ลบ.ม./วินาที (ลดลง 53 ลบ.ม./วินาที) คาดการณ์สภาวะระดับน้ำสูงสุดแม่น้ำเจ้าพระยา หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ เดือน ต.ค. 64 น้ำขึ้นเต็มที่สูงสุด 2 วัน คือ วันที่ 10 ต.ค. 64 เวลา 09.19 น. ระดับ 1.19 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) และวันที่ 11 ต.ค. 64 เวลา 20.01 น. ระดับ 1.19 ม.รทก.

243322088_3902977646468494_33

ทั้งนี้ ได้เตรียมพร้อมรับน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุน โดยตรวจสอบจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาคลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาว 78.93 กม. และได้ซ่อมแซม จำนวน 27 จุด เรียงกระสอบทราย ในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันถาวรและบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ ความยาวรวม 2,918 เมตร จากการสำรวจพบว่ามีจุดรั่วซึมบริเวณแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 2 จุด ได้แก่ บริเวณท่าเรือเทเวศร์ และบริเวณศาลเจ้าโรงเกือก ซึ่งสำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการแก้ไขโดยการเรียงกระสอบทราย และติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ ยังเตรียมสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 97 สถานี กำลังสูบรวม 1,238 ลบ.ม./วินาทีให้พร้อมทำงานตลอดเวลา พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำเหนือกับกรมชลประทาน และกำหนดเกณฑ์การร่วมบริหารจัดการน้ำผ่านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และส่งเจ้าหน้าที่ตรวจตราทุกชั่วโมง พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในจุดที่คาดว่าจะมีปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าท่วมพื้นที่

243082540_3896141800485412_55

ด้านการเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำรับสถานการณ์ฝนในพื้นที่ กทม. นั้น มีการเตรียมความพร้อมระบบท่อระบายน้ำ โดยดำเนินการล้างทำความสะอาดท่อ 3,348 กม. แก้ไขเศษวัสดุจากงานก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ 377 จุด เตรียมความพร้อมระบบคลอง ดำเนินการขุดลอกคลอง 130 คลอง ความยาว 270 กม. เก็บขยะผักตบชวา เฉลี่ย 20 ตัน/วัน เปิดทางน้ำไหล 1,528 คลอง 1,601 กม. เตรียมความพร้อมอุโมงค์ระบายน้ำ จำนวน 4 แห่ง รวมทั้งสถานีสูบน้ำ 190 แห่งและบ่อสูบน้ำ 329 แห่ง แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม ปี 63 จาก 14 จุด เหลือ 12 จุด โดยมีโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจะแล้ว เสร็จพร้อมใช้งานในฤดูฝนปีนี้ จำนวน 17 โครงการ ได้แก่ บ่อสูบน้ำ 5 แห่ง Pipe Jacking 1 แห่ง แก้มลิง 2 แห่ง Water bank 2 แห่ง และปรับปรุงสถานีสูบน้ำ 7 แห่ง

243376128_3902977796468479_61

ในส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือฝนมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ทั้งการลอกท่อระบายน้ำ ตรวจสอบท่อระบายน้ำไม่ให้มีขยะหรือเศษวัสดุกีดขวางทางน้ำไหล ทำความสะอาดคูคลองเพื่อเปิดทางน้ำไหลจัดเก็บขยะวัชพืชในพื้นที่ ตรวจสอบประสิทธิภาพของสถานีสูบน้ำ และบ่อสูบน้ำให้พร้อมใช้งานได้ทุกสถานี รวมทั้งได้ลดระดับน้ำตามคูคลองต่าง ๆ เตรียมพร้อมรองรับการระบายน้ำ สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม และสำรองเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ (mobile unit) ในกรณีฉุกเฉินหรือไฟฟ้าดับ อีกทั้งเตรียมกระสอบทรายสำหรับแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน โดยเฉพาะชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาหรือคลองต่างๆ รวมถึงมีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมบูรณาการความร่วมมือป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย

243350769_3902978103135115_74

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้สำนักงานเขตสำรวจจำนวนประชาชน อาคารบ้านเรือน ในชุมชน ที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงประชาชนในชุมชนริมคลองต่างๆ ทั้งที่เป็นชุมชนจัดตั้งหรือไม่ใช่ชุมชนจัดตั้ง และชุมชนอ่อนไหวในพื้นที่ 50 เขต ที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งโดยเร็ว เพื่อเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือ อาทิ การมอบถุงยังชีพ ยารักษาโรค หรือยาป้องกันโรคน้ำกันเท้า เป็นต้น นอกจากนี้ให้มีการตรวจดูแนวคันกั้นน้ำที่เป็นกำแพงอิฐบล็อค ท่าเทียบเรือ ให้มีความมั่นคงแข็งแรง พร้อมทั้งกำชับให้สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขต และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อย่างเต็มที่ และให้มีการจัดเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนในระหว่างฝนตก เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน นอกจากนี้หากคูคลองไหนที่น้ำไม่เน่าเหม็นและมีความเหมาะสม ให้ดำเนินการปรับเป็นแก้มลิงรับน้ำเพิ่มเติม นอกจากนี้ ให้เขตที่รับการจัดสรรงบประมาณในการจัด STOP LOG (แผงกั้นน้ำหรือผนังป้องกันน้ำแบบถอดเก็บได้) เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ