เปิดใจ กลุ่มทำเพลง “ประเทศกูมี” โต้ถูกล้างสมอง ไม่หวั่นถูกจับ คนฟังตัดสินได้ท่อนไหนจริงเท็จ (คลิป)

27 ต.ค. 61
หลังจากที่ กลุ่ม Rap Against Dictatorship ได้ผลิตเพลง “ประเทศกูมี” เป็นเพลงแร็ปที่แต่งและร้อง ซึ่งมีแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยม เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2561 โดยเอ็มวีใช้ฉากหลังจำลองเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้เก้าอี้พับตีร่างของนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีออกนอกประเทศในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
วันที่ 26 ต.ค. 61 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งให้ ตำรวจ ปอท. ตรวจสอบ เนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. หรือไม่ ส่วนคนที่อยู่ในคลิปก็จะต้องเชิญตัวมาให้ปากคำว่ามีเจตนาที่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย หรือขัดคำสั่ง คสช. ด้วยหรือไม่ (อ่าน : “ศรีวราห์” สั่ง ปอท. สอบเพลง “ประเทศกูมี” เสียดสีการเมือง ขัดคำสั่ง คสช. หรือไม่) ต่อมา รองโฆษก ปอท. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบแล้วพบว่า มีลักษณะเนื้อหาเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (อ่าน : ปอท. พบความผิด เนื้อเพลง “ประเทศกูมี” ทำประเทศเสียหาย เตือนคนแชร์ต่อผิดด้วย)
ภาพจากเอ็มวีเพลง ประเทศกูมี
ล่าสุด ฮอว์ค ตัวแทนกลุ่ม Rap Against Dictatorship เปิดเผยว่า ชื่อกลุ่มและชื่อโปรเจกต์ เกิดจากความต้องการที่จะร้องเพลงแร็ป เพื่อต่อต้านระบบเผด็จการ ซึ่งการทำงาน ทีมงานทุกคนมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งทุกคนก็ไม่ได้มีความเห็นทางการเมืองที่ตรงกัน แต่มีความคิดที่ตรงกัน คือการต้านเผด็จการ ซึ่งหลังจากเอ็มวีเพลงถูกเผยแพร่ออกไป คนที่ดูเอ็มวี ก็มีการเอาภาพในเอ็มวี ไปพูดวิพากษ์วิจารณ์และตีความกันต่อ ซึ่งตนคิดว่าผลงานชิ้นนี้สำเร็จในตัวของมันแล้ว ส่วนสาเหตุที่ทีมงานเลือกผลิตเอ็มวีเป็นฉากแขวนคอของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั้น เนื่องจากทีมงานพยายามนำเสนอย้ำเตือนให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะประเทศไทย ที่ถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหาร จึงเลือกเหตุการณ์นี้มาใส่ในเอ็มวี
ภาพจำลองเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในเอ็มวี
ซึ่งหลังเอ็มวีถูกปล่อยออกมาแล้ว ตำรวจจะเอาผิดในเรื่องนำข้อมูลอันเป็นเท็จลงสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น ตนคิดว่าทีมงานได้ทำเพลงวิพากษ์สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งทีมงานก็ไม่รู้ว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นเท็จต่อกลุ่มไหนหรือไม่ เพราะมันเป็นสิ่งที่พูดคุยกันบนโลกออนไลน์ อย่างเช่น เรื่องเสือดำ เรื่องบ้านพักบนอุทยาน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของคนฟัง ที่จะเป็นคนตัดสินว่าเนื้อเพลงท่อนไหนจริง ท่อนไหนเท็จ เพราะบางเรื่องก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จ เพียงแต่พวกเราได้นำเสนอในแบบของพวกเรา ส่วนเรื่องที่มีคนบอกว่า เพลงประเทศกูมี เป็นเพลงล้างสมอง โดยส่วนตัวก็ไม่เข้าใจคนที่พูดว่า ล้างสมอง มีเป้าหมายอะไร เพราะทีมงานของตน มีอุดมการณ์ในการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เพื่อให้การเมืองนั้นดีขึ้น และแสดงให้เห็นว่า ยังมีข้อบกพร่องอยู่ในประเทศไทย และอยากให้มีการพัฒนาต่อไป เพราะทีมงานก็ไม่อยากให้เพลงส่งผลให้เกิดเรื่องในแง่ลบอยู่แล้ว ฮอว์ค กล่าวต่อว่า ทีมงานก็หวังผลตั้งแต่ตอนทำแล้วว่า อยากให้เพลงถูกพูดถึง และมีการหยิบประเด็นภายในเพลงไปพูดคุยกันต่อ สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับคนฟัง ว่าจะตีความว่าเพลงทำลายประเทศชาติ หรือได้ประโยชน์จากเพลงมากน้อยแค่ไหน ขอบคุณภาพจาก YouTube Rap Against Dictatorship

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ