วันนี้ (10 ม.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พบภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดไชโยวรวิหาร ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ต.ไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ซึ่งพระอุโบสถได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ครั้งสำคัญในรัชกาลที่ 5 จนเสร็จเรียบร้อยเมื่อพ.ศ. 2437 สิ่งที่น่าสนใจคือ ช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้วาดภาพให้กรุงกรุงกบิลพัสดุ์ มีโคมไฟฟ้า ตั้งประดับอยู่ด้านหน้าปราสาทที่ประทับของเจ้าชายสิทธัตถะ และด้านนอกกำแพงเมือง

ทั้งนี้เหตุการณ์ในภาพเป็นตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะ ตัดสินพระทัยออกผนวช ซึ่งศิลปินน่าจะต้องการสะท้อนถึงความเจริญและทันสมัยของพระนคร ในสมัยของรัชกาลที่ 5 ที่เริ่มมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรกมาประกอบในภาพวาดดังกล่าว

นอกจากภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ ภายในพระอุโบสถ วัดไชโยวรวิหาร ยังได้สอดแทรกสภาพบ้านเมืองของสยาม สถาปัตยกรรมเเบบตะวันตก ผู้คนต่างชนชาติ ธงช้างเผือกกลางพื้นแดง ทหารถือปืน และการแต่งกายของผู้คนแบบตะวันตก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อีกด้วย

นายบัญชา กล่อมเกลี้ยง ประธานกลุ่มสืบสานศิลปะอ่างทอง อายุ 37 ปี กล่าวว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติภายในพระอุโบสถ วัดไชโยวรวิหาร นั้นสอดแทรกสภาพบ้านเมืองของสยาม และสถาปัตยกรรมเเบบตะวันตก ไว้หลายจุด เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ แต่น่าเสียดาย ที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ ภายในพระอุโบสถ วัดไชโยวรวิหาร เริ่มชำรุดเลือนหายไปตามกาลเวลา