กระทรวงพาณิชย์ เผยสาเหตุ เหล็กแพง เพราะจีนจำกัดส่งออก-ตลาดโลกต้องการเพิ่มขึ้น

14 มิ.ย. 64

กระทรวงพาณิชย์ ชี้เหตุ เหล็กแพง ต้นเหตุมาจากจีนจำกัดการส่งออกและลดกำลังการผลิต เพื่อลดการปล่อยมลพิษ แถมยังมีความต้องการในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ดันดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน มี.ค.เพิ่ม 5.4% คาดไตรมาส 2 ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ตามสัญญาณการก่อสร้างภาครัฐและเอกชน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์ได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่น เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อสเตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ชีตไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ตะปู ข้อต่อเหล็ก และเมทัลชีต เนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวสูงขึ้น เพราะปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง จากนโยบายของรัฐบาลจีนในการจำกัดการส่งออกเหล็กและการลดกำลังการผลิตในประเทศตามแผนแม่บทปี 2564 เพื่อการลดการปล่อยมลพิษ ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการในตลาดโลกสูงขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเริ่มคลี่คลาย

โดยผลจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น ทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น โดยเดือน ก.พ. 2564 เพิ่ม 0.5% จากการเพิ่มขึ้นของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก 0.8% และเดือน มี.ค. 2564 เพิ่มสูงขึ้น 5.4% จากหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่สูงขึ้น 23.7% และยอดรวม 3 เดือนปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 4.4% จากหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เพิ่ม 21.2%

สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสที่ 2 ปี 2564 คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ความต้องการของตลาดและต้นทุนของสินค้าวัสดุก่อสร้างหลายประเภทที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านการก่อสร้างที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ การบริโภคและการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปของไทย รวมถึงยอดการจัดเก็บภาษี ธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างภาครัฐภายในประเทศ การปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และการก่อสร้าง ภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ประกอบกับนโยบาย Made in Thailand ที่ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศ โดยกำหนดให้งานก่อสร้างใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อนเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กทั้งหมด น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศ รวมทั้งความล่าช้าในการกระจายวัคซีนอาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมฟื้นตัวได้ไม่รวดเร็วนัก และยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการก่อสร้างและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สนค.จะติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อขายใน 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา และนครศรีธรรมราช ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก กระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 134 รายการ

advertisement

Powered by Positioning

คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด