รู้จัก "Saudi Vision 2030" โฉมใหม่ในฝันที่ไม่พึ่ง "น้ำมัน" ของ "ซาอุฯ"

26 ม.ค. 65

รู้จัก "Saudi Vision 2030" วิสัยทัศน์ที่นำพาประเทศไปสู่โฉมใหม่ในฝันแบบที่ไม่พึ่งพา "น้ำมัน" ของ "ซาอุดีอาระเบีย"

 

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ประเทศ "ซาอุดีอาระเบีย" ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเดินทางไปเยือนในสัปดาห์นี้ เป็นซาอุฯ ที่กำลังพลิกโฉมเปลี่ยนไปมาก จากที่แรงงานไทยหลายคนเคยไปทำงานเมื่อ 30 ปีก่อน

000_9x44xk

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ซาอุฯ ซึ่งเป็นประเทศมหาเศรษฐีน้ำมันตะวันออกกลาง กำลังจะเปลี่ยนไปสู่รูปแบบ "ความรวยใหม่" ที่ไม่พึ่งพา "น้ำมัน"

 

และหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า อะไรใหม่ๆ ที่ว่านี้ คือส่วนหนึ่งของ วิสัยทัศน์ "Saudi Vision 2030" วิสัยทัศน์ที่จะพาซาอุฯ ออกจากบ่อน้ำมันกลางทะเลทราย ไปสู่ซิลิคอนวัลเลย์และโลกแห่งเศรษฐกิจดิจิทัลยุคใหม่

 


ทีมข่าว SPOTLIGHT จะพาไปรู้จักซาอุฯ โฉมใหม่ ดังนี้

 


Saudi Vision 2030 คืออะไร

 

       Saudi Vision 2030 คือวิสัยทัศน์ที่จะนำพาซาอุดีอาระเบียไปสู่อนาคตใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่แกนหลักเลยคือ "ลดการพึ่งพาน้ำมัน และเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ" ซึ่งมกุฏราชกุมาร มุฮัมหมัด บิน ซัลมาน (MBS) ประกาศเป็นครั้งแรกในปี 2016

       เพราะซาอุฯ รู้ดีว่า เศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันเป็นหลักนั้นมีความเสี่ยงหลายด้าน หลักๆ คือ 3 ด้านด้วยกันคือ

  1. "น้ำมันเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป" - เศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันอย่างเดียวจึงเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน และจะทำให้ประเทศในอนาคตอีก 10 - 20 ปีต้องเสี่ยงตามไปด้วย

    000_nic208828
  2. "ความเสี่ยงด้านราคาโลกที่ผันผวน" - ถ้าเราดูกราฟราคาน้ำมันโลก 20 ปี จะเห็นว่าโลกเคยเกิดสถานการณ์ Oil Crash หรือราคาน้ำมันที่ร่วงลงชนิดดิ่งเหวมาประมาณ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือช่วงวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐปี 2009 หรือแฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส ที่มีผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ และครั้งที่สอง คือช่วงปี 2014 - 2016 ที่ราคาน้ำมันโลกดิ่งลงถึง 70% จากปัจจัยซัพพลายล้นตลาด เพราะการแข่งขันของอุตสาหกรรมหินน้ำมัน (Shale Oil) ในสหรัฐ สถานการณ์ราคาที่ผันผวนแบบนี้จึงกระทบหนักต่อซาอุฯ ที่พึ่งพารายได้ของอุตสาหกรรมน้ำมันถึง 87% ของรายได้ประเทศ และส่งออกน้ำมันถึง 90% ของสัดส่วนการส่งออกทั้งหมด

  3. "น้ำมันอาจหมดความสำคัญก่อน" เพราะก่อนที่ปริมาณน้ำมันจะหมดไปตามข้อ 1 น้ำมันอาจจะถูดลดความสำคัญลงก่อน จนราคาปรับตัวลงตาม โดยมีปัจจัยหลายเรื่อง ตั้งแต่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โรคโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางทั่วโลกลดลง และการปรับตัวสู่พลังงานสะอาดในยุคที่ทั่วโลกถูกกดดันด้วยเทรนด์รักษ์โลก


จะเห็นได้ว่าปัจจัยเรื่องน้ำมัน คือแรงกดดันหลักที่ทำให้ซาอุฯ ต้องเปลี่ยนเพื่อรอด นำไปสู่วิสัยทัศน์ Saudi Vision 2030 ที่เปิดตัวในปี 2016 เพื่อให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมี 3 เสาหลักคือ

  • การสร้างสังคมที่มีชีวิตชีวา (Vibrant Society) ทั้งวิถีชีวิตแบบเมือง วัฒนธรรม ความบันเทิง และกีฬา

  • เศรษฐกิจเฟื่องฟู (Thriving Economy) การจ้างงาน สนับสนุนผู้หญิงทำงาน ความสามารถในการแข่งขันระดับสากล การลงทุนสาธารณะ การลงทุนจากต่างประเทศ และการส่งออกสินค้าอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน

  • เป็นชาติที่ทะเยอทะยาน (Ambitious Nation) พึ่งพารายได้ที่ไม่ใช่น้ำมัน รัฐบาลทำงานมีประสิทธิภาพ สร้างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-government) ประชากรมีคุณภาพ มีบทบาทสำคัญต่อสังคม

000_9y8bw
การดำเนินการตาม Saudi Vision 2030 จะแบ่งการทำงานเป็นหลายด้าน และหลายระยะ เช่น โครงการเปลี่ยนผ่านแห่งชาติ ที่ดำเนินการโดยสภาพัฒน์ฯ ของซาอุฯ เป็นหนึ่งในโครงการเฟสแรกระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2016 - 2020 โดยมีผลงานสำคัญคือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจน้ำมัน "ซาอุดี อรามโก" (บางส่วน) นอกจากนี้ ก็ยังมีการดำเนินโครงการต่างๆ แต่ที่เป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก เห็นจะเป็นโปรเจกต์ด้าน "สิทธิสตรี" กับการไฟเขียวให้ผู้หญิงสามารถขับรถได้เองเป็นครั้งแรกในปี 2018 และการอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าชมการแข่งกีฬาในสนามได้

 


ฝันไกลที่ยังไปได้ไม่ถึงครึ่งทาง

       ในช่วงแรกนั้น วิสัยทัศน์ Saudi Vision 2030 ได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวกค่อนข้างดี เพราะหากซาอุฯ จะเปลี่ยนผ่านประเทศครั้งใหญ่เช่นนี้ ก็จำเป็นต้องมีการปฏิรูปหลายด้านที่ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำมันและเศรษฐกิจ แต่ต้องรวมถึงสังคมและการเมืองการปกครองด้วย เพื่อปรับโฉมประเทศให้ทันสมัย เปิดรับโลก และสามารถดึงดูดการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวจากต่างชาติได้ เราจึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทางสังคม เช่น เรื่องสิทธิสตรี แต่การให้ผู้หญิงขับรถได้หรือชมการแข่งขันกีฬาได้นั้น ก็ยังถูกมองว่าเป็นเพียง "กิมมิค" ที่แค่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ แต่ไม่ได้มีการปฏิรูปจริงจัง

000_16i94i

       เพราะในช่วงหลายปีมานี้ ซาอุฯ เองก็เกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่มากระทบแผนการปฏิรูป และสั่นคลอนความเชื่อมั่น ตั้งแต่เรื่องสเกลเล็กๆ อย่างผู้หญิงที่หนีการคลุมถุงชนแต่งงานมาติด ตม. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ไปจนถึงเรื่องที่สเกลใหญ่ขึ้น เช่น การเป็นผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่จากสหรัฐ และการมีบทบาทในสงครามกลางเมืองที่เยเมน ก็ทำให้ซาอุฯ ถูกตั้งแง่และถูกกีดกันไปจากการลงทุนในโลกเทคโนโลยี ที่ซิลิคอนวัลลีย์ สหรัฐ ไปด้วย

       แต่เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่ที่สุด และสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่สุดก็คือ ประเด็นการอุ้มฆ่านักข่าว "จามาล คาช็อกจี" เมื่อปี 2018 ซึ่งผลการสอบโยงไปถึงคนรอบตัวของ มกุฏราชกุมาร มุฮัมหมัด บิน ซัลมาน เรื่องนี้นับว่าสั่นสะเทือนความเชื่อมั่นต่อซาอุฯ และแผนปฎิรูปประเทศมากที่สุด สะเทือนไปจนถึงกองทุน Vision Fund ของบริษัทซอฟต์แบงก์ (Softbank) จากญี่ปุ่น ที่ไปลงทุนด้านเทคโนโลยีทั่วโลกโดยมีซาอุฯ เป็นนักลงทุนรายใหญ่ผ่านกองทุนนี้

       และทั้งหมดนี้จึงยังทำให้ Saudi Vision 2030 เป็นวิสัยทัศน์ระยะไกลที่ยังต้องรอการพิสูจน์ความสำเร็จอีกยาว

advertisement

Powered by อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ข่าวยอดนิยม