Bitkub Zipmex จ่อเจรจาสรรพากร เคลียร์ให้ชัดภาษีคริปโต!

8 ม.ค. 65

หลังจากเป็นประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการที่กรมสรรพากร ออกมาชี้แจงการเก็บภาษีจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยในทางปฏิบัติ ล่าสุดศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเจ้าใหญ่ในไทย 2 แห่งคือ Bitkub และ  Zipmex  ออกมาเสนอตัวพร้อมเข้าไปพูดคุยกับกรมสรรพากรเพื่อสะท้อนปัญหาและหาทางออกในเรื่องนี้

 

8 ม.ค.65 โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา CEO ของ Bitkub ได้โพสข้อความผ่าน Facebookว่า

“ผมและทีมงานได้สร้างแบบฟอร์มรับความคิดเห็นขึ้นมาตามลิ้งค์ข้างล่างนี้ สามารถกรอกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาได้เลยนะครับ ผมและทีมงานจะนำข้อเสนอแนะจากทุกท่านเพื่อที่จะเป็นตัวแทนไปหารือแนวทางร่วมกับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไปครับ” โดยในโพสมีรูปที่เป็นข้อความว่า

"ผมเข้าใจในความกังวลเกี่ยวกับประเด็นภาษีของทุกคนครับ ร่วมช่วยกันแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดด้เลยครับ"

ขณะที่มีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ตัวอย่างบางความเห็นบอกว่า

"Exchange ที่ถูกกฏหมายในประเทศไทย ควรรวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้ประกอบการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล สกุลเงินดิจิทัลและโทเคน แล้วเป็นผู้ที่เข้าไปหารือกับรัฐบาลอย่างเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะจะมีพลังหารือต่อรองกับภาครัฐอย่างมีเหตุผล อย่าต่างคนต่างทำดีกว่าครับ พลังมันน้อย ส่วนจะมีสัดส่วนใรการคิดคำนวณภาษี ก็ต้องหารืออย่างสร้างสรรกับรัฐบาล เพื่อประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งในปัจจุบันและอนาคตครับ 1.5 , 2.5 หรือ 5% ก็เป็นแนวทางทีดีทั้งนั้น คำนวณจากอะไร? มีลดหย่อนหักได้หรือไม่?  นักลงทุนทุกคนอยากทำให้มันถูกต้องอยู่แล้วครับ”

 

"ภาษีควรนับจาก เงินเข้า เงินออก รายปี หัก2.5%สำหรับกำไร "

 

"คนที่ตายคือนักเทรด แล้วถ้านักเทรดตาย คนที่ตายคือ Exchange ฝากไว้ให้คิดครับ"

 

196502

อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่ทาง Bitkub จะออกมาเสนอตัวพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทาง Zipmex ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับ 2 ไทย เคยออกมาเรียกร้องในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งซิปเม็กซ์ Zipmex  ประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า จะขอเสนอตัวเป็นปากเป็นเสียงและเป็นตัวแทนของลูกค้า นักลงทุน และวงการสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เข้าไปพูดคุยกับกรมสรรพากรเพื่อสะท้อนความรู้สึกของนักลงทุนที่มีต่อวิธีการจัดเก็บภาษีคริปโต รวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่อกรมสรรพากร เพราะเสียงตอบรับจากนักลงทุนในเชิงไม่เห็นด้วยค่อนข้างมาก แม้การเก็บภาษีจะไม่ใช่เรื่องผิด แต่ภาครัฐควรมีความชัดเจนว่าจะมองคริปโตเป็นสินค้าหรือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล เหมือนเช่นการจัดเก็บภาษีคริปโตในต่างประเทศ

 

ดร.เอกลาภ บอกว่า

"การจัดเก็บภาษีคริปโตในต่างประเทศไม่ค่อยมีประเทศใดที่มองคริปโตเป็นสินค้าที่ต้องหักภาษี อาจมีอินโดนีเซียที่มองเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ประเทศส่วนมากจะมองเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสกุลเงินไปเลย  โดยสิงคโปร์ปัจจุบันไม่มีการเก็บภาษีทั้งส่วนที่ Capital Gain Tax และ Withholding Tax เว้นแต่กรณีที่เป็น Security Token จึงจะตีความว่าเป็นหลักทรัพย์ที่ต้องเสียภาษี ส่วนในออสเตรเลียและสหรัฐฯ แม้จะมี Capital Gain Tax แต่ถ้าผู้ลงทุนถือครองคริปโตมากกว่า 12 เดือน สามารถหักเป็นส่วนลดได้ 50% และยังนำส่วนที่ขาดทุนมาหักลบได้ด้วย ซึ่งต่างจากไทยที่นับแต่กำไร"

หลังจากนี้คงต้องติดตามดูกันต่อไป เพราะการให้สัมภาษณ์ของคุณสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษีในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ก่อนหน้านี้ระบุวิธีการยื่นภาษีว่า ให้นับรวมเฉพาะกำไรเท่านั้นไม่นับการขาดทุน โดยกำไรนั้นต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และต้องนำกำไรนั้นไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย  และขณะนี้กำลังรวบรวมข้อสงสัยของประชาชน เพื่อทำเป็น Q&A ลงในเว็บไซต์ของกรมสรรพากรภายในเดือนนี้ด้วยเพื่อทำให้ประชาชนมีความเข้าใจในการยื่นแบบภาษีมากยิ่งขึ้น

ขณะที่บรรดาความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี ต่างก็มองว่า ประเด็นเรื่องการจัดเก็บภาษีคริปโต เป็นเรื่องใหม่ กฎหมายภาษีที่ไทยใช้อยู่อาจจะยังไม่ทันกับเทคโนโลยีทางการเงินที่ซับซ้อน จึงยากต่อการปฏิบัติจริง และมีการประเมินว่า อาจมีผลกระทบให้นักลงทุนย้ายไปลงทุนในกระดานต่างประเทศแทน ซึ่งผลรวมแล้วอาจไม่ใช่ผลดีต่อวงการสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายของประเทศด้วยว่า มองประเด็นเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยไว้อย่างไรต่อไป ซึ่งก็จะส่งต่อมาที่นโยบายนั่นเอง    

 

 

 

advertisement

Powered by อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ข่าวยอดนิยม