ธุรกิจ Food Delivery โตต่อ! อานิสงค์จากโควิด19

8 ธ.ค. 64

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย อานิสงค์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนทำให้มูลค่าตลาดของการสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก (ฟู้ดดิลิเวอรี่) ในปี 2564 เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึงกว่า 46.4% ขณะที่ในปี 2565 เริ่มโตแบบชะลอตัวลง

 

การระบาดของโควิด-19 มาตรการจำกัดการให้บริการร้านอาหาร และนโยบายการให้พนักงานทำงานที่พัก (Work from Home) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความคุ้นชินกับการใช้แอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พัก และมาตรการคนละครึ่งของภาครัฐ ทำให้ทั้งปี 2564 มูลค่าตลาดของการสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก Food Delivery  เติบโตกว่า 46.4% เทียบปี 2563 

 

สำหรับแนวโน้มในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมวลข้อมูลจากความร่วมมือของ LINE MAN Wongnaiและข้อมูลในตลาด โดยมีมุมมอง ดังนี้

 

ทิศทางตลาดการสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก Food Delivery ปี 2565 คาดว่า จะปรับขึ้นจากการที่ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พักจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดต่อเนื่อง พร้อมขยายฐานร้านค้าและกลุ่มลูกค้าใหม่ไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น และความคุ้นชินของผู้บริโภค ส่งผลให้ดัชนีจำนวนครั้งในการสั่งอาหารของผู้บริโภคในปี 2565 จะอยู่ที่ 477 (ฐาน 100 ที่ปี 2561) เพิ่มขึ้น 2.9% ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2564

 

ส่วนราคาหรือยอดสั่งอาหารต่อครั้งในปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ในอัตราที่จำกัด  เป็น 193 บาท เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 190 บาท  โดยการเพิ่มขึ้นเป็นผลหลักจากการปรับตัวขึ้นของต้นทุนของร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนวัตถุดิบอาหาร ต้นทุนแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโควิดที่ยังมีต่อเนื่อง

 

ขณะที่ความหลากหลายและจำนวนร้านอาหารสะสมที่เข้าร่วมในแพลตฟอร์มที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการรุกขยายไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม จากเดิมที่ก็สูงอยู่แล้ว จะทำให้การแข่งขันในตลาดยังมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

มูลค่าตลาด Food Delivery จะยังเติบโตต่อเนื่องในระดับที่ชะลอลง จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการสั่งและราคาดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดการสั่งอาหารยังที่พักในปี 2565  จะมีมูลค่าประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 4.5% ชะลอลงจากฐานที่เร่งตัวสูงในปี 2564 ที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ Omicron มีการระบาดรุนแรง ตลาดการจัดส่งอาหารไปยังที่พักน่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นกว่าคาด นอกจากนี้ยังคาดว่ากลุ่มร้านอาหารที่มีโอกาสเติบโตได้มากกว่าภาพรวม ได้แก่ ร้านอาหาร Limited Service (เช่น เบอร์เกอร์ พิซซ่า ไก่ทอด เป็นต้น) และ Street food ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พักให้ความสำคัญในการทำการตลาดและขยายพอร์ทร้านอาหารบนแพลตฟอร์มของตน

 

สำหรับในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 นี้เป็นช่วงที่ธุรกิจเติบโตสูงมาก เพราะสถานการณ์โควิดกลับมาระบาดรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจสมัครใช้บริการแอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พักเร่งตัวขึ้นกว่า 60.9% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะเดียวกันทางฝั่งของผู้บริโภค ดัชนีจำนวนผู้ลงทะเบียนสะสมในเดือน ก.ย.64 เพิ่มขึ้นกว่า 110% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.63 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิดในประเทศ

 

advertisement

Powered by อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ข่าวยอดนิยม