กลุ่มนิคมฯขานรับ”เปิดประเทศ” จีนขาดพลังงาน-สงครามการค้า หนุนยอดขายที่ดินปีหน้ากระฉูด

25 ต.ค. 64

นโยบายเปิดประเทศของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ยกเลิกการกักตัวสำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย โดยจะต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศมาจากประเทศที่ถูกจัดเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ 46 ประเทศ และมีหลักฐานปลอดเชื้อโควิด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป แม้ว่าการเปิดประเทศครั้งนี้มีความเสี่ยงที่จะเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ โควิด-19 มากขึ้น แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ต้องยอมรับและต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ เพื่อช่วยภาคการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องหลังเดือดร้อนมานาน



นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ( WHA ) กล่าวว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐมีนโยบายเปิดประเทศ ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากแสดงเจตจำนงพร้อมที่จะเดินทางมาไทยเพื่อลงทุนทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างเด่นชัดในปีหน้า ขณะที่ยอดการขายที่ดินนิคมฯจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

โดยเมื่อเร็วๆนี้ บริษัทได้ขายที่ดินในนิคมฯเพิ่มขึ้น 400กว่าไร่ให้กับลูกค้า 2 ราย ขณะที่กลุ่มทุนทั้งจีน ไต้หวัน และประเทศในโซนยุโรปก็ติดต่อเข้ามาเพื่อซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ

การเปิดประเทศช่วงเวลานี้เป็นจังหวะที่นักลงทุนต่างชาติต้องการย้ายฐานจากจีนเข้ามาลงทุนในไทยมาก สืบเนื่องจากขณะนี้จีนมีปัญหาการขาดแคลนพลังงานจนต้องจำกัดหรือแบ่งการใช้ไฟฟ้า เป็นผลสืบเนื่องจากจีนต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ถ่านหิน ดังนั้นในอนาคตต้นทุนค่าพลังงานของจีนจะแพงขึ้น ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้กลุ่มทุนจีนและประเทศอื่นๆย้ายฐานการผลิตมายังไทยและเวียดนาม ขณะที่ปัจจัยสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ยังเป็นตัวกดดันทำให้มีการเคลื่อนย้ายฐานทุนจากจีนอยู่

อุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนในนิคมฯดับบลิวเอชเอ มีทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ คอนซูมเมอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นเกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากจีนที่เพิ่งเปิดตัวรถอีวีในไทย
นางสาวจรีพร กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทคงเป้าหมายการขายที่ดินในนิคมฯไว้ที่ 820ไร่ แบ่งเป็นการขายที่ดินในไทย 750ไร่และเวียดนาม 70 ไร่ ปรับลดลงจากต้นปีนี้ที่เคยตั้งเป้าการขายที่นิคมฯไว้ 1,030 ไร่ สาเหตุที่ปรับลดเป้าหมายลงมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เวียดนามทำให้มีการล็อกดาวน์ประเทศ ส่งผลต่อการส่งมอบที่ดินเพื่อพัฒนานิคมฯดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล -เหงะอาน เฟส 2 ล่าช้าไป ดังนั้นบริษัทจึงได้ลดเป้าการขายที่ดินในเวียดนามปีนี้ลงจากเดิม 300 ไร่เหลือเพียง 70ไร่ แต่เพิ่มเป้าหมายการขายที่ดินนิคมฯในไทยขึ้นจาก 720 ไร่ เป็น750ไร่ ซึ่งเมื่อมีการเปิดประเทศคาดว่ายอดขายที่ดินในไทยอาจสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ก็ถือเป็นโบนัส

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19ที่เวียดนามดีขึ้นแล้ว โดยเมืองเหงะอานที่บริษัทเข้าไปลงทุนได้เริ่มเปิดเมืองแล้ว มั่นใจว่าปี2565 จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่นิคมฯ เฟส2ได้
WHAตั้งงบลงทุนปี65แตะ1หมื่นล.

ดังนั้น ปี2565 WHA มีความมั่นใจว่ายอดขายที่ดินในนิคมฯทั้งไทยและเวียดนามเพิ่มมากกว่าปีนี้แน่นอน ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการทำแผนแต่เชื่อมั่นว่าน่าจะเพิ่มได้20-30 %

ส่วนงบลงทุนใน2565 อาจแตะ 1 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่บริษัทได้ปรับลดงบลงทุนลงมาเหลือเพียง 6 พันล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 9 พันล้านบาท เนื่องจากปี2565 บริษัทจะใช้เงินในการพัฒนาที่ดินในนิคมฯแห่งใหม่ทั้งในไทยและเวียดนาม รวมทั้งใช้ในธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานด้วย

ปัจจุบันบริษัทมีแลนด์แบงก์ในไทยราว 1 หมื่นไร่ ส่วนเวียดนามมีแลนด์แบงก์ประมาณ 2 หมื่นไร่ที่รัฐบาลเวียดนามให้สิทธิบริษัทในการพัฒนานิคมฯซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอการส่งมอบพื้นที่ คาดว่าปีหน้าWHAจะเข้าไปพัฒนานิคมฯดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล -เหงะอาน เฟส2 ส่วนอีก 2 นิคมฯใหม่ คือ WHA Smart Technology Industrial Zone - Thanh Hoa และโครงการ WHA Northern Industrial Zone ในจังหวัดถั่งหัว ก็อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตต่างๆ คาดว่าปี2565 จะเรียบร้อย และจะเปิดขายพื้นที่ได้ในปีถัดไป

สำหรับผลดำเนินงานในปี2564 WHAมั่นใจมีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติจะสูงเป็นประวัติการณ์ ด้วยอัตราการเติบโตกว่า 30 %จากปีก่อน โดยที่ยังคงระดับความสามารถในการทำกำไรสูงด้วยกำไรจากการดำเนินการก่อนหักค่าใช้จ่าย (EBITDA) มากกว่า 40 % เป็นผลจากไตรมาส4 นี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากการโอนที่ดินที่มากขึ้นและมีกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART)

ปัจจุบัน WHAมีนิคมฯทั้งสิ้น 12 แห่ง โดยตั้งอยู่ในประเทศไทย 11 แห่ง และเวียดนามอีก 1 แห่ง นอกจากนี้ ยังกำลังพัฒนานิคมฯแห่งใหม่เพิ่มอีก 3 โครงการในไทย และอีก 2 โครงการในเวียดนาม โดยนิคมฯดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง (WHA IER) พื้นที่ 1,498ไร่ ได้รับการอนุมัติให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจากอีอีซี คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้หรือต้นปีหน้า รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์
AMATAเร่งโอนที่ดินดันเป้าขายปีนี้650ไร่

ด้านบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)(AMATA) ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ยอดขายที่ดินในนิคมฯทั้งไทยและเวียดนามไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ล่าสุด บริษัทตัดสินใจหั่นเป้าหมายยอดขายที่ดินในประเทศไทยปีนี้ลงเหลือ 650 ไร่จากเดิมที่ตั้งไว้ 950 ไร่ แบ่งเป็นการขายที่ดินในนิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรี ลดเหลือ 100 ไร่ และนิคมฯ อมตะไทย-จีน 100 ไร่ แต่ยังคงเป้าหมายการขายที่ดินในนิคมฯ อมตะซิตี้ ระยองไว้เท่าเดิมที่ 450 ไร่

ปัจจุบันบริษัทมียอดขายที่ดิน(Pre-Land Sale)ราว 443 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินที่ขายได้แล้วในครึ่งปีแรก 343 ไร่ มาจากการขายที่เวียดนาม 212ไร่และไทย131ไร่ แต่ดำเนินการโอนไปแล้วเพียง 68ไร่ ขณะเดียวกันลูกค้าส่งเอกสารยืนยันการซื้อที่ดินมาแล้วกว่า 100 ไร่ ทำให้มียอดขายรอโอน(backlog)อยู่ที่ 2,051 ล้านบาท คาดว่าจะโอนในปีนี้ได้ราว 50-60% ส่วนการขายที่ดินในนิคมฯที่ประเทศเวียดนาม 212 ไร่นั้น คาดว่าจะทยอยโอนเพื่อรับรู้รายได้ในปี2564

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (AMATA )กล่าวว่า บริษัทคาดยอดขายที่ดินและเช่าที่ดินในครึ่งหลังปี2564 จะดีขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมนั้นยืนยันว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นในนิคมฯอมตะชลบุรี และนิคมฯอมตะระยอง เป็นไปได้ยากเพราะที่นิคมฯอมตะชลบุรีมีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่ระบายลงสู่ทะเล ส่วนนิคมฯอมตะระยองมีพื้นที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก

โดยบริษัทมั่นใจว่าการขายที่ดินจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้ว่าในครึ่งปีแรกนี้ บริษัทดำเนินการโอนที่ดินนิคมฯในไทยไปแล้วเพียง 68 ไร่ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้โอนไป 187ไร่ ก็ตาม
ROJNAโดดชิมลางธุรกิจกัญชง

บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (ROJNA) ได้แตกไลน์การลงทุนธุรกิจใหม่ ล่าสุดโดดเข้าลงทุนในธุรกิจกัญชง โดยบริษัทฯใช้เงินราว 51ล้านบาทเพื่อเข้าถือหุ้น51%ในบริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ จำกัด

นายคณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์ในการแสวงหาโอกาสการลงทุนธุรกิจใหม่เพื่อสร้างความมั่นคงธุรกิจและผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น จึงเป็นเหตุผลในการตัดสินใจร่วมทุนกับบริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีใบอนุญาตครบวงจรในการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ ปลูก ผลิต จำหน่ายสารสกัด CBD จากกัญชง โดยเป็นเพียงรายเดียวที่ได้ใบอนุญาตส่งออก และมีกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

ล่าสุด คณะกรรมการบริษัทฯได้อนุมัติเงินลงทุน เฟสแรกจำนวน 250 ล้านบาทเพื่อขยายกำลังการผลิตสารสกัด CBD 9ตันต่อปี รองรับความต้องการของตลาดที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีกในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งบริษัทมีแผนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และกลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ฯลฯ บริษัทคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้จากธุรกิจกัญชงตั้งแต่ปี 2565 ตั้งเป้าปีละ 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 6 แห่ง และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 1 แห่งตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ราว 1.6 หมื่นไร่เพียงพอรองรับการลงทุนได้เพียง 5ปีเท่านั้น

ซึ่งการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรมรูปแบบนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5 แห่ง เป็นของROJNAถึง 2โครงการ คือ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 698 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 1,501 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ ซึ่งนิคมฯทั้ง 2 แห่งนี้จะสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้บริษัทในอนาคต

ดังนั้นในปีหน้าจะเห็นการเติบโตของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมอย่างมีนัยะจากนโยบายเปิดประเทศ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และเป็นด่านหน้าในการดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

advertisement

Powered by Positioning

คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด