บอร์ด รฟม. ตั้ง กก.มาตรา 36 สีส้มแทนที่ลาออกแล้ว จับตา 5 พ.ค.ศาลอาญาทุจริตนัดฟัง “บีทีเอส” ฟ้อง

14 มิ.ย. 64

บอร์ด รฟม. เห็นชอบตั้งคณะกก.มาตรา 36 รถไฟฟ้าสีส้ม แทนผู้ทรงคุณวุฒิที่ลาออก 2 คนแล้ว พร้อมเดินหน้าประมูลใหม่ ขณะที่ 5 พ.ค.ศาลอาญาทุจริตฯนัดฟังคำสั่ง และเตรียมส่งเอกสารคดี “บีทีเอส” ฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลปกครอง มั่นใจทำตามกฎหมายและประกาศ PPP

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ได้มีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท จำนวน 2 คน ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายไกร ตั้งสง่า (อดีตบอร์ด รฟม.) และนายนพดล เพียรเวช จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ซึ่งเป็นการแต่งตั้งแทนกรรมการที่ลาออก คือ นายอัฌษไธค์รัตนดิลก ณ ภูเก็ต และนายวิทยา ยาม่วง ส่วนกรรมการที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงบประมาณนั้น หน่วยงานจะส่งรายชื่อผู้แทนใหม่เนื่องจากมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เช่น ผู้แทน สคร. คือ นางนัทีวรรณ สีมาเงิน รองผู้อํานวยการ สคร. จะเป็นผู้แทน สคร.แทน นายประภาส คงเอียด อดีตผอ.สคร.ที่โยกย้ายไปเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการมาตรา 36 ประชุมไม่ได้เพราะมีกรรมการผู้แทนหน่วยงานที่ต้องรอการแต่งตั้งโยกย้ายเรียบร้อยก่อน รวมถึงตั้งกรรมการแทนที่ลาออก แต่ขณะนี้ถือว่าคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 62 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครบสมบูรณ์แล้ว ส่วนจะมีการประชุมเมื่อใดนั้นอยู่ที่คณะกรรมการฯ ซึ่งคงต้องประเมินเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วย

นอกจากนี้ รฟม.ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต่อที่ประชุมบอร์ด รฟม. และชี้แจงถึงกรณีที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) ได้ยื่นฟ้อง และมีหนังสือร้องเรียนไปที่ประธานบอร์ด รฟม.ด้วยว่า กรณีมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ และต่อมามีการยกเลิก และเริ่มการคัดเลือกใหม่นั้น รฟม.ดำเนินการโดยมีประกาศของคณะกรรมการ PPP รองรับ ซึ่งเมื่อ รฟม.ยื่นศาลปกครองสูงสุดขอถอนอุทธรณ์ โดยศาลอนุญาตและจำหน่ายคดีที่บีทีเอสฟ้องแล้ว แต่เนื่องจากบีทีเอสมีการยื่นศาลปกครองฟ้องเพิ่มประเด็นค่าเสียหาย 5 แสนบาทกับ รฟม. ซึ่งรฟม.ศาลมีคำสั่งให้ รฟม.ส่งเอกสาร โดยจะครบกำหนดในวันที่ 5 พ.ค. 2564

ส่วนที่บีทีเอสยื่นคำฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กล่าวหาคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 และผู้ว่าฯ รฟม.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนใน RFP ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บีทีเอสเสียหายนั้น ก่อนหน้านี้ รฟม.ได้ส่งเอกสารตามคำสั่งศาลเรียบร้อยแล้ว โดยศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 5 พ.ค. 2564

“บอร์ด รฟม.ได้สอบถามถึงคดีที่ทางบีทีเอสยังฟ้องร้องอยู่ ซึ่ง รฟม.ได้ชี้แจงว่าได้ดำเนินการครบถ้วนตามกฎหมายและ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ รวมถึงกฎหมายลูกตามประกาศคณะกรรมการ PPP อีกทั้งมีผู้แทนจากอัยการสูงสุด สคร.เป็นคณะกรรมการมาตรา 36 ช่วยพิจารณาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงมั่นใจว่าการดำเนินการที่ผ่านมามีกฎหมายและระเบียบรองรับครบถ้วนถูกต้อง”

อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยหลายอย่างที่ผ่านมาส่งผลให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความล่าช้าไปจากแผนเดิม โดย รฟม.จะมีการปรับไทม์ไลน์การดำเนินโครงการใหม่

advertisement

Powered by Positioning

คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด