ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทั้งเงินฝากและเงินกู้ ผู้ออมเงิน และนักลงทุนต่างแสวงหาอัตราผลตอบแทนที่สูง ซึ่งช่องทางการสร้างผลตอบแทนมีทั้งรูปแบบการลงทุนในหุ้น ซึ่งขณะนี้ยังมีความผันผวนจากสถานการณ์ทางเมือง ที่วันนี้จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หุ้นกู้ และพันธบัตรรัฐบาล
วันนี้ SPOTLIGHT จะมาแนะนำอีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงถึง 6.6% เลยทีเดียว นั่นคือ
พันธบัตรสกุลเงินบาทในประเทศไทย (บาทบอนด์) ของกระทรวงการคลัง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Ministry of Finance of Lao PDR: MOFL) วงเงินรวมไม่เกิน 3,610.3 ล้านบาท ชูดอกเบี้ย 6.1-6.6 % จ่ายอัตราดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จำนวน 2 ชุด เปิดจองซื้อวันที่ 31 ก.ค.และ 2 - 3 ส.ค. 2566 นี้
เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจเต็มสูบ ด้วยโครงการโรงไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม และการส่งออก เพื่อยกระดับเศรษฐกิจสู่ความอย่างยั่งยืนในอนาคตตามเป้าหมายที่วางไว้
โดยกระทรวงการคลัง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เตรียมเสนอขายพันธบัตร ครั้งที่ 1/2566
เป็นพันธบัตรชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือพันธบัตร รวมจำนวน 2 ชุด ในรูปแบบสกุลเงินบาทไทย วงเงินรวมไม่เกิน 3,610.3 ล้านบาท
พันธบัตร ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.1% ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2569
พันธบัตร ชุดที่ 2 อายุ 4 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.6% ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2570 กำหนดการชำระดอกเบี้ย ทุกๆ 3 เดือน
ผู้จัดการการจัดจำหน่ายพันธบัตรสกุลเงินบาทในประเทศไทย ได้แก่
- บริษัท หลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
- บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน)
- บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จํากัด (มหาชน)
- บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)
- บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน)
เสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท จองขั้นต่ำ 100 หน่วย ให้กับผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) และผู้ลงทุนสถาบัน (II)
วัตถุประสงค์การเสนอขายบาทบอนด์ครั้งนี้ เพื่อต้องการนำเงินที่ได้ไปใช้รีไฟแนนซ์พันธบัตรชุดเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2566
“มั่นใจว่าพันธบัตรของกระทรวงการคลัง แห่งสปป.ลาว น่าจะได้รับ การตอบรับที่ดีจากกลุ่มนักลงทุนไทยที่เชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของสปป.ลาว ตั้งแต่ปี 2556 ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนไทยเป็นอย่างดีต่อเนื่องมายาวนาน ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระกับนักลงทุน สามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามเงื่อนไข” ท่าน สุลีวัด สุวันนะจูมคำ อธิบดีกรมคุ้มครองหนี้สินสาธารณะ กระทรวงการคลัง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าว
สปป.ลาว เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำรายใหญ่ของอาเซียน จนได้รับการขนานนามว่า “แบตเตอรี่แห่งอาเซียน”
โดยมีเป้าหมายของลาว ภายในปี 2573 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 20,000 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นถึง 80% จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 11,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของสปป.ลาว คือ ไฟฟ้า
สปป.ลาว มีข้อได้เปรียบด้านภูมิประเทศ คือ มีพื้นที่ที่สามารถรองรับน้ำฝนมากถึง 202,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 85% ของพื้นที่ทั้งหมด
ข้อได้เปรียบนี้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจลาวในหลายๆ ด้าน เพราะทำให้ลาวมีพลังงานน้ำ (Hydro Power) ที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศ รวมถึงส่งออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ มาเลเซีย และสิงคโปร์
นอกจากนี้ สปก.ลาวยังเป็นประตูเชื่อมระหว่างจีนและอาเซียน ที่กำลังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างเต็มรูปแบบ อาทิเช่น โครงการรถไฟฟ้าลาว-จีน โครงการทางด่วนเวียงจันทน์-บ่อเต็น และโครงการท่าบกท่านาแล้ง ศูนย์โลจิสติกส์เวียงจันทน์ (Vientiane Logistics Park) ที่เปิดดำเนินการแล้ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถ ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง ช่วยเพิ่มโอกาสให้สินค้าส่งออกของอาเซียน และมีการขนส่งผ่านทางประเทศลาวมากขึ้น รวมถึง ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้มาตั้งฐานการผลิตในสปป.ลาว เพิ่มขึ้นอีกด้วย