ข่าวเศรษฐกิจ

รู้จัก Lawrence Wong ว่าที่นายกฯ คนที่ 4 ของสิงคโปร์ ดีกรีเด็กฮาร์วาร์ด อดีตรัฐมนตรี 5 กระทรวง

24 เม.ย. 67
รู้จัก Lawrence Wong ว่าที่นายกฯ คนที่ 4 ของสิงคโปร์ ดีกรีเด็กฮาร์วาร์ด อดีตรัฐมนตรี 5 กระทรวง

หลังครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ในที่สุด ‘ลีเซียนลุง’ (Lee Hsien Loong) ก็กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่ง และส่งไม้ต่อให้กับ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ (Lawrence Wong) ขึ้นเป็นผู้นำของสิงคโปร์อย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤษภาคมที่กำลังจะถึงนี้

การเปลี่ยนผ่านอำนาจของผู้นำสิงคโปร์ในครั้งนี้เป็นสิ่งที่หลายๆ ฝ่ายจับตามอง เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของโลก ในฐานะศูนย์กลางการเงินและเทคโนโลยีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ทั้งนักวิเคราะห์ นักธุรกิจ และนักลงทุนต้องพยายามศึกษาว่าสิงคโปร์ภายใต้การนำของผู้นำคนนี้นั้นจะเดินทางไปในทิศทางไหน

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากพาทุกคนมารู้จักว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของสิงคโปร์กันว่าเป็นใคร มีผลงานและแนวทางในการทำงานอย่างไร รวมถึงปัญหาความท้าทายที่เขาต้องเผชิญในฐานะผู้นำคนใหม่ของสิงคโปร์ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อัตราเกิดที่ต่ำ และความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคกิจประชาชน (PAP) ที่เริ่มลดลงในหมู่คนอายุน้อย

afp__20240415__34pe6nq__v1__h

 

ผู้สืบทอดอำนาจพรรคที่ครอบงำการเมืองสิงคโปร์มากว่า 60 ปี

ก่อนที่จะมีการประกาศส่งต่อตำแหน่งอย่างเป็นทางการ การขึ้นสู่อำนาจของหว่องมีความชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2022 หลังจากที่ PAP ประกาศให้เขา ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ขึ้นเป็นหัวหน้าของกลุ่ม 4G หรือกลุ่มผู้นำรุ่นที่สี่ (fourth generation) ของพรรค PAP แทนที่รองนายกรัฐมนตรีเฮง สวี คีต (Heng Swee Keat) อดีตผู้สืบทอดของลีเซียนลุงที่ถอนตัวไปในปีก่อนหน้า 

แม้ตามหลักการแล้วการขึ้นเป็นผู้นำกลุ่ม 4G จะไม่ได้เท่ากับการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะอย่างไรหว่องก็ต้องลงเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามระบบ แต่ในบริบทการเมืองของสิงคโปร์นั้น พรรค PAP นั้นเป็นพรรคที่มีอำนาจมากในวงการเมืองสิงคโปร์ และชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด ตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1959 จนใครที่ได้ชื่อว่า เป็นหัวหน้าของกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ของพรรคก็เหมือนถูกล็อกตัวให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย

การครองอำนาจมากว่า 60 ปี ทำให้ PAP มีเครือข่ายอิทธิพลกว้างขวางในหมู่ชนชั้นนำของสิงคโปร์ทั้งในภาคเอกชน และภาครัฐ อีกทั้งยังได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากประชาชน ในฝีมือการบริหารประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้สิงคโปร์ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างรวดเร็ว และเป็นศูนย์กลางการเงินและอุตสาหกรรมโลกแบบในปัจจุบัน จนยากที่คนจากพรรคฝ่ายค้านจะสามารถขึ้นมามีอำนาจเหนือ PAP ได้ในเวลาอันใกล้

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ PAP ครองอำนาจมาอย่างยาวนานก็คือ ผลงานในการบริหารเศรษฐกิจของตัวนายกรัฐมนตรีและคนในพรรค ทำให้ผู้นำทุกรุ่นของ PAP จะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มข้น และต้องมีความรู้ความสามารถรอบด้าน โดยเฉพาะด้านการบริหารเศรษฐกิจและการเงิน 

 

จากนักเรียนทุนสายเศรษฐกิจ สู่เด็กปั้น PAP

ที่ผ่านมา ผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์มักจะมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นนักเรียนหัวกะทิในโรงเรียน จนได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลไปเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์หรือการปกครองที่ต่างประเทศ ก่อนที่จะกลับมาทำงานเป็นข้าราชการหรือรับตำแหน่งทางการเมืองในประเทศแล้วไต่เต้าขึ้นไปเรื่อยๆ 

เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้า เส้นทางนี้ก็เป็นเส้นทางที่ ลอว์เรนซ์ หว่อง ได้ผ่านมาเช่นเดียวกัน เพราะหลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมปลายที่ Victoria Junior College แล้ว เขาก็ได้รับทุนการศึกษาจาก คณะกรรมการข้ารัฐการ (Public Service Commission) ของสิงคโปร์ ไปศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ก่อนที่จะเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน และปริญญาโทสาขารัฐประศาสนศาสตร์ (Public Administration) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ความรู้ความสามารถนี้ทำให้ ลอว์เรนซ์ หว่อง กลายเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ PAP จับตามองทันที โดยหลังจากเรียนจบเขาก็กลับมาทำงานเป็นข้ารัฐการในกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข 

นอกจากนี้ เขายังเคยเป็นเลขานุการส่วนตัวให้กับลีเซียนลุงในช่วงปี 2005-2008 และเป็นซีอีโอให้กับสำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ (Energy Market Authority – EMA) ในระหว่างปี 2009-2011


ประสบการณ์นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี 5 กระทรวง และประธานแบงก์ชาติ

ประสบการณ์การทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐการในกระทรวงต่างๆ และเลขานุการของลีเซียนลุงทำให้ลอว์เรนซ์ หว่อง มีความใกล้ชิดและได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกระดับสูงใน PAP และเริ่มเข้าไปมีบทบาททางการเมืองครั้งแรกในปี 2011 หลังชนะเลือกตั้งในเขต West Coast ในระบบเขตใหญ่ยกพรรค (Group Representative Constituency: GRC) และชนะการเลือกตั้งอีกในปี 2015 ในเขต Marsiling–Yew Tee 

หลังชนะการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2011 นายหว่องได้ผ่านการนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ มามากมาย โดยในระหว่างปี 2012-2022 เขาเคยรับหน้าที่ดูแลกระทรวงต่างๆ ดังนี้

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมชุมชนและเยาวชน (Ministry of Culture, Community and Youth) ในระหว่างปี 2012-2015 
  • รัฐมนตรีคนที่สองของกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ (Ministry of Communications and Information) ในระหว่างปี 2014-2015 
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ (Ministry of National Development) ในระหว่างปี 2015-2020
  • รัฐมนตรีคนที่สองของกระทรวงการคลัง (Ministry of Finance) ในระหว่างปี 2016-2021 
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (Ministry of Education) ในระหว่างปี 2020-2021

afp__20240415__34pd9wd__v1__h

นอกจากนี้ เขายังได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของคณะควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น และทำผลงานไว้ค่อนข้างเป็นที่น่าพึงพอใจในการดูแลเศรษฐกิจในระหว่างเกิดการระบาด

นี่ทำให้ในปี 2022 หลังเฮง สวี คีต ถอนตัวไป เขาจึงได้รับเลือกขึ้นมาเป็นหัวหน้าของกลุ่มผู้นำรุ่นที่สี่ของ PAP และดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคของ PAP ก่อนจะได้รับตำแหน่งเป็นประธานขององค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) หรือธนาคารกลางของสิงคโปร์ในปี 2023

จากประวัติการทำงานเกือบ 20 ปีนี้ จะเห็นได้ว่า PAP มีกระบวนการคัดเลือกตัวผู้นำแต่ละรุ่นผ่านการให้ทุนการศึกษาเด็กที่มีศักยภาพ ดึงเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค ก่อนให้ลองทำงานพิสูจน์ฝีมือขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ตัวนายกรัฐมนตรีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคเท่านั้น แต่ยังทำให้ตัวพรรคแน่ใจได้ว่าได้คนที่มีความรู้ความสามารถสูงสุดขึ้นมารับตำแหน่ง และมีศักยภาพมากพอที่จะสืบทอดอำนาจและอิทธิพลของพรรคต่อได้จริง

ความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจท่ามกลางความขัดแย้ง อัตราการเกิดต่ำ

หลังจากขึ้นมารับตำแหน่งแล้ว สิ่งที่รอว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์อยู่ ก็คือ ความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจท่ามกลางความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าที่พักอาศัยที่สูง อัตราการเกิดและอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงจนทำให้ประเทศเสี่ยงขาดแคลนแรงงาน และแรงต้านจากคนรุ่นใหม่ที่มองว่าลักษณะการครองอำนาจของ PAP นั้นทำให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง 

ตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1965 รัฐบาลจากพรรค PAP ได้ทำงานเพื่อพัฒนาประเทศสิงคโปร์ และประสบความสำเร็จมาตลอดจนทำให้สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเกิดใหม่ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการเงินและเศรษฐกิจของโลก และเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่เป็นประเทศรายได้สูงในปัจจุบัน โดยปัจจุบัน สิงคโปร์มี GDP ต่อหัวสูงถึง 82,807 ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน สิงคโปร์กำลังเจอปัญหาสำคัญที่จะส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต คือ ปัญหาค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าที่อยู่อาศัย และการที่ประชาชนรุ่นใหม่ตัดสินใจมีลูกน้อยลง ทั้งจากปัญหาค่าครองชีพและปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์เป็นอย่างมาก เพราะสิงคโปร์เป็นเกาะเล็กๆ ที่มีทรัพยากรจำกัด ทำให้ต้องพึ่ง “ทรัพยากรคน” เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ 

โดยจากสถิติในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่า อัตราการเกิดเฉลี่ยต่อผู้หญิงหนึ่งคนในสิงคโปร์ลดลงไปต่ำกว่า 1 เหลือเพียง 0.97 เป็นครั้งแรกในปี 2023 ซึ่งเรียกได้ว่าวิกฤตจนทำให้นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงต้องออกมาพูดกระตุ้นให้ประชาชนมีลูกมากขึ้นในช่วงตรุษจีน

นอกจากนี้ สิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคยังต้องติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สิงคโปร์สามารถพัฒนาและเจริญความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับหลายๆ ฝ่ายโดยไม่กระทบกับการพัฒนาของประเทศในภาพรวม รวมไปถึงปัญหาในตะวันออกกลางและรัสเซียยูเครนที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจโลกปั่นป่วนในช่วงที่ผ่านมา

afp__20230912__33up4bj__v1__h

ในเบื้องต้น รัฐบาลของนายหว่องมีแนวโน้มที่จะรักษาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของ PAP ต่อไป ด้วยการเสริมอำนาจของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการเงิน และศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของภูมิภาค โดยในเดือนกุมภาพันธ์ นายหว่องได้กล่าวในสุนทรพจน์ว่า รัฐบาลจะลงทุนเงิน 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะในด้านปัญญาประดิษฐ์ ภาคการเงิน และพลังงานสะอาด ซึ่งล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเติบโตสูงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แผนการดึงการลงทุนนี้อาจทำไม่ได้โดยง่าย เพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียก็กำลังพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อดึงการลงทุน และยังมีข้อได้เปรียบในด้านทรัพยากร และค่าแรงค่าที่ที่ต่ำทำให้บางบริษัทตัดสินใจย้ายการลงทุนจากสิงคโปร์ไปยังประเทศเหล่านี้มากกว่าเพื่อลดต้นทุน โดยอย่างมาเลเซียเองก็เพิ่งออกมาตรการทางภาษีออกมาเพื่อดึงให้บริษัทต่างชาติไปตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศ 

จากความท้าทายเหล่านี้ จึงเรียกได้ว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์มีงานช้างรออยู่ ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำได้ไม่ง่ายเหมือนสมัยผู้นำคนก่อน และการรักษาชื่อเสียง รวมไปถึงปรับภาพลักษณ์ของพรรคให้น่าดึงดูดสำหรับคนรุ่นใหม่เพื่อสืบทอดอำนาจของพรรค 

 

 

 

อ้างอิง: Nikkei Asia, CNA, The Diplomat

advertisement

SPOTLIGHT