ข่าวเศรษฐกิจ

ปี 66 ประชากรจีนลด 2.08 ล้านคน อัตราตายมากกว่าเกิด คนไม่ยอมมีลูก เหตุค่าใช้จ่ายสูง

18 ม.ค. 67
ปี 66 ประชากรจีนลด 2.08 ล้านคน อัตราตายมากกว่าเกิด คนไม่ยอมมีลูก เหตุค่าใช้จ่ายสูง

จีนเผยตัวเลขประชากร พบปี 2023 จำนวนประชากรลด 2.08 ล้านคน ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สองถัดจากปี 2022 เนื่องจากมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงกว่าเกิด ประชาชนไม่นิยมมีบุตรเพราะค่าใช้จ่ายสูง เศรษฐกิจไม่มั่นคง

จีนเป็นประเทศใหญ่ที่หลายฝ่าย ทั้งรัฐบาลและนานาชาติกังวลว่า จะเกิดปัญหาประชากรล้นเกิน (overpopulation) แต่ในปัจจุบัน จีนกลับต้องกังวลเรื่องประชากรลดแทน เพราะอัตราการเกิดของจีนมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจใหญ่ทั่วโลก ทำให้การเติบโตของหลายๆ อุตสาหกรรมในจีนซึ่งต้องใช้คนมาก (labor-intensive) เสี่ยงที่จะไม่เติบโต

โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติจีน ในปี 2023 จำนวนประชากรของจีนลดลงทั้งหมด 2.08 ล้านคน เหลือ 1.4097 พันล้านคน จาก 1.4118 พันล้านคนในปี 2022 ทำให้ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ 2 ที่ประชากรของจีนลดลงในรอบ 60 ปี

ตายมากกว่าเกิด ประชาชนไม่อยากมีลูก

ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ปัจจัยหลักที่ทำให้ประชากรของจีนลดลง คือ การที่จีนมีประชากรเมืองมากขึ้น และอัตราการเกิดที่ลดลงต่อเนื่องทุกปี

โดยข้อมูลของสำนักงานสถิติจีน ในปี 2023 จีนมีเด็กเกิดทั้งหมด 9.02 ล้านคน ลดลง 5.6% จาก 9.56 ล้านคน ในปี 2022 ทำให้อัตราการเกิดของจีนในปี 2023 เหลือเพียง 6.39 คนต่อประชากร 1,000 คน จาก 6.77 คนต่อประชากร 1,000 คนในปี 2022

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กเกิดน้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตของจีนในปี 2023 ซึ่งอยู่ที่ 11.1 ล้านคน จำนวนผู้เสียชีวิตนี้ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตของจีนอยู่ที่ 7.87 คนต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งมากกว่าอัตราการเกิดถึง 1.48 คน และถ้าหากอัตราการเสียชีวิตนำห่างอัตราการเกิดไปเรื่อยๆ ประชากรจีนก็มีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องทุกปี

โดย Zhongtai Securities ได้คาดการณ์จำนวนประชากรจะลดลงไปต่ำกว่า 1.4 พันล้านคนภายในปี 2027 และต่ำกว่า 1.2 พันล้านคน ภายในปี 2049

นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจ และค่านิยมในการสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนไปยังทำให้ ประชาชนจีนนิยมมีลูก หรือมีครอบครัวใหญ่ที่มีลูกหลานหลายคนลดลง เพราะให้ความสำคัญกับหน้าที่การงานและความสำเร็จด้านการเงินมากกว่าการสร้างครอบครัวที่นอกจากจะเป็นอุปสรรคในการทำงานแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายสูง

ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจและสังคมเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนจีนยุคใหม่ไม่อยากมีลูก โดยเฉพาะผู้หญิงจีนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น ด้วยอัตรา labour participation rate ซึ่งสูงถึง 63.73% เพราะถ้าหากแต่งงานและมีลูกแล้วผู้หญิงมักจะต้องรับภาระทำงานบ้านและเลี้ยงลูกเพิ่มด้วย ทำให้เหมือนต้องรับภาระงานสองเท่าโดยไม่ได้รายได้เพิ่ม

นอกจากนี้ การสำรวจในปึ 2020 แม่ยังเป็นผู้ดูแลหลักของครอบครัวจีนอยู่ โดยฝ่ายหญิงรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลลูกถึง 52% ของครอบครัวที่มีลูกอายุ 15 ปี หรือต่ำกว่า ขณะที่มีครอบครัวเพียง 6.2% มีฝ่ายชายเป็นผู้ดูแลหลัก

จีนเร่งดันคนมีลูก แต่ไม่ได้ผลเพราะศก. แย่

ที่ผ่านมาจีนได้ออกได้ออกมาตรการมากมายเพื่อแก้ไขปัญหาประชากร และสนับสนุนในประชาชนมีลูก ในปี 2021 รัฐบาลจีนได้ยกเลิกมาตรการห้ามประชาชนมีลูกคนที่ 3 รวมไปถึงให้สิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนให้คนมีลูก เช่น การเพิ่มระยะเวลาลางานสำหรับพ่อแม่เพื่อไปดูแลลูก การลดภาษี หรือการให้เงินเป็นรางวัลสำหรับครอบครัวที่มีลูกมากกว่า 1 คน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรการเหล่านี้ ประชาชนก็ยังไม่อยากที่จะมีบุตรเพิ่มขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลต้องทำมากกว่าการให้การช่วยเหลือหรือสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจคนในระยะสั้น แต่เป็นการปรับเปลี่ยนทางโครงสร้างทางสังคม และเศรษฐกิจ ที่ทำให้คนรู้สึกมั่นคง และสบายใจที่จะมีลูกมากขึ้น โดยสภาพสังคมดังกล่าว จะต้องมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ให้ผู้หญิงต้องรับภาระในการดูแลครอบครัวเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ หากต้องพึ่งพาการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อเรียกความเชื่อมั่น จีนก็อยู่ในสถานะที่ไม่ดีนักในตอนนี้ เพราะเศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในภาวะซบเซาจากทั้งวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ การบริโภคที่ต่ำ รวมไปถึงอัตราการผลิตและส่งออกที่ลดลงจากดีมานด์ที่ต่ำลงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

นอกจากนี้ อัตราการว่างงานของคนอายุน้อยยังอยู่ในระดับสูง โดยเคยขึ้นไปถึง 21.3% ในเดือนมิถุนายน ก่อนที่จีนจะหยุดรายงานตัวเลขนี้ไปชั่วคราว และกลับมารายงานตัวเลขนี้ใหม่สำหรับเดือนธันวาคมปี 2023 ซึ่งลดลงมาอยู่ที่ 14.1% 

 

ที่มา: SCMP, BBC



advertisement

SPOTLIGHT