ข่าวเศรษฐกิจ

สำรวจคนไทยเดอะแบก…แบกหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบ

1 ธ.ค. 66
สำรวจคนไทยเดอะแบก…แบกหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบ

สถานการณ์หนี้สินของคนไทยกลายเป็นกับดักความยากจนมานานนับ 10 ปี เฉพาะหนี้ครัวเรือน หรือหนี้ที่อยู่ในระบบก็สูงกว่า 80% ต่อ GDP มาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นระดับที่น่าเป็นห่วงและส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย กำลังซื้อของประชาชนไม่มีพลังขับเคลื่อนเพราะปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว นี่ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบที่ล่าสุด นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ประกาศแก้หนี้นอกระบบให้คนไทยเพราะเชื่อว่า มีมูลค่าที่แท้จริงมากกว่า 50,000ล้านบาท

ผู้จัดการบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร ระบุว่า หากเรานับรวมหนี้ในระบบที่สูงถึง 16ล้านล้านบาทหรือ ราว 90.7% รวมกับหนี้นอกระบบ อีก 50,000 ล้านบาท จะพบว่าคนไทยเป็นหนี้เกือบ100% ของGDP แล้ว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก 

โดยหากย้อนไป 10ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนไทยเร่งตัวขึ้นตั้งหลังวิกฤตน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 จากนั้นมา การให้กู้ยืมหรือสินเชื่อพุ่งขึ้นอย่างมาก เนื่องจากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกกระทบจากน้ำท่วม จากปี 2555 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 76.1%ต่อGDP กระโดดขึ้นมาทะลุ 80% โดยในปี2558 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 85.9% ต่อ GDP 

แม้จากนั้นมาจะมีความพยายามในการกดตัวหนี้ครัวเรือนให้ลดลงต่ำกว่า80% ให้ได้แต่ก็ไม่สำเร็จ ซ้ำร้ายมาเจอโควิด19 ระบาดในปี  2563 เป็นต้นมา หนี้ครัวเรือนไทยกระโดดขึ้นไปทะลุ 90%ต่อ GDP ตั้งแต่นั้น และสูงสุดคือปี 2564 ที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ หนี้ครัวเรือนขึ้นไปแตะ 94.7% ต่อ GDP และ ไตรมาส 2 ของปี2566 อยู่ที่ 90.7% ต่อ GDP  

artboard1

ทั้งนี้หากดูข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งพบว่า จากจำนวนหนี้ครัวเรือน 16 ล้านล้านบาทนั้น ถูกแบ่งเป็น 

  • 33.7% หนี้อสังหาฯ
  • 27.1% สินเชื่ออุปโภคบริโภค (สินเชื่อบุคคล / บัตรเครดิต)
  • 17.9% สินเชื่อประกอบธุรกิจ
  • 11.4% สินเชื่อยานยนต์ 
  • 9.9% สินเชื่ออื่นๆ 

หนี้เสียในระบบ ไตรมาส 3/2023 มูลค่า 1.05 ล้านล้านบาท

1.สินเชื่อส่วนบุคคล 261,692  ล้านบาท  
2.สินเชื่อยานยนต์ 207,441 ล้านบาท
3.สินเชื่ออสังหาฯ 181,683 ล้านบาท
4.สินเชื่อภาคเกษตร 67,008  ล้านบาท
5.สินเชื่อประกอบธุรกิจ 66,007 ล้านบาท

หนี้เสียเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหนี้ยานยนต์

จากข้อมูลหนี้เสียจากเครดิตบูโรในไตรมาส 3 / 2566 พบว่า  สินเชื่อส่วนบุคคล 261,692  ล้านบาท   และ สินเชื่อยานยนต์207,441 ล้านบาท  มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหนี้เสียของสินเชื่อยายนต์ เพิ่มขึ้นราว 8.6% ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 4.9% 

ขณะที่สภาพัฒน์ฯรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2566 พบว่า ประเภทสินเชื่อที่มีปัญหามากขึ้นคือ สินเชื่อยานยนต์ที่เริ่มเห็นหนี้ NPL เพิ่มขึ้น โดยหนี้เสียคงค้างของสินเชื่อยานยนต์ขยายตัวสูงถึง ร้อยละ 40.9 หรือมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.05 เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 1.89 ของไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนดังกล่าว ของสินเชื่อประเภทอื่นกลับทรงตัวหรือลดลง นอกจากนี้ เมื่อพิจารณา หนี้ที่มีการค้างชำระ 1 - 3 เดือน (SML) พบว่า ภาพรวมสัดส่วน SML ต่อสินเชื่อรวมทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.7 แต่สินเชื่อยานยนต์ ยังเป็นสินเชื่อประเภทเดียวที่มีสัดส่วนดังกล่าวยังเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ ร้อยละ 14.4 เพิ่มต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่เจ็ดติดต่อกัน

นั่นหมายความว่า นอกจากหนี้เสียกลุ่มยานยนต์จะเพิ่มขึ้นแล้ว ยอดการค้างชำระไม่เกิน 90 วันก็ยังสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วงอีกด้วย และอาจผันกลับไปเพิ่มหนี้เสียให้สูงขึ้นจากเดิมอีก 

อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ประกาศมาตรการแก้หนี้นอกระบบออกมาแล้ว และจะเปิดให้ผู้ที่มีปัญหาหนี้นอกระบบลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2566 เป็นต้นไป จากนั้นรัฐบาลจะเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยหนี้ โดยเจ้าหนี้ต้องมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามกฏหมายกำหนดไม่เกิน 15% ต่อปี หากลูกหนี้ชำระมาเกินแล้วถือว่าสิ้นสุดการชำระหนี้   ส่วนการแก้หนี้ในระบบ หรือ หนี้ครัวเรือนจะมีการแถลงรายละเอียดในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 

advertisement

SPOTLIGHT