ข่าวเศรษฐกิจ

นักวิเคราะห์ชี้นโยบาย e-Refund ช่วยพยุงเศรษฐกิจ แจกเงิน Digital Wallet ใช้เวลา

13 พ.ย. 66
นักวิเคราะห์ชี้นโยบาย e-Refund ช่วยพยุงเศรษฐกิจ  แจกเงิน Digital Wallet ใช้เวลา

เมื่อนโยบาย Digital Wallet มีความชัดเจนมากขึ้น ที่คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มเดือนพ.ค.2567 ด้วยงบประมาณ  600,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินที่ใช้จะมาจากการออกพรบ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท และใช้งบประมาณปี 2567 อีก 100,000 ล้านบาท ที่จะใช้สำหรับการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้น กว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ก็เกือบกลางปีหน้าแล้ว 

แต่อีกนโยบายหนึ่งที่ดูจะสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไว้ได้ทันที เห็นจะเป็นนโนยาย e-Refund ซึ่งให้วงเงินซื้อสินค้าและบริการ เพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ 50,000 บาท ถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่มีโครงการแบบนี้มา รูปแบบคล้ายๆ ช้อปช่วยชาติ หรือช้อปดีมีคืน เหมือนที่ผ่านมา เริ่มโครงการตั้งแต่เดือนม.ค.2567

โดยภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน Digital Wallet ด้วยวงเงิน 500,000 ล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน ด้วยเงื่อนไขแจกเงิน 10,000 บาทให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท/เดือน หรือมีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันต่ำกว่า 500,000 บาท คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มเดือนพ.ค.2567 

โดยบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีมุมมองเป็นบวกกับนโยบาย e-Refund เพราะจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และคิดว่าจะช่วยหนุนหุ้นกลุ่ม Domestic Play ตอบรับในเชิงบวกขึ้นมาบ้าง แต่ด้วย SET Index มีความผันผวน ขณะที่โครงการ Digital Wallet ที่จะใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท คิดเป็น 2.6% ของคาดการณ์ GDP ปี 2567 ของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ที่ 19 ล้านล้านบาท 

แต่นโยบายนี้คงไม่สามารถคลอดออกมาได้อย่างง่ายดาย คงต้องฝ่าด่านอุปสรรคอีกหลายด่าน ทั้งกระบวนการออก พรบ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ทั้งด่านที่มีโอกาสถูกตีตกได้ตั้งแต่ในรัฐสภา หรือแม้แต่องค์กรอิสระก็ตามที 

ขณะที่โครงการ e-Refund  ก็ต้องติดตามรายละเอียดว่า จะให้ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาเหมือนเดิมหรือไม่ อายุโครงการนี้นานเท่าไหร่ และใช้กับสินค้าและบริการอะไรได้บ้าง เมื่อกลับมาดูหุ้นกลุ่มที่จะได้รับผลดีจากนโยบายดังกล่าวนั้น

พบว่า SET Index และหุ้นกลุ่ม Domestic Play มักจะตอบรับเชิงบวกในช่วงดำเนินการนโยบาย ส่วนหุ้นกลุ่ม IT + Home improvement จะมีแรงเก็งกำไรเข้ามาในช่วง 2 สัปดาห์- 1 เดือนก่อนเริ่มโครงการ  จึงแนะนำหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการ และราคาหุ้นยังคงเคลื่อนไหวในโซนด้านล่าง และผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตในปีหน้า ได้แก่ CPALL, CPAXT, CRC, DOHOME, OSP, SABINA, GFPT, SYNEX, BE8, MEB

หุ้นไทยวันนี้ ปรับตัวลดลง ลดลงต่ำสุด 11.34 จุด ลดลง 0.82% ดัชนี อยู่ที่ 1,378.23 จุด เมื่อ 11.11 น. 

โดยบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินไว้ว่า หุ้นไทยวันนี้มีโอกาสแกว่งตัวลงต่อ จากได้รับแรงกดดันจากบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ที่รีบาวน์แรง บวกกับนักลงทุนได้กลับมามีความกังวลต่อสถานะทางการคลังของไทย หลังนายกรัฐมนตรี แถลงเตรียม ออกพรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อทำนโยบาย Digital Wallet  ให้กับประชาชน 50 ล้านคน  คาดการณ์ว่า หาก SET Index หลุดกรอบ 1,380 จุด จะมีโอกาสทดสอบจุดต่ำสุดบริเวณ 1,366-1,370 จุด หากหลุดอีกจะกลับเป็นขาลง 

ค่าเงินบาทอ่อนหนักทะลุ 36 บาท/ดอลลาร์

ขณะที่ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาดที่ระดับ 36.10 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนักมาก” จากที่ปิดสัปดาห์ก่อน ที่ระดับ 35.89 บาท/ดอลลาร์ กดดันโดยจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงหนัก นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทย ซึ่งได้สะท้อนผ่านแรงขายหุ้นและบอนด์โดยนักลงทุนต่างชาติในช่วงวันศุกร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน พร้อมติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักและลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

สำหรับตลาดการเงินไทยอาจผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อมาตรการ Digital Wallet โดย หากพิจารณาจากแรงขายหุ้นและบอนด์ รวมถึงการอ่อนค่าลงของเงินบาทล่าสุด อาจประเมินได้ว่า ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของไทยมากขึ้น

“ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ หลังตลาดกลับมากังวลทั้งประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของไทย ยังมีปัจจัยเรื่องฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติมีทิศทางไม่แน่นอน อนึ่ง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนออกมาดีกว่าคาด ก็อาจช่วยให้ทั้งเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียแข็งค่าขึ้น หรือ ชะลอการอ่อนค่าได้” 

โดยประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจจำกัดอยู่ในโซน 36.25-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังวะทยอยขายเงินดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยเฉพาะในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด หรือ เร่งตัวขึ้นสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด และสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมากขึ้น ก็อาจกดดันให้ เงินดอลลาร์ พร้อมกับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลง

โดยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.60-36.30 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.20 บาท/ดอลลาร์

ความหวังของเศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัวแบบทุกฝ่ายอยู่ได้อย่างยั่งยืน คงต้องมีทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน ภาครัฐออกมาตรการที่ช่วยประชาชนทุกกลุ่มให้มีกิน มีเงินหาเลี้ยงชีพ ขณะเดียวกันฐานะทางการคลังมั่นคง นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุน รวมถึง ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทย ที่จะช่วยหนุนให้ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศและอยู่ในทุกมุมทั่วประเทศไทย ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

advertisement

SPOTLIGHT