สถานการณ์อัตราการเกิดต่ำ และประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันในหลายประเทศ ไทยเองก็กำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้เช่นกัน
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ นางอินดรานี ราจาห์ กล่าวในสภาสิงคโปร์ว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประชากรหญิงของสิงคโปร์มีอัตราการเจริญพันธุ์แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ความหมายคือ อัตราการมีลูกของผู้หญิงสิงคโปร์ 1 คน อยู่ที่ระดับ 1.05 ทำลายสถิติต่ำสุดเดิมที่เคยทำไว้ที่ 1.1 ในปี 2563 และ 1.12 ในปี 2564 และเป็นอัตราต่ำสุดจากข้อมูลของกรมสถิติสิงคโปร์ที่ย้อนหลังไปกว่า 60 ปี
เหตุผลที่อัตราการให้กำเนิดบุตรของผู้หญิงสตรีในสิงคโปร์ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปี 2565 เป็นปีเสือตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งพบว่า ปีเสือมักจะเป็นปีที่อัตราการเกิดของเด็กลดต่ำลง ตามความเชื่อของชาวจีนที่ไม่ต้องการมีลูกในปีเสือ เช่น ในปี 2010 ซึ่งเป็นปีเสือ อัตราการเจริญพันธุ์ตอนนั้นอยู่ที่ 1.15 ซึ่งก็ถือว่าต่ำกว่าปี 2009 และต่ำกว่าปี2011
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของสิงคโปร์ได้ตั้งข้อสังเกตุว่าแนวโน้มการเจริญพันธ์ของผู้หญิงสิงคโปร์นั้น ที่จริงแล้วอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมายาวนาน
ข้อมูลจาก Worldometers พบว่า ณ วันที่ 24 ก.พ.2566 สิงคโปร์มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 5,971,940 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่อยู่ในอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา อัตราการเพิ่มของประชากรในบางปีต่ำกว่า 1% ด้วยซ้ำ ตอกย้ำปัญหาการมีลูกน้อยลงของคนสิงคโปร์
แนวโน้มสังคมแต่งงานช้าและมีลูกน้อย
จากข้อมูลพบว่า ประชากรสิงคโปร์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆมีการแต่งงานที่ช้าลง ส่วนกรณีที่แต่งงานแล้วก็พบว่าคู่สามีภรรยาจำนวนมาก มีบุตรช้าลงหรือไม่มีบุตร หรือถ้ามีก็เลือกที่จะมีบุตรน้อยลง ซึ่งสิ่งที่เกิดเป็นแนวโน้มที่สอดคล้องกันในหลายประเทศ โดยประเทศในแถบเอเชียขณะนี้กำลังตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน
จากข้อมูลการสำรวจพบว่า เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธ์ต่ำที่สุดในโลกอยู่ที่ 0.78 ในปี2565 โดยอัตราการเกิดของเกาหลีใต้ลดลงตั้งแต่ปี 2558 และในปี 2563 อัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิดเป็นครั้งแรก ส่วนในปี 2565 มีประชากรเกิดประมาณ 249,000 คน และตาย 372,800 คน
ข้อมูลที่นางอินดรานี ให้กับสภา ยังพบว่า เด็กเกิดน้อยลง ในขณะที่ประชากรสิงคโปร์อายุยืนยาวขึ้น โดยอายุขัยของคนสิงค์โปร์ยืนยาวขึ้นมาเป็น 83 ปี เพิ่มขึ้นจาก 72 ปี ในข้อมูลการสำรวจเมื่อปี 2523 ส่วนในปี 2573 หรืออีก 7 ปีข้างหน้าประชากรสิงคโปร์ประมาณ 1ใน 4 จะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป
“ซึ่งนี่คือความท้าทายอย่างมากของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศ เพราะจำนวนประชากรวัยทำงานจะลดลงตามไปด้วย และเพิ่มภาระการดูแลของรัฐบาล สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้คือ ชาวสิงคโปร์จำนวนมากกำลังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเป็น 2 เท่าทั้งการต้องเลี้ยงดูลูกเล็ก และต้องดูแลพ่อแม่ที่ชราด้วยเช่นเดียวกัน”
รัฐบาลหาแนวทางสนับสนุนการดูแลครอบครัวของชาวสิงคโปร์
รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในงบประมาณปี 2023 มีมาตรการที่จะส่งเสริมผู้ปกครองและครอบครัวให้ได้รับความสะดวก และลดภาระให้มากขึ้น เช่น การให้เงินอุดหนุนผู้ปกครองในช่วงที่ต้องมีการลาไปเลี้ยงดูบุตร สนับสนุนให้บริษัทต่างๆจัดการงานที่ยืดหยุ่น การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับครอบครัวที่มีบุตร
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้เพิ่ม Baby Bonus Cash อีก 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และสนับสนุนงบประมาณเพิ่มให้กับบัญชีการพัฒนาเด็ก ทั้งหมดต้องทำเพื่อไม่ให้จำนวนประชากรสิงคโปร์ลดลง
ที่มา:channelnewsasia , CNN