ข่าวเศรษฐกิจ

กระทรวงดิจิทัลฯ เผย คนไทย 37.5% ไม่อยากเสียภาษี เหตุไม่มีเงินพอ

6 ก.พ. 66
กระทรวงดิจิทัลฯ เผย คนไทย 37.5% ไม่อยากเสียภาษี เหตุไม่มีเงินพอ

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบคนไทย 37.5% ไม่ต้องการเสียภาษี เพราะไม่มีเงิน และไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะนำเงินภาษีที่จัดเก็บได้ไปใช้จัดสวัสดิการให้ประชาชนจริง

การเสียภาษีถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองในทุกประเทศ ที่จะต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลที่จะจัดเก็บเงินดังกล่าวไปใช้สร้างสวัสดิการ และใช้จ่ายกับสิ่งอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม 

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ ปี 2022 ซึ่งสำรวจประชาชนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นใน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 17-31 ต.ค. 2022 ที่จัดทำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม “ประชาชนถึง 37.5% ตอบว่าไม่ยินยอมให้รัฐจัดเก็บภาษี” โดยเหตุผลก็คือ

  1. ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเสียภาษี 
  2. กลัวว่ารัฐจะจัดสวัสดิการให้ประชาชนไม่ทั่วถึง
  3. ไม่มีหลักเกณฑ์หรือกฎหมายที่แน่นอนที่จะรับประกันการจัดสวัสดิการให้

ซึ่งถึงแม้ตัวเลขนี้จะยังน้อยกว่าสัดส่วนของผู้ที่ตอบว่าเต็มใจจ่ายภาษีให้กับรัฐซึ่งอยู่ที่ 44.6% ตัวเลขนี้ก็ถือว่าสูง และเป็นการสะท้อนว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งไม่เชื่อมั่นในความสามารถของรัฐบาลที่จะจัดสรรปันส่วนเงินภาษีไปใช้กับโครงการและสวัสดิการที่ให้ประโยชน์กับคนหมู่มากจริง เพราะฉะนั้นเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจึงเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 เรื่องดังนี้  

  1. ควรจัดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่มากขึ้น และลดการถูกทอดทิ้งให้อยู่ลำพัง พร้อมทั้งจัดให้มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตต่างๆ
  2. ส่งเสริม/สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาขึ้น  ให้สามารถเข้าถึงการบริการช่องทางต่างๆ ของทุกหน่วยงานอย่างสะดวก รวมถึงการทำให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยออนไลน์ 
  3. สร้างความเชื่อมั่นในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนในการใช้สิทธิการรักษาพยาบาลทุกประเภทให้มีความเท่าเทียม ทั่วถึง และครอบคลุมในทุกพื้นที่ เช่น คุณภาพยา บริการและความสะดวกรวดเร็ว
  4. สนับสนุนให้มีสวัสดิการเรียนฟรีในทุกระดับ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือน และทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม
  5. ส่งเสริม/สนับสนุนสวัสดิการในเรื่องคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนเพิ่มเติม เช่น ค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่เลี้ยงดูบิดา/มารดา ที่มีอายุ 60 ปีขึ้น ไปจัดศูนย์เด็กเล็ก/พัฒนาเด็กเล็กใกล้สถานที่ทำงาน และจัดบริการขนส่งสาธารณะฟรีให้เด็ก/เยาวชน

ในส่วนของสวัสดิการด้านต่างๆ ในรายงานมีผลสำรวจที่น่าสนใจ ดังนี้

- การใช้บริการสวัสดิการของรัฐด้านคุณภาพชีวิต เช่น เบี้ยยังชีพ เด็กแรกเกิด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพคนพิการ 

  • ประชาชนมากกว่า 97% ระบุว่าไม่มีปัญหาการใช้บริการ
  • ประชาชนน้อยกว่า 3% มีปัญหา เช่น เงินไม่เพียงพอ ลำบากในการต้องไปถอนเงิน และเงินเข้าช้า 

- สวัสดิการของรัฐด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรียนฟรีถึงมัธยมศึกษาปีที่3 

  • ประชาชน 80.6% ระบุว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก-มากที่สุด
  • ประชาชน 3.2% เห็นว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายได้น้อย-น้อยที่สุด หรือไม่ช่วยเลย

- สวัสดิการของรัฐด้านการรักษาพยาบาล ได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

  • ประชาชนมากกว่า 97% ระบุว่าไม่มีปัญหาในการใช้บริการ 
  • ประชาชนน้อยกว่า 2% มีปัญหา เช่น การบริการล่าช้า รอคิวนาน และต้องใช้บริการเฉพาะโรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น 

- ความพึงพอใจในการใช้บริการด้านการรักษาพยาบาล  แยกเป็น 

  • การสำรวจความพึงพอใจต่อการใช้สถานพยาบาลตามประเภทสถานพยาบาล พบว่าประชาชนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน 76.8% มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และ 1% พึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด ส่วนประชาชนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ 70.4% มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และ 3.6% มีความพึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด  
  • การสำรวจความพึงพอใจต่อสิทธิรักษาพยาบาล พบว่าประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพ/ประกันชีวิต 86.5% มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด รองลงมาคือสิทธิสวัสดิการ ข้าราชการ จ่ายเงินเอง สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิกองทุนประกันสังคม ตามลำดับ

 

ที่มา: รัฐบาลไทย

 

advertisement

SPOTLIGHT