เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เปิดเผยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะเป็นแม่แบบและแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไปอีก 5 ปี ต่อจากนี้คือตั้งแต่ปี 2023 ถึง 2027
โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นี้มีจุดประสงค์สำคัญคือสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อแก้ไขจุดอ่อนและข้อจำกัดที่ประเทศไทยมีอยู่ในปัจจุบันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีสังคมก้าวหน้า และเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าได้อย่างยั่งยืน
แผนพัฒนาฯ นี้มีพื้นฐานบนแนวคิดที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่
- ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- แนวคิด Resilience
- เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
- โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)
และมีเป้าหมายหลัก 5 ประการ ได้แก่
- การปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เพื่อยกระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวให้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท/ปี
- การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ ให้ดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) อยู่ในระดับสูง
- มุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม โดยลดความแตกต่างของความเป็นอยู่ระหว่างกลุ่มประชากรต่ำกว่า 5 เท่า
- เปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืน โดยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับปริมาณปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
- สร้างความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่อง โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความก้าวหน้าทางดิจิทัล และประสิทธิภาพภาครัฐ
ซึ่งทางสภาพัฒน์ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าวใน 4 มิติด้วยกัน คือ
- มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย
เช่น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาผลักดันให้ไทยกลายเป็นประเทศชั้นนำ ด้านสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง และการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน ปั้นให้ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน, ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก, ศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน และ ประตูการค้าการลงทุน และยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค
- มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม
เช่น การสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่าง SMEs กับรายใหญ่ และการเพิ่มความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม โดยการสนับสนุนครัวเรือนยากจนให้เข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ ตลอดจนสร้างความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมและครอบคลุมคนทุกกลุ่ม
- มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เช่น การนำขยะและของเสียมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ รวมถึงเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ การลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นปรับการใช้ที่ดินให้เหมาะสม จัดทำระบบจัดการน้ำที่สอดรับกับภูมิประเทศและภูมิอากาศ พัฒนาการแจ้งเตือนภัยให้แม่นยำและทันเวลา
- มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ
เช่น การพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาภาครัฐไทยให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน โดยเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของภาครัฐให้เป็นดิจิทัล และปรับโครงสร้างของภาครัฐให้ยืดหยุ่น
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากทั้งจุดประสงค์และแนวทางการเปลี่ยนแปลงจะเห็นได้ว่าแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ เน้นการปรับโครงสร้างพลิกโฉมทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมให้มีความยืดหยุ่น พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง และเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน โดย ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้ไปสู่ความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน
รายได้ประชาชาติต่อหัว 300,000 บาท/ปี เป็นไปได้แค่ไหน
อนึ่ง ไฮไลต์สำคัญหนึ่งของแผนพัฒนาฯ ที่สื่อหลายเจ้าเอามาพาดหัวกันก็คือเป้าหมายจะเพิ่มรายได้ประชาชาติต่อหัวหรือ GDP per capita ให้เกิน 300,000 ต่อปี หรืออย่างน้อย 25,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อเห็นตัวเลขแล้วคำถามที่ตามมาก็คือ เป้าหมายนี้เป็นไปได้แค่ไหน
เพราะจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปัจจุบันรายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยยังคงอยู่ที่ 7448.988 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 279,709.50 บาทต่อปี เท่ากับว่าเพื่อให้ถึงเป้าหมายนี้ต้องเพิ่มรายได้ให้คนไทยทุกคนเฉลี่ยคนละ 20,000 บาทต่อปีเป็นอย่างต่ำ
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าดูสถิติ GDP per capita ของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว จะเห็นได้ว่าเป้าหมายนี้ก็อาจจะไม่ไกลเกินเอื้อมนัก เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยก็ประสบความสำเร็จในการเพิ่ม GDP per capita พอสมควร
เพราะถึงแม้ในช่วงปี 2012-2016 GDP per capita ของไทยจะเพิ่มขึ้นเพียง 132.212 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4,964.56 บาท จาก 5862.993 ดอลลาร์สหรัฐเป็น 5995.205 ดอลลาร์สหรัฐ
ในช่วงปี 2017-2021 GDP per capita ของไทยกลับพุ่งขึ้นถึง 739.862 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 27,781.82 บาท จาก 6596.224 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 7336.086 ดอลลาร์สหรัฐ
จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่า GDP per capita ของไทยมีอัตราการเติบโตสูงและเป็นไปในทางบวก และถ้ารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ยังรักษาระดับการเติบโตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบในปัจจุบันไว้ได้ การเพิ่มรายได้ประชาชาติต่อหัวให้เกิน 300,000 บาทต่อปีก็ไม่น่าใช่เรื่องไกลเกินฝัน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไทยจะมีศักยภาพสูงในการเพิ่มรายได้ต่อหัว ประเทศไทยยังมีปัญหาสำคัญคือ ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำ’ เพราะ GDP per capita นั้นได้มาจากการเฉลี่ยรายได้ประชาชาติของคนทั้งประเทศ และส่วนมากเพิ่มขึ้นได้เพราะการเจริญเติบโตของกลุ่มทุนใหญ่ ไม่ใช่การเติบโตทางเศรษฐกิจของคนทั้งประเทศ เพราะในขณะที่กลุ่มทุนบางกลุ่มได้รับรายได้และผลกำไรเพิ่มขึ้นจากการดำเนินงาน รายได้เฉลี่ยและค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตามแต่อย่างใด
ทำให้การมุ่งเพิ่มการลงทุนหรือกระตุ้นเศรษฐกิจในอีก 5 ปีต่อจากนี้ของทุกหน่วยงานมีความท้าทายสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้คนในประเทศ ในทุกช่วงวัยและทุกช่วงรายได้ มีคุณภาพชีวิตทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน ไม่ให้การเติบโตไปกระจุกอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ
เพราะถ้าการพัฒนาประเทศต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจจากคนทุกภาคส่วน ผลประโยชน์จากความร่วมมือร่วมใจทั้งหมดนั้นก็ควรจะถูกกระจายให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกัน
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, IMF