นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/65 พบว่า การจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม ขณะที่อัตราการว่างงาน ลดลงต่ำสุดในช่วงที่มีการระบาดของโควิด ส่วนหนี้ครัวเรือนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง
"โดยสถานการณ์แรงงานไตรมาส 1/65 ภาพรวมการจ้างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรม มีจำนวน 11.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.0% ส่วนนอกภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 27.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.0% เช่นกัน สาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น อาทิ สาขาการผลิต เพิ่มขึ้น 2.6% จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงสุดในช่วงโควิด-19 และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สำหรับสาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัวได้ 5.8% และ 16.2% ตามลำดับ"
ส่วนสาขาก่อสร้าง และสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร มีการจ้างงานลดลงที่ 1.1% โดยการลดลงของจ้างงานสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ส่วนหนึ่งเกิดจากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในไตรมาส 1/65 ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีจำนวนไม่มาก โดยมีเพียง 5.0 แสนคน จากปกติที่มี 9-10 ล้านคน
ด้านการว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 6.1 แสนคน ลดลงจาก 7.6 แสนคนในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจาก 6.3 แสนคนในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 1.53% ต่ำที่สุดในช่วงโควิด-19 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ลดลงต่อเนื่อง โดยผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน มีจำนวน 305,765 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานในระบบที่ 2.7%
****แต่มีประเด็นที่น่าสนใจสำหรับประเด็นการจ้างงาน คือ
- ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนยังคงเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวน 2.6 แสนคน เพิ่มสูงขึ้น 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับผู้ว่างงานที่มีประสบการณ์ทำงานที่เริ่มปรับตัวลดลง
- ผู้ว่างงานระยะยาว ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนถึง 1.7 แสนคน
- การว่างงานในกลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาสูงยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ที่ 3.10%
ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป
- การฟื้นตัวของการจ้างงานภาคท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 จึงต้องให้ความสำคัญกับการเปิดประเทศ และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศให้มากที่สุด
- ผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่อค่าครองชีพของแรงงาน และการจ้างงาน ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของแรงงาน รวมทั้งอาจกระทบต่อการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมจากราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น และการจ้างงานสาขาขนส่งจากต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
- การหามาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงานระยะยาว และการว่างงานของผู้จบการศึกษาใหม่ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงแนวโน้มการจ้างงานในระยะหลังจากนี้ว่า ถึงแม้ภาคบริการจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศมากขึ้น แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงผันผวน โดยเฉพาะความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่ทราบว่าจะการลุกลามไปมากน้อยเท่าไร ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตบางภาคเริ่มมีปัญหาเรื่องซัพพลายเชนหยุดชะงัก (Disruption) ดังนั้น มองว่าทิศทางการจ้างงานในภาพรวมน่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่จะดีขึ้นก่อนช่วงเกิดโควิด-19 ระบาดหรือไม่นั้น คงต้องประเมินต่อไป
หนี้ครัวเรือนไทยขยายตัวแบบชะลอลง
สำหรับภาวะหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 4/64 ว่า มีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% ชะลอลงจาก 4.2% ของไตรมาสที่ผ่านมา โดยคิดเป็นสัดส่วน 90.1% ต่อ GDP ซึ่งสินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว 5.0% จาก 5.8% ของไตรมาสก่อน และสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ขยายตัว 6.5% จาก 17.6% ในไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่สินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินเชื่อเพื่อยานยนต์ ขยายตัว 1.2% จาก 0.3% ในไตรมาสก่อน จากมาตรการส่งเสริมการขายในช่วง Motor Expo สินเชื่อบัตรเครดิต ขยายตัว 1.6% จากการหดตัว 0.5% ในไตรมาสก่อนตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ซึ่งเป็นสินเชื่อในกลุ่มเช่าซื้อ และลิสซิ่งที่ขยายตัวมากถึง 21.6%
ด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.43 แสนล้านบาท ลดลง 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากไตรมาสก่อน 4.0% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.73% โดยคุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ แต่ยังต้องเฝ้าระวัง NPLS ในสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (สินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน) ต่อสินเชื่อรวม สูงถึง 11.08% หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 1.3 แสนล้านบาท
ที่มา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ