สินทรัพย์ดิจิทัล

‘แซม แบงก์แมน-ฟรีด’ จากผู้กอบกู้วงการคริปโทฯ สู่ว่าที่ โด ควอน เบอร์ 2

10 พ.ย. 65
‘แซม แบงก์แมน-ฟรีด’ จากผู้กอบกู้วงการคริปโทฯ สู่ว่าที่ โด ควอน เบอร์ 2

เป็นสองวันโกลาหลกันไปหมดจริงๆ สำหรับโลกคริปโทฯ เมื่อ ‘จ้าว ฉางเผิง’ ซีอีโอของ Binance กระดานเทรดคริปโทเคอร์เรนซีเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก ได้ออกมาประกาศซื้อกิจการเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนทางแอคเคาท์ Twitter ก่อน ฺBinance จะมาลงประกาศถอนตัวในอีกวันถัดมา โดยให้เหตุผลที่อ่านแล้วน่าใจเสียว่า “ปัญหาสภาพคล่องของ FTX เลวร้ายเกินกว่าที่พวกเราจะช่วยได้แล้ว”

ซึ่งเมื่อข่าวการล้มของ FTX และการถอนตัวของ Binance ออกมา ราคา FTX Token หรือ FTT ที่เป็นเหรียญของแพลตฟอร์ม FTX ก็ดิ่งพสุธาจากแรงเทขาย ลงไปจุดต่ำสุดที่ 2.06 ดอลลาร์ เมื่อเวลา 6.24 น. วันที่ 10 พฤศจิกายน พร้อมลากคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ เช่น Bitcoin, Ethereum และ Solana ร่วงตามไปด้วยในเวลาเดียวกัน และยังคงไม่ฟื้น

นอกจากนี้ ความตื่นตระหนกและแรงขายยังแผ่ไปยังบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีความเกี่ยวข้องหรือมีการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี เช่น Coinbase ที่หุ้นยังตกต่อเนื่องไปเกือบ 10% ในวันที่ 9 พฤศจิกายน เวลาอเมริกา ถึงแม้ซีอีโอจะออกมาบอกแล้วบริษัทไม่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับ FTX และยังมีทรัพย์สินพอจ่ายลูกค้าหากลูกค้าต้องการถอนเงินออกจากระบบ ในขณะที่ Microstrategy ตกไปเกือบ 20% และ Silvergate Capital ลงไป 12% 

เรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ทำให้นักลงทุนทั้งหลายที่มีคริปโทเคอร์เรนซีอยู่ในมือเกิดร้อนๆ หนาวๆ ขึ้นมาทันที เพราะราคาเหรียญและหุ้นที่ดิ่งวูบทั้งกระดานแบบนี้อาจส่งผลในวงกว้างต่อทั้งระบบ และอาจทำให้เกิด ‘ปัญหาสภาพคล่อง’ ต่อกันไปเป็นโดมิโน แบบที่เกิดขึ้นในช่วงที่เหรียญ Terra LUNA และ TerraUSD (UST) ล้มก็ได้

โดยเฉพาะเมื่อ “แซม แบงก์แมน-ฟรีด” ผู้ร่วมก่อตั้ง FTX และเจ้าของ Alameda Research บริษัทวิจัยและลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี เคยเป็น ‘ผู้กอบกู้ของวงการคริปโทฯ’ ที่ได้เอาเงินรวม 750 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2.8 หมื่นล้านบาทไปอุ้มแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ ที่ขาดสภาพคล่องจาก LUNA อย่างเช่น Voyager Digital และ BlockFi และ Alameda Research ยังเป็นผู้ถือคริปโทเคอร์เรนซีจำนวนมาก รวมไปถึง Solana ที่ยังดิ่งไม่หยุดด้วย

sam2

ในเวลาที่ Binance ตัดสินใจถอนตัวออกดีลไปแล้ว วงการคริปโทฯ ย่อมระส่ำระสายอย่างช่วยไม่ได้ เพราะ FTX เป็น “ยักษ์ที่ใหญ่เกินกว่าจะล้มได้” ในวงการคริปโท จนมีสื่อเปรียบเทียบว่า FTX เป็นเหมือนธนาคาร Lehman Brothers ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ที่ถ้าปล่อยให้ล้ม ธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็จะต้องล้มตามกันไปเป็นทอดๆ

อะไรทำให้ ‘แซม แบงก์แมน-ฟรีด’ อดีตพระเอกขี่ม้าขาวของวงการที่เคยมีคนยกย่องว่าเป็น ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์ของโลกดิจิทัล’ ตกที่นั่งลำบากจนต้องมาขอให้คู่แข่งช่วยอุ้มอย่างทุกวันนี้ ทีมข่าว Spotlight สรุปมาให้อ่านกัน

 

จากนักเรียนฟิสิกส์ MIT สู่นักเทรดกองทุน และคริปโทเคอร์ซี

ถึงแม้จะมาร่ำรวยและโด่งดังในโลกการเงินและคริปโทเคอร์เรนซี แซม แบงก์แมน-ฟรีด กลับมีพื้นหลังที่ไม่น่าจะพาเขามาอยู่ในจุดที่เขากำลังอยู่นี้ได้เลย เพราะเขามาจากครอบครัวของคู่สามีภรรยาที่เป็นอาจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมีพื้นหลังด้านการศึกษาในสายวิทยาศาสตร์ 

โดยหลังจากจบชั้นมัธยมปลาย เขาก็เข้าศึกษาในสาขาฟิสิกส์ที่ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ที่โด่งดังมากในการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เข้ายากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 

ซึ่งจุดเริ่มต้นของเขาในวงการการเงินก็เริ่มต้นเมื่อเขากำลังศึกษาอยู่ที่นี่ เมื่อตอนปี 3 เขาตัดสินใจไปฝึกงานที่ Jane Street Capital ก่อนเข้ามาทำงานเป็นพนักงานประจำ กินเงินเดือนหกหลักในฐานะนักเทรด ETF หรือ กองทุนรวม โดยเชี่ยวชาญในการทำ Arbitrage หรือวิธีทำกำไรจากการเทรดโดยอาศัยส่วนต่างของราคาสินทรัพย์ในแต่ละกระดาน โดยการซื้อสินทรัพย์ราคาถูกจากอีกกระดาน ไปขายในราคาที่สูงขึ้นในอีกกระดาน

ก่อนเขาจะเล็งเห็นโอกาสทำเงินในลักษณะเดียวกันกับคริปโทเคอร์เรนซี ในช่วงปลายปี 2017 เขาจึงนำเงินเก็บมาก่อตั้ง Alameda Research บริษัทเทรดคริปโทเคอร์เรนซี กับเพื่อนชื่อ แกรี่ หวัง ที่ในขณะนั้นเป็นวิศวกรให้ Google จนทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากการซื้อบิตคอยน์จากกระดานเทรดอเมริกา ไปขายในกระดานเทรดเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่ซื้อขายบิตคอยน์ในราคาที่สูงกว่ากระดานอเมริกาถึง 15-50% ในขณะนั้น เพราะอุปทานยังต่ำ แต่อุปสงค์สูง

จนกระทั่งในปี 2019 เมื่อเขามีประสบการณ์ในการเทรดคริปโทเคอร์เรนซีจนเล็งเห็นโอกาสใหม่ๆ แล้ว เขาก็ตัดสินใจก่อตั้ง FTX กระดานเทรดคริปโทเคอร์เรนซีที่เน้นการซื้อขายอนุพันธ์

หลังจากก่อตั้งกระดานเทรดมา 2 ปี มูลค่าการซื้อขายและจำนวนนักเทรดบน FTX ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ใช้ถึง 1.2 ล้านคนในปี 2021 เพราะ FTX มีผลิตภัณฑ์การเงินให้นักลงทุนเลือกเทรดอย่างหลากหลาย ทั้งคริปโตเคอร์เรนซีธรรมดาเหมือนบนกระดานทั่วไป และอนุพันธ์ของคริปโทเคอร์เรนซีซึ่งเป็นจุดเด่นของ FTX อีกทั้งมี ‘หุ้น’ ในรูปแบบ ‘โทเคน’ ขาย ซึ่งโทเคนหุ้นที่ว่านี้ก็เป็นหุ้นของบริษัทที่เรารู้จักกันดี เช่น Tesla หรือ Twitter โดยราคาจะอิงกับราคาหุ้นจริง 

ด้วยศักยภาพในการเติบโตที่มากมายนี้เอง FTX ก็กลายเป็นกระดานเทรดน้องใหม่ที่เป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยในปี 2021 FTX ระดมทุนได้ถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทั้งนักลงทุนสถาบันที่ประเมินว่า FTX มีมูลค่าสูงถึง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในเดือนมกราคมปี 2022 เขาก็ระดมทุนในรอบ Series C ได้อีก 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดันมูลค่า FTX ให้ขึ้นไปเป็น 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีหมื่นล้านที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์

โดยในรายชื่อมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของ Forbes ปี 2022 แซม แบงก์แมน-ฟรีด เคยมีความมั่งคั่งสุทธิรวมอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ร่ำรวยเป็นอันดับ 2 ในวงการคริปโทฯ รองจาก จ้าว ฉางเผิง เจ้าของ Binance ที่มีข่าวตอนแรกว่าจะเข้ามาซื้อกิจการ FTX แต่สุดท้ายก็ล้มเลิกไปในที่สุด หลังจากตรวจสอบการเงินของบริษัทแล้วพบว่า น่าจะยื้อไม่ไหว

 

ร่วงเร็ว เพราะอยู่บนวิมานในอากาศ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เขาจะประสบความสำเร็จ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในวงการคริปโทฯ ได้ในเวลาเพียง 3 ปี สาเหตุหลักที่ทำให้เขาประสบความยากลำบากอยู่ตอนนี้ก็คือความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของเขามาจากการถือเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี ที่ราคามีความผันผวน อ่อนไหวต่อปัจจัยต่างๆ สูงเพราะไม่ได้อิงอยู่กับทรัพย์สินในโลกจริง จนถ้าราคาตกไปด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ความมั่งคั่งของเขาและสภาพคล่องก็อาจหายไปได้ในพริบตาอย่างที่เป็นอยู่

จากข้อมูลของ Forbes ทรัพย์สินของเขามาจาก 2 แหล่งหลักๆ คือ FTX และ Alameda Research ที่เขาเป็นเจ้าของ ซึ่งล้วนแต่มีมูลค่าอิงอยู่กับราคาคริปโทเคอร์เรนซีและสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะ Alameda Research ที่มีทรัพย์สินในรูปแบบของเหรียญ FTT มากถึง 88% 

ซึ่งการมีแต่คริปโทเคอร์เรนซี ไม่มีเงินสดหรือสินทรัพย์จริงมารองรับเช่นนี้ ทำให้ Alameda Research มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก เพราะเหมือนเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่บนวิมานอากาศที่พร้อมจะสลายหายไปได้ทุกเมื่อ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ FTT ที่มูลค่าดิ่งทันทีที่มีข่าว 

และนอกจากจะไม่มีทรัพย์สินที่มีเสถียรภาพมารองรับแล้ว บริษัทยังมีหนี้ถึงกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ หรือ 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่ง แซม แบงก์แมน-ฟรีด ได้นำคริปโทเคอร์เรนซีที่มีไปค้ำประกันไว้ ทำให้เมื่อเหรียญเหล่านั้นสูญมูลค่าไป ทุกอย่างก็ล้มกันเป็นทอดๆ 

นอกจากนี้ การที่ Alameda Research มีการครอบครองเหรียญ FTT ไว้ ยังส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อ ‘ชื่อเสียง’ ของทั้ง 2 บริษัท และภาพลักษณ์ ‘นักธุรกิจใจบุญ’ ของ แซม แบงก์แมน-ฟรีด เพราะนี่ทำให้เกิด ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ที่เปิดช่องให้บริษัทเทรดคือ Alameda Research รู้ข้อมูลการซื้อขายภายในของ FTT และนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการซื้อขายได้ ซึ่งในการซื้อขายสินทรัพย์แบบดั้งเดิมเช่น หุ้น ความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มซื้อขายกับบริษัทเทรดเป็นสิ่งที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด

จนถึงตอนนี้ สาเหตุที่ทั้งสื่อและนักลงทุนยังตกใจอยู่ ก็เป็นเพราะว่าไม่มีใครคิดว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น เพราะแซมมีภาพลักษณ์ที่ดีมาตลอด อีกทั้งยังเป็นคนที่มีผลงานบริหารจัดการบริษัทให้อยู่รอด ผ่านช่วงที่บริษัทอื่นๆ ต่างล้มตายจากแรงกระทบจาก LUNA และ TerraUSD มาได้

 

เหตุการณ์นี้จึงเรียกได้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่พลิกชีวิตของ แซม แบงก์แมน-ฟรีด ไปในพริบตา และอาจจะเป็นเหตุการณ์ที่พลิกวงการคริปโทฯ อีกเหตุการณ์ด้วย เพราะถึงแม้ในตอนนี้ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าปัญหาสภาพคล่องของ FTX จะส่งผลกระทบต่อใคร บริษัทใด และมากเท่าไหร่บ้าง หากดูจากความสำคัญและอิทธิพลของ FTX กับ Alameda Research ในวงการคริปโทฯ แล้ว การล้มในครั้งนี้ก็อาจจะสั่นสะเทือนไปทั้งวงการเช่นเดียวกัน

 

ที่มา: Forbes, Time, Coindesk, CNBC

advertisement

SPOTLIGHT