ธุรกิจการตลาด

ทำไมประกันภัยรถ EV แพงกว่ารถสันดาป?คปภ.ถกบริษัทประกัน เร่งแก้ปัญหา

8 ต.ค. 65
ทำไมประกันภัยรถ EV แพงกว่ารถสันดาป?คปภ.ถกบริษัทประกัน เร่งแก้ปัญหา
ไฮไลท์ Highlight
"สาเหตุที่เบี้ยประกันภัยรถยนต์ EV แพงกว่ารถสันดาปเพราะ รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องใหม่ในตลาดบริษัทประกันยังไม่มีข้อมูลที่เป็นมาตรฐานว่า เมื่อผู้บริโภคซื้อไปใช้แล้ว สถิติการเคลม อัตราค่าซ่อมต่างๆจะเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลที่ไม่มากนี้ทำให้บริษัทประกันที่รับทำ ต้องตั้งราคาที่สูงไว้ก่อน เชื่อว่า ในช่วงเริ่มต้นสู่รถยนต์ EV ระยะ 3-4 ปีแรก ค่าเบี้ยประกันจะอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ จนกว่าจะมีข้อมูลการเคลมรถยนต์ EV ชัดเจน บริษัทประกันเข้ามาเล่นในตลาดนี้มากขึ้น เมื่อนั้นราคาก็จะลดลงมาได้เองตามกลไกของตลาด" แหล่งข่าวกล่าว

กระแสความสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV หรือแบบไฟฟ้า 100% ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะหลายคนอยากใช้รถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดค่าใช้จ่าย โดยที่ผ่านมารัฐให้การสนับสนุนทำให้ราคาของรถ EV จากค่ายที่ร่วมรายการมีราคาที่ถูกลงด้วย แต่รู้หรือไม่ว่า เบี้ยประกันของรถ EV มีราคาที่แพงกว่ารถสันดาปทั่วไป จนถึงขนาดที่ คปภ.ต้องเรียกบรรดาบริษัทประกันภัยมาหารือเพื่อหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้  ทีมงาน SPOTLIGHT พาไปหาคำตอบว่าทำไม ประกันภัยรถ EV จึงแพงกว่า รถสันดาป

แหล่งข่าวจากโบรเกอร์ประกันรถยนต์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีบริษัทประกันรับทำประกันภัยรถยนต์ EV อยู่ไม่เกิน 5 รายซึ่งถือว่าน้อยมาก ในปีที่แล้ว (2564 ) หากเป็นรถยนต์ EV จากค่าย MG มีบริษัทวิริยะประกันภัย นวกิจ และ ไทยศรีประกันภัย ต่อมาในปีนี้เริ่มมีปริมาณการซื้อรถ EV มากขึ้นและมีค่ายรถยนต์ขาย EV เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็น ORA,NETA,BYD เป็นต้น แต่ก็ยังมีบริษัทรับทำประกันภัยรถยนต์น้อยรายอยู่ดี ขณะเดียวกันเบี้ยประกันถือว่าสูงกว่ารถสันดาปด้วย เฉลี่ยเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณมากกว่า 20,000 บาท ต่อปี

"สาเหตุที่เบี้ยประกันภัยรถยนต์ EV แพงกว่ารถสันดาปเพราะ รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องใหม่ในตลาดบริษัทประกันยังไม่มีข้อมูลที่เป็นมาตรฐานว่า เมื่อผู้บริโภคซื้อไปใช้แล้ว สถิติการเคลม อัตราค่าซ่อมต่างๆจะเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลที่ไม่มากนี้ทำให้บริษัทประกันที่รับทำ ต้องตั้งราคาที่สูงไว้ก่อน เชื่อว่า ในช่วงเริ่มต้นสู่รถยนต์ EV ระยะ 3-4 ปีแรก ค่าเบี้ยประกันจะอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ จนกว่าจะมีข้อมูลการเคลมรถยนต์ EV ชัดเจน บริษัทประกันเข้ามาเล่นในตลาดนี้มากขึ้น เมื่อนั้นราคาก็จะลดลงมาได้เองตามกลไกของตลาด" แหล่งข่าวกล่าว

รถยนต์ไฟฟ้า EV 

สาเหตุที่ประกันรถยนต์EV แพงกว่า รถสันดาป 

1.ราคาอะไหล่แพง โดยเฉพาะแบตเตอรี่ของรถ EV มีตั้งแต่  100,000 - 300,000 บาท หรืออาจสูงกว่านี้แล้วแต่รุ่น

2.ปริมาณอะไหล่ต่างๆมีไม่มากพอ ต้องรอนำเข้าใช้เวลานานหากมีการซ่อมหรือเปลี่ยน

3.จำนวนช่างซ่อม ส่วนใหญ่ต้องซ่อมห้าง(ศูนย์) ช่างที่อู่ อาจจะยังไม่มีประสบการณ์ในการซ่อมรถ EV มากนัก เพราะเป็นสินค้าใหม่ในตลาดประเทศไทย 

สำนักงาน คปภ. เร่งหาข้อยุติแก้ไขปัญหาเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า EV แพง

 ขณะที่ในมุมของ ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เบี้ยประกันภัยของรถยนต์ไฟฟ้าแพงกว่าเบี้ยประกันภัยของรถยนต์ทั่วไปอย่างมาก สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย พัฒนา ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย จึงได้เชิญบริษัทประกันภัยที่มีการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หลายบริษัท และผู้แทนจากคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทยหลายครั้ง เพื่อหารือข้อสรุปเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสรุปผลได้ 3 ประเด็นหลัก ๆ ดังนี้

ประเด็นแรก สถานการณ์โดยทั่วไป ปัจจุบันมีรถ EV จดทะเบียนทุกประเภทประมาณ 20,000 คัน แบ่งเป็นรถเก๋งประมาณ 7,500 คัน และรถประเภทอื่น ๆ อาทิ รถจักรยานยนต์และรถโดยสารประมาณ 12,500 คัน และบริษัทกำหนดเบี้ยประกันภัยรถ EV สัญชาติเอเชียสูงกว่ารถสันดาปในระดับเดียวกันประมาณ 5-10% รถยุโรปสูงกว่าประมาณ 10-15% และอเมริกาสูงกว่าประมาณ 20-25% ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบริษัทที่รับประกันภัยรถยนต์กลุ่มนี้

ประเด็นที่ 2 ได้มีการหารือเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคของการรับประกันภัยรถ EV ที่มีจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับรถสันดาปในปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 800:1 ลักษณะการซ่อมไม่ว่าจะเสียหายมากหรือน้อย จะเป็นลักษณะของการเปลี่ยนยกชุดอุปกรณ์แทนการซ่อม ซึ่งจะทำให้มีราคาต้นทุนค่อนข้างสูงมาก

ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ยี่ห้อ ORA ราคาทุนประกันภัยประมาณ 8 แสนบาทส่วนของแบตเตอรี่ที่เสียหายต้องมีการเปลี่ยน ต้นทุนในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ยกชุดประมาณ 5 แสนบาท สำหรับความถี่ในการเกิดเหตุนั้นใกล้เคียงกับรถสันดาป แต่ต้นทุนในการเกิดเหตุสูงกว่ารถสันดาปค่อนข้างมาก ส่งผลให้ Loss Ratio เฉลี่ยของรถ EV สูงกว่ารถสันดาปค่อนข้างมาก ซึ่งข้อมูลจากการรับประกันภัยรถ EV ของต่างประเทศซึ่งมีประสบการณ์ในการรับประกันภัยมาก่อนพบว่ามี Loss Ratio สูงมากกว่ารถสันดาปถึง 30-40%

ประเด็นที่ 3 ที่ประชุมเห็นตรงกันในการแก้ไขปัญหาเบี้ยประกันภัย ระยะสั้นและเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัย ดังนี้

- การจัดทำเอกสารแนบท้าย กำหนดทางเลือกเฉพาะกรณีแบตเตอรี่ได้รับความเสียหายและต้องมีการเปลี่ยนแบบยกชุดเท่านั้น (กรณีใช้วิธีการซ่อม บริษัทรับผิดชอบทั้งหมด) โดยให้มีทางเลือก 3 กรณี ให้ผู้เอาประกันภัยเลือกข้อใดข้อหนึ่ง และบริษัทจะให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัย 10-25% (ตามประสบการณ์ของแต่ละบริษัท) ดังนี้

         กรณีที่ 1 จำกัดจำนวนเงินความคุ้มครองของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยบริษัทจะให้ความคุ้มครองไม่ต่ำไปกว่า 50% ของมูลค่าแบตเตอรี่ หรือ

         รณีที่ 2 กำหนดความรับผิดส่วนแรก โดยจะระบุไม่เกิน 15% ของมูลค่าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ

         กรณีที่ 3 Copayment กำหนดให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายร่วมไม่เกิน 15%

- ที่ประชุมได้ตกลงร่วมกันว่าในช่วงนี้บริษัทประกันภัยรถ EV จะไม่มีการขึ้นเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมโดยบริษัทจะคงราคานี้ไว้ไปก่อน แม้ว่า Loss Ratio ของกลุ่มนี้จะสูงกว่ารถสันดาปค่อนข้างมาก

  • สิ่งที่จะดำเนินควบคู่กันไปเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคือจะดำเนินการเก็บรวบรวมสถิติในการรับประกันภัยรถ EV และศึกษารูปแบบการประกันภัยเพื่อจัดทำพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถ EV เพื่อให้ความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยสอดคล้องกับความเสี่ยงและต้นทุนในการรับประกันภัย ซึ่งเป็นความเสี่ยงภัยใหม่ที่บริษัทประกันภัยในประเทศไทยยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ โดยกำหนดแผนดำเนินการในปี 2566

    ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยเร่งพิจารณาร่างเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถ EV ร่วมกับสายกฎหมายและคดีเพื่อเสนอต่อนายทะเบียนพิจารณาให้ความเห็นชอบตามกระบวนการและขั้นตอนต่อไป 

“การประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (รถ EV) แพง เป็นมาตรการระยะสั้นและเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัย เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่และมีประเด็นแตกต่างจากกรณีประกันภัยรถยนต์ทั่วไป ในอนาคตจำเป็นจะต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ EV โดยเฉพาะ ซึ่งจำเป็นต้องจัดทำพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถ EV เพื่อให้ความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยสอดคล้องกับความเสี่ยงและต้นทุนในการรับประกันภัยอันจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

สำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์ EV ไปแล้วจากนี้คงต้องแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับ ปัญหา อุปสรรค ของการใช้รถ EV กันมากหน่อยเพื่อทำให้ช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดสำหรับรถยนต์ EV ราบรื่นมากขึ้น ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหาเพื่อให้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นรถยนต์กระแสหลักได้จริงในอนาคต

วีดีโอที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT