ธุรกิจการตลาด

คนไทยดูข่าว มากกว่าละคร พฤติกรรมผู้ชมเปลี่ยน โจทย์ท้าทาย ธุรกิจสื่อ!

10 มิ.ย. 65
คนไทยดูข่าว มากกว่าละคร พฤติกรรมผู้ชมเปลี่ยน โจทย์ท้าทาย ธุรกิจสื่อ!


ในปี 2565 ‘คนไทยดูข่าว มากกว่าดูละคร’ ย้อนแย้งกับความเข้าใจในอดีตว่ายังไงละครก็ต้องได้รับความนิยมมากว่าข่าว



‘นีลเส็น’ เผย คนไทยดูข่าวมากกว่าละคร - ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม

 

(m)istock-1174414266



นีลเส็น ประเทศไทย สำรวจพฤติกรรมการผู้บริโภคพบว่าในปี 2022 เนื้อหาที่คนไทยดูมากที่สุดตอนนี้คือ รายการข่าว 52 % ขณะที่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาในปี 2019 คนไทยดูละคร ซีรีส์มากที่สุด 54% โดยสาเหตุหนึ่งคาดว่ามาจากสถานการณ์โควิดมีส่วนทำให้พฤติกรรมเปลี่ยน โดยช่วงเริ่มแรกคนติดตามข่าวการรายงานรายวันและสถานการณ์รอบโลก และปัจจุบันรายการข่าวหลายรายการมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเอื้ออำนวยให้ผู้ชมเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
 

ส่วนช่องทางในการรับชม ผลสำรวจของนีลเซ็น ระุบว่า ทีวียังเป็นช่องทางที่เข้าถึงคนไทยได้มากที่สุด ซึ่ง 95% ของครัวเรือนไทยที่สามารถเข้าถึงทีวีได้ ขณะที่ผู้ใช้ส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนจากการดูผ่านเครื่องเล่นทีวีแบบดั้งเดิม เป็นช่องทางดิจิทั โดยการรับชมทีวีผ่าน สมาร์ททีวี เติบโตขึ้นถึง 147% จากปี 2019 (ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19) และกว่า 45% ดูทีวีผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งโตถึง 83%
 
มากไปกว่านั้น เมื่อเทรนด์ของผู้ชมเริ่มไปทางฝั่งออนไลน์มากขึ้น ช่องทีวีเริ่มมีการปรับตัว หันมาทำเนื้อหาในรูปแบบออนไลน์ สร้างแพลตฟอร์มของตัวเองมากขึ้น โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ มีผู้ชมคอนเทนต์ผ่านทาง แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งหรือ OTT (Over the top) เพิ่มขึ้นถึง 30% นับจากปี 2019 จาก 29% กลายเป็น 59%



 
ธุรกิจทีวีดิจิทัลเร่งขยายสู่ธุรกิจออนไลน์รับพฤติกรรมใหม่

 

(m)istock-1298484164



ผู้บริหารจากบริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จํากัด แบ่งปันมุมมองกับทีมข่าว Spotlight ถึงพฤติกรรมผู้ชมทีวีที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิด-19 ว่า ในช่วงของการล็อคดาวน์ 2 ครั้งแรก ประชาชนต้องอยู่กับบ้าน จึงนิยมซื้อ ‘สมาร์ททีวี’ เพื่อให้รับชมสื่อบันเทิงที่ปกติรับชมผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต บนจอที่ใหญ่ขึ้น จึงไม่แปลกใจที่ตัวเลขผู้รับชมทีวีผ่านสมาร์ทโฟนจะสูงขึ้น

 

แต่หากพิจารณาในแง่ของจำนวนผู้ชมแล้ว นอกจากการล็อกดาวน์ครั้งแรกในปี 2019 ที่ทุกคนหยุดอยู่บ้านพร้อมกันแล้ว จำนวนผู้รับชมทีวีก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการเกิดขึ้นของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มต่างๆ ที่แบ่งสัดส่วนผู้ชมให้เล็กลง และเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

 

ด้วยเหตุนี้ ทุกช่องทีวีจึงเร่งปรับตัวโดยการพัฒนาคอนเทนต์ออนไลน์ และบุกแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทั้ง Facebook YouTube รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์ม OTT ของตัวเอง เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าที่ใช้เวลากับสมาร์ทโฟนมากขึ้นเรื่อยๆ สร้างฐานลูกค้าใหม่ที่ใช้แต่ช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ช่องทางเหล่านี้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่กับช่องทางทีวี

 



ไม่ใช่แค่สัญญาณจากจำนวนผู้ชมที่ลดลงเท่านั้น แต่เม็ดเงินที่แต่ละบริษัทใช้กับการโฆษณา ก็เพิ่มสัดส่วนในการโฆษณากับสื่อออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน เพราะมีความจำเพาะเจาะจง และวัดประเมิณผลง่ายกว่า แม้ช่องทางทีวีจะเข้าถึงมวลชมนมากกว่าก็จริง แต่หากเทียบกับงบประมาณที่บริษัทที่ต้องใช้แล้ว ลูกค้าก็อาจมองว่าคุ้มค้าน้อยกว่า โดยสัดส่วนเม็ดเงินที่บริษัทในสหรัฐจ่ายให้กับโฆษณาในสื่อออนไลน์ในหลายปีให้หลังมานี้ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจนใกล้เคียงกับเม็ดเงินที่ให้กับโฆษณาทีวี ราว 50:50 เลยทีเดียว

 

จุดเปลี่ยนสำคัญที่จะต้องติดตามคือ ในปี 2029 ที่จะถึงนี้ ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่อยู่ในมือแต่ละช่องทีวีจะหมดอายุ ซึ่งในเวลานั้นทุกช่องทีวีคงสร้างฐานที่มั่นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของตัวเองได้อย่างแข็งแกร่งแล้ว บวกกับความพร้อมของอุปกรณ์เนื่องจากเป็นช่องทีวี มีสตูดิโอและอุปกรณ์การถ่ายทำและถ่ายทอดระดับมืออาชีพเป็นของตัวเอง เมื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการขอใบอนุญาตหลัก “ร้อยล้านบาท” ด้วยแล้ว อาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการสื่อก็เป็นได้

 

ข่าวเริ่มเหมือนละคร ละครเริ่มสะท้อนชีวิตจริง

 

633368



สำหรับความนิยมของข่าวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนแซงละครได้ในช่วงที่ผ่านมานั้น ผู้บริหารอมรินทร์มองว่า ในระยะหลังนี้ ช่องทีวีสามารถนำเสนอข่าวได้อย่างเจาะลึก และหลายมิติมากขึ้น ทั้งข่าว ‘ดราม่า’ อย่างกรณีการหายตัวไปของน้องชมพู่ การเสียชีวิตของแตงโม นิดา ประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือแม้แต่เรื่องปากท้อง ของแพง ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน ซึ่งรายการข่าวช่องทีวี สามารถแตกประเด็นได้หลากหลาย พาไปดูเส้นทางของสิ่งที่เกิดขึ้น ฯลฯ มีการเล่าเรื่องที่ดูเป็น ‘ละคร’ มากขึ้น ซึ่งยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง

 

ในอีกมุมหนึ่ง แม้ละครจะถูกความนิยมของข่าวเบียดไป แต่ความเข้มข้นของละครก็ยิ่งมีมากขึ้น โดยลักษณะละครที่ประสบความสำเร็จในยุคสมัยนี้ คือละครที่สะท้อน ‘ความเป็นจริง’ ออกมาได้ ทั้งบริบทที่เหมือนกับชีวิตจริงในปัจจุบัน หรือยกประเด็นปัญหาของสังคมมาถ่ายทอด ทำให้คนดูเข้าถึงเนื้อเรื่องได้อย่างเข้มข้มมากขึ้น และมนุษย์ก็ยังคงเข้าถึงปมซึ่งเป็นแก่นของบทละครอมตะได้ เช่น การเลือกคู่ชีวิตผิดคน หรือการยอมทุ่มเททุกอย่างเพื่อคนรัก แม้จะเป็นวัตถุดิบเก่า แต่เมื่อถูกปรุงแบบสมัยใหม่ ก็ถูกปากคนไทยเสมอ

 

การทำข่าวในยุคใหม่นี้จึงควรมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่แข็งแรง และสดใหม่ ในขณะที่ละครก็ควรเจาะกลุ่มผู้บริโภคให้ชัด และนำเสนอประเด็นที่จะเกิดอิมแพ็คกับผู้ชมกลุ่มนั้นๆ แบบที่อาจจะสัมผัสได้ด้วยตัวเองในชีวิตจริง

 

ชนะบนทีวี ไม่ได้แปลว่าชนะเกมการแข่งขัน

 

(m)istock-1358059881


ด้าน นายกฤตนัน ดิษฐบรรจง บรรณาธิการอำนวยการ ‘เว็บไซต์ Modernist’ ให้สัมภาษณ์กับทีม Spotlight ว่า ไม่ว่าจะเป็นข่าว หรือละคร สุดท้ายแล้ว “Content is King” ก็ยังคงเป็นความจริงเสมอ ไม่ว่าจะเป็นข่าวช่องไหน ออกอากาศทางช่องทางใด ยิ่งในปัจจุบันนี้ที่ช่องทีวีให้ความสำคัญกับ ‘First Screen (ช่องทางทีวี)’ พอๆ กับ ‘Second Screen (ช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ)’ และยังมีการส่งออกคอนเทนต์ไปยังต่างประเทศด้วย การที่ข่าวหรือละครไม่ประสบความสำเร็จบนทีวีจึงไม่ได้แปลว่ากลายเป็นผู้แพ้ในเกมเสมอไป
 
เนื่องจากช่องทาง First Screen มุ่งจับกลุ่มผู้ชมที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ในขณะที่ Second Screen มุ่งจับกลุ่มที่เด็กลงมา ช่องทีวีจึงมีกลยุทธ์ในการสร้างและกระจายคอนเทนต์ไปลงยังช่องทางต่างๆ อย่างเช่นละครซีรีส์วายที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น แม้มีเรตติ้งที่ไม่สูงบนทีวี แต่มียอดวิวหลักแสนบนแอพพลิเคชัน และยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศจีน และประเทศอื่นๆ ได้ สร้างรายได้ให้กับช่องผ่านทางการขายลิขสิทธิ์

 

หรือการถ่ายรายการข่าวบนโทรทัศน์ เมื่อหมดสล็อตเวลาแล้วจะต้องไปติดตามต่อบน OTT แพลตฟอร์มของช่องนั้นๆ ก็นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยขยายฐานผู้ชมให้กับช่อง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการขายโฆษณาทางทีวี บนแพลตฟอร์ม หรือขายแพ็คคู่ได้ด้วย หนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญคือ การที่สถานีโทรทัศน์เก่าแก่อย่าง ‘ช่อง 7’ ได้ลงมาลุยตลาด Second Screen รวมถึงแพลตฟอร์ม OTT ก็นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่สื่อน้อยใหญ่ต้องให้ความสำคัญ

 

วัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม (Cross Platform) มาช้าไปมั้ย?

 

istock-1311246242

 


เมื่อกระแสออนไลน์มาแแน่นอน นีลเส็น ประเทศไทย จึงกำลังพัฒนาการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม (Cross Platform) ซึ่งเป็นโครงการร่วมกับ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช). โดยนีลเส็นได้ดำเนินการตามแผนงานโดยมีการติดตั้ง และปรับปรุงระบบ และอุปกรณ์เพื่อรองรับการวัดการรับชมผ่านออนไลน์เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการเก็บผลสำรวจและทดสอบระบบ ซึ่งจะได้รายงานผลสำรวจความนิยมของรายการโทรทัศน์แบบข้ามแพลตฟอร์มชุดแรกในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 นี้

 

สำหรับการสำรวจความนิยมรายการโทรทัศน์แบบข้ามแพลตฟอร์มนี้ เป็นเทคโนโลยีระบบการวิจัยล่าสุดที่ นีลเส็น ได้พัฒนาและเริ่มใช้แล้วในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้ใช้ระบบการวัดเรตติ้งชนิดใหม่นี้

 
แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ระบบการวัดประเมิณความนิยมแบบใหม่ที่เนลเส็นพยายามจะนำเสนอนี้ จะสร้างอิมแพ็คให้กับวงการทีวีและวงการโฆษณามากแค่ไหน? รวมถึงการมาในจังหวะนี้นับว่าถูกที่ ถูกเวลาแล้วหรือเปล่า?

 

istock-1305169776

 

เมื่อสอบถามถึงเรื่องระบบการวัดเรตติ้งแบบใหม่นี้ ผู้บริหารจากอมรินทร์ ทีวี กล่าวว่า เดิมทีการวัดประเมินเรตติ้งทีวีที่เนลเส็นจัดทำขึ้นนั้นก็เป็นที่น่าฉงนของแวดวงช่องทีวีและวงการโฆษณาอยู่แล้ว ระบบการวัดเรตติ้งแบบใหม่นี้ ก็ยังคงความไม่ชัดเจนอยู่เช่นกัน เนื่องจากนีลเส็นยังไม่เผยถึงแพลตฟอร์มที่เลือกเก็บข้อมูลว่าคำนวณจากแพลตฟอร์มไหนบ้าง รวมถึงวิธีวัดประเมิน จนทำให้ได้ออกมาเป็นเรตติ้งสุดท้าย และที่สำคัญกว่านั้นคือ ระบบเรตติ้งดังกล่าวจะได้รับการยอมรับจากวงการเอเจนซีโฆษณา และนำมาใช้อ้างอิงในการพิจารณาเสนอเม็ดเงินซื้อโฆษณากับช่องทีวีแต่ละช่องมั้ย

 

ด้านนายกฤตนัน จาก Modernist มองว่า ปัจจุบันแต่ละช่องทีวีก็สามารถแสดงยอดผู้ชม ผู้ติดตามของแต่ละแพลตฟอร์มของตัวเองได้อยู่แล้ว รวมถึงแพลตฟอร์ม OTT ที่แต่ละช่องปลุกปั้นขึ้นมานี้ จะกลายเป็นเครื่องมือชั้นดีในการทำความเข้าใจและเก็บสถิติข้อมูลการรับชมสื่อของผู้บริโภค ความพยายามของเนลเส็นในครั้งนี้จึงถือว่า ‘มาช้าไป’ และเป็น ‘เครื่องหมายคำถาม’ อันใหญ่สำหรับคนในวงการสื่อและโฆษณา ที่เนลเส็นจะต้องรีบมาไขข้อข้องใจให้กับทุกคน

 

924291
นาย กฤตนัน ดิษฐบรรจง บรรณาธิการอำนวยการ ‘เว็บไซต์ Modernist’

 

ข้อมูลเรตติ้งช่องที่ทีวีสูงสุด 5 อันดับ ที่รวบรวมโดย ส่องสื่อ มีเดีย แลป ในเดือนมีนาคม 2022 เป็นดังนี้

 

อันดับ 1 ช่อง 7 เรตติ้ง 1.446

อันดับ 2 ช่อง 3 เรตติ้ง 1.05

อันดับ 3 ช่อง โมโน29 0.67

อันดับ 4 ช่องไทยรัฐทีวี 0.663

อันดับ 5 ช่องอมรินทร์ทีวี 0.658

 


เช่นเดียวกันกับทุกอุตสาหกรรม วงการสื่อทีวีเองก็ต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันกับพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งในแง่ของแพลตฟอร์มที่ผู้บริโภคใช้ คอนเทนต์ที่ผู้บริโภคต้องการเสพ และสำคัญที่สุด คือการนำคอนเทนต์ที่ ‘ถูกใจ’ เสิร์ฟให้กับกลุ่มผู้ชมที่ ‘ถูกกลุ่ม’ บนแพลตฟอร์มที่ ‘ถูกต้อง’ และพึงระลึกไว้เสมอว่า ยังไงมนุษย์ก็ต้องการเสพความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของสื่อบันเทิง หรือสาระความรู้ อยู่วันยันค่ำ

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT