ธุรกิจการตลาด

7 เทรด์สุดล้ำอนาคต ตามทันมั้ย?

3 ม.ค. 65
7 เทรด์สุดล้ำอนาคต ตามทันมั้ย?

โลกเคลื่อนตัวไว เข้าสู่ยุค “ปลาเร็วกินปลาช้า” เสียงรอบตัวคอยบอกว่าต้องตามกระแส จนหลายคนละเลยการศึกษาและทำความเข้าใจ จึงกระโดดเข้าไปเพียงเพื่อให้ตัวเอง “ไม่ตกรถ” ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี

 

ในมิติของธุรกิจและเทคโนโลยี ทุกคนคงเคยได้ยิน “7 เทรนด์แห่งโลกใหม่” เหล่านี้ และกำลังเตรียมออกวิ่งเพื่อให้ตัวเองไม่ตกกระแส แต่ SPOTLIGHT อยากชวนทุกคนแวะออกมามองกระแสเหล่านี้จากข้างทาง ผ่านบทความ “The 7 most overhyped trends of 2022” หรือ “7 เทรนด์อนาคตที่คนคลั่งไคล้มากเกินไป”

 

ลองมาคิด พิจารณา ทำความเข้าใจอีกแง่มุมหนึ่งของเทรนด์เหล่านี้ แล้วค่อยหาจังหวะที่ใช่ ปรับตัวให้เข้ากับกระแสเหล่านี้ ก็คงไม่สาย

.

65ff33c9-e9da-4b59-9cbb-dd4e3

 

1.เทรนด์โลก : ขนโลกทั้งใบเข้าไปอยู่ใน Metaverse

 

ตั้งแต่ที่ “Facebook” ออกมาเล่นใหญ่ ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก “Facebook” เป็น “Meta” เพื่อประกาศเจตจำนงว่ากำลังมุ่งหน้าสู่ เมตาเวิร์ส  หรือ “จักรวาลนฤมิต” อย่างเต็มสูบ ทั้งโลกโซเชียล และโลกธุรกิจก็เหมือนได้รับแรงกระเพื่อม ทะยอยประกาศขึ้นรถไฟสาย เมตาเวิร์ส กันอย่างไม่ขาดสาย 

 

โดย มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่ง Meta ให้มุมมองว่า โลกเมตาเวิร์สนี้จะเป็นโลกเสมือนที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ชีวิต ทำกิจกรรมได้อย่างไร้รอยต่อ ตั้งแต่เล่นเกม รับชมความบันเทิง เจอตัวกันผ่าน Avatar หรือประชุมกันแบบครบทีม แต่นี่จะเป็นโลกใบใหม่ ที่ตอบโจทย์ชีวิตในทุกๆ มิติ… จริงๆ เหรอ?

 

ชวนให้คิด : ธุรกิจของเราจะได้ประโยชน์อะไรจาก Metaverse

 

หนึ่งคำถามที่ทุกคนควรตัวเองหลังจากที่เห็นกระแสของเมตาเวิร์ส คือ “ธุรกิจของเราจะได้ประโยชน์อะไรจาก เมตาเวิร์ส?” ธุรกิจบางกลุ่ม เช่น สื่อบันเทิง เกม และแฟชัน ได้รับอานิสงส์เต็มๆ ในเรื่องการมอบประสบการณ์รูปแบบใหม่ๆ ให้กับลูกค้าและการมาร์เก็ตติ้ง แต่ถ้าเป็นธุรกิจประเภทอื่น อาจจะยังไม่เห็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนนัก

 

หม่า เจี๋ย รองประธานของ “ไป่ตู้” เสิร์จเอ็นจินอันดับ 1 ของจีน อันดับ 4 ของโลก เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เมตาเวิร์สของไปตู้อาจต้องใช้เวลาถึง 6 ปีในการพัฒนา ก่อนจะพร้อมให้บริการจริง ด้าน Fast Company ให้มุมมองผ่านบทความนี้ว่า ความสำเร็จของโซเชียลมีเดียเกิดจากการที่คน “พกโซเชียลมีเดียติดตัวไปได้ทุกที่” แต่อุปกรณ์ในปัจจุบันยังค่อนข้างเทอะทะ ไม่สะดวกในการพกพาไปไหนมาไหน และการเชื่อมต่อระหว่างโลกเสมือน และโลกแห่งความเป็นจริงยังไม่ลื่นไหล ไร้รอยต่อเท่าที่ควร

 

จนกว่าจะถึงวันที่เทคโนโลยีพร้อม และประโยชน์เชิงต่อธุรกิจชัดเจน แบรนด์ของคุณก็สามารถใช้ช่วงเวลนานี้ ศึกษา เมตาเวิร์ส ให้ละเอียดลึกซึ้งจากข้างสนามไปก่อนได้

.

  

2.เทรนด์โลก : ปูพรมแดงรองรับ “GenZ” ลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่จะมาแทนวัย “Millennials”

 

ความตะมุตะมิของแนว “มินิมอล” และ “Flat Design” ดีเทลน้อย เข้าใจง่าย สีพาสเทล เหมาะกับการถ่ายลง Instagram เป็นสิ่งที่พบเห็นได้เกลื่อนโซเชียลมีเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะแบรนด์เล็กแบรนด์แบรนด์ใหญ่ แบรนด์เก่าแบรนด์ใหม่ ต่างพากันใช้ภาพหรือโลโกในโทนที่คล้ายๆ กัน เพราะนั่นคือแนวที่ถูกจริตกับ “คนวัย Millennials” (เกิดในปี  1980 - 1995 )

 

แต่คนในวัย GenZ (เกิดในปี 1995 - 2012 ) เป็นเจนที่ชอบความเรียล แต่ก็ชื่นชอบการนำเสนอที่ฉูดฉาด ประหลาดตามากขึ้น ชื่นชอบสิ่งที่ “ปลุกพลังในตัวเอง” เมื่อได้เห็นหรือสัมผัส โดยคนในแวดวงการตลาดระบุตรงกันว่าคนในวัยนี้สนใจกับสิ่งต่างๆ ได้สั้นลง (Millenials สนใจได้ราว 12 วิฯ แต่คน Gen Z เหลือ 8 วิ) และเป็นมนุษย์เจนแรกที่เจออินเตอร์เน็ตตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาดูโลก!

 

นั่นแปลว่าทุกแบรนด์ในโลกต้องเร่งปรับดีไซน์ รีแบรนด์ใหม่ (อีกแล้ว) เพื่อให้ดึงดูดชาว GenZ อย่างนั้นหรือ?

  

ชวนให้คิด : สื่อสารความเป็นตัวเองของแบรนด์ แบบไม่ต้องประดิษฐ์หรือปิดบัง 

 

ข้อดีของการเติบโตมากับอินเตอร์เน็ต คือพวกเขาคุ้นเคยกับโลกที่อุดมไปด้วยความหลากหลาย ทั้งเรื่องความเชื่อ ความคิด วัฒนธรรม รวมไปถึงเรื่องเพศด้วย เป็นวัยที่เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ชอบอะไรที่ไม่ซับซ้อน และจริงใจ

 

ฉะนั้นสิ่งที่แบรนด์ควรทำนั้นง่ายมาก ไม่จำเป็นต้องฝืนวิ่งหาเทรนด์ใหม่ๆ แต่งเติมตัวเองให้แปลกประหลาด หรือฉูดฉาด หากสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ตัวตนของแบรนด์คุณจริงๆ ในทางตรงกันข้าม เพียงกลับมาทำความเข้าใจ และหาคุณค่าที่แท้จริงของแบรนด์ให้เจอ แล้วสื่อสารสิ่งนั้นออกไป หากสิ่งนั้นจริง และชัดเจนมากพอ คุณก็จะดึงดูดคนในวัย GenZ ที่กำลังค่อยๆ กลายเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่กุมอำนาจใช้จ่ายของโลกนี้ไว้ได้

.

 nike1

3.เทรนด์โลก : NFTs งานศิลปะจับต้องไม่ได้มูลค่าแสนล้าน!

 

ข่าวการซื้อขายสินค้าหรืองานศิลปะแบบ NFTs ที่ว่อนอยู่ในโลกออนไลน์ตอนนี้ เรียกเสียงเสียงฮือฮาให้กับคนทั้งในและนอกวงการเป็นอย่างมาก 

 

“NFTs ดีไซเนอร์ขายรองเท้าบนโลกเสมือน โกย 3.1 ล้านดอลลาร์ (ราว 102 ล้านบาท) ใน 5 นาที!” “ศิลปิน NFTs ขึ้นแท่น 1 ใน 3 ศิลปินที่ทรงมูลค่าที่สุดของโลกที่ยังมีลมหายใจ หลังถูกประมูลภาพไปในราคา 69 ล้านดอลลาร์ (2.3 พันล้านบาท!) ” ฟังแค่นี้ทั้งคนทั่วไป และธุรกิจน้อยใหญ่ก็คงอยากเข้ามาทำความรู้จัก และลองตลาด NTFs ที่ดูฟู่ฟ่า สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่ามูลค่ารวมของการซื้อขายของสินทรัพย์ประเภท NFTs ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ทะลุ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.5 แสนล้านบาท) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

  

แบรนด์ใหญ่ทั้งในไทย และต่างประเทศจึงประกาศส่งสินทรัพย์ของตัวเอง เข้าไปในโลกของ NFTs ไม่ว่าจะเป็น Burberry, Dolce and Gabbana, Nike, GMM Grammy ฯลฯ หรือนี่จะเป็นสัญญาณบอกให้ธุรกิจของเรา เข้าร่วมเทรนด์ NFTs ด้วย?

 

ชวนให้คิด : ทำความเข้าใจ NFTs มองหาคุณค่าระยะยาว

 

วงการสินค้าและศิลปะ NFTs ยังถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น ประโยชน์การใช้งานจริงและภาพการเติบโตไปพร้อมกับระบบเศรษฐกิจของเมตาเวิร์สยังเป็นเรื่องที่เห็นได้น้อยมากๆ ราคาของผลงานต่างๆ ยังนำหน้าอรรถประโยชน์ในการใช้งานจริงอยู่มาก แบรนด์และผู้มีชื่อเสียงหลายคนก็เข้าไปตักตวงโอกาสจากฟองสบู่ที่กำลังขยาย หรือเพื่อโฆษณาว่าตัวเองทันกระแส ไม่ได้เห็นว่าสอดคล้องกับภาพของแบรนด์ตัวเองจริงๆ

 

ดังนั้น อาจจะดีกว่าหากคุณใช้เวลาศึกษาพัฒนาการของ NFTs อีกสักพัก รอให้วง “ไทยมุง ฝรั่งมุง” ซาลงไปบ้าง 

 

จนกว่าจะเห็นประโยชน์ระยะยาวในด้านการสร้างเอกลักษณ์ แสดงกรรมสิทธิ์ให้กับไอเท็มบนโลกเสมือนที่แตะต้องไม่ได้ และมีโอกาสที่คัดลอก ทำปลอมได้ง่าย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อสังคมเมตาเวิร์ส และแบรนด์ของคุณ 

.

  

4.เทรนด์โลก : ลัทธิบูชา “ความเป๊ะ” ทุกอย่างถูกคำนวณบนดาต้า
 

 มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่คลั่งการ “ทำนายและพยากรณ์” (ไม่ใช่แค่กับเรื่องมูเตลู) ย้อนไปตั้งแต่สมัยที่มนุษย์เราอยู่ในถ้ำ หรือเริ่มทำเกษตรกรรมในช่วงแรก ดินฟ้าอากาศเป็นทั้งมิตร และศัตรูของเรา มนุษย์ไม่ได้กลัวพายุฝน  ความแห้งแล้ง ที่สามารถก่ออันตรายทั้งต่อพืชผล และชีวิตของคนเราได้ แต่มนุษย์เรากลัว “ความไม่แน่นอน” และสิ่งที่ “คาดเดาไม่ได้” มากกว่า พูดง่ายๆ ว่ามนุษย์เรา “กลัวความไม่รู้” นั่นเอง

 

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน เทคโนโลยีต่างๆ อันก้าวล้ำ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ฐานข้อมูลขนาดยักษ์ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่เพียงแค่ทำนายผลผลิตของโรงงาน หรือพฤติกรรมของลูกค้าได้แบบนาทีต่อนาที แต่ยังสามารถทำนายสิ่งที่จะเกิดในอนาคตได้อีกด้วย ผู้ผลิตรู้ว่าจะปลูกพืช และเก็บเกี่ยวตอนไหนเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำที่สุด ร้านค้าสามารถคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ตัวเองกะสต็อคในแต่ละสัปดาห์ได้อย่างคุ้มค่าและแม่นยำ ลูกค้าสามารถมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ทำให้ฟันเฟืองของเศรษฐกิจนี้หมุนไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีที่สิ้นสุด นี่ดูเหมือนว่าจะเป็นหนึ่งช่วงของประวัติศาสตร์ที่ Productivity ของมนุษย์พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด!?

.

 
ชวนให้คิด : พร้อม “ปรับตัว” รับความไม่แน่นอนนอกเหนือดาต้า

 

ระบบการผลิตและการขนส่งในปัจจุบัน พึ่งพาเทคโนโลยี และข้อมูล เพื่อให้การผลิตและการขนส่งของมีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้ต้นทุนน้อยที่สุด ซึ่งในสภาวะปกติอาจสร้างประโยชน์ให้บริษัทมหาศาล

 

แต่เมื่อโลกนี้ได้รู้จักกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นเหมือนมือผลักเบาๆ ให้โดมิโนที่มีชื่อว่า “ห่วงโซ่การผลิต” ต้องล้มระเนระนาดทั้งแถว ท่าเรือสำคัญที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ด้านการขนส่งของโลก เช่น ท่าเรือหนิงโป ในประเทศจีน ต้องปิดลงชั่วคราว เรือ 141 ลำต้องติดค้างอยู่หน้าท่าเรือ หรือเหตุการณ์ที่เรือขนส่งสินค้า The Ever Given” ที่มีขนาดเทียบเท่า 4 สนามฟุตบอล บรรจุตู้คอนเทนเนอร์กว่า 20,000 ตู้ติดขวางที่คลองสุเอช สร้างความเสียหายถึง “12,000 ล้านบาทต่อชั่วโมง!”

 

สิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ สิ่งที่ต้องมีควบคู่กันไปคือความสามารถในการปรับตัว และแผนสำรองที่พร้อมใช้ เมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดฝัน ดังเช่นที่เราได้ประสบพบเจอพร้อมกันในช่วงโควิดที่ผ่านมา

.

94715963-a57d-4e90-b1f6-9ce3f

 5.เทรนด์โลก - โลกใบใหม่ที่ชื่อว่า “ความจริงเสมือน (Virtual Reality - VR)”

 

ภาพยนตร์เรื่อง “Ready Player One” หรือ “Free Guy” ที่มนุษย์ใส่แว่น VR แล้วพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกแห่งเกมเสมือจริง ช่วยทำให้เราเห็นภาพอนาคตอันใกล้ ที่ “โลกเสมือน” จะกลายมาเป็นวิถีชีวิตใหม่ทั้งสำหรับวงการเกม และชีวิตของเรา

 

แว่น VR คือประตูที่จะพาเราเข้าไปสู่โลกเสมือนได้ โดยนับตั้งแต่ที่เริ่มวางตลาดในช่วงปลายยุค 1990s และเริ่มกลับมาได้รับความนิยม และพัฒนาในช่วงปี 2010 เรื่อยมา จนในปัจจุบัน อุปกรณ์เหล่านี้มีราคาถูกลง และเหมือนจริงขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆ ขยับจากแกดเจ็ทเพื่อความบันเทิง กลายมาเป็นอุปกรณ์แห่งอนาคตสำหรับโลกของการทำงานด้วย แต่ทว่า… 

 

ชวนให้คิด : รอให้เทคโนโลยีใช้งานง่ายกว่านี้ 

 

ย้อนกลับไปในช่วงที่ทั่วโลกมีการล็อคดาวน์ นับเป็นเวลา “นาทีทอง” ของอุปกรณ์ VR ที่จะพาคนเปลี่ยนผ่านจากโลกแห่งความเป็นจริง สู่โลกเสมือน เพราะผู้คนอยู่บ้าน ออกไปไหนไม่ได้ แต่ผลตอบรับที่เกิดขึ้นจริงกลับไม่ได้ดีเช่นนั้น หากเทียบกับ “Nintendo Switch” อุปกรณ์เกมสุดฮิตจากค่าย Nintendo ที่เน้นการเล่นกับเพื่อนเป็นหลัก อุปกรณ์  VR มียอดขายน้อยกว่า Nintendo Switch ถึง 3 เท่า และหากเทียบกับตลาดเครื่องเล่นเกมโดยรวมแล้ว อุปกรณ์ VR กินส่วนแบ่งตลาดได้เพียง 0.5% เท่านั้น

 

ยังเร็วเกินไปหากจะกล่าวว่าในอนาคตข้างหน้า ทุกอย่างจะต้องเข้าไปอยู่ในโลกเสมือน (หรือก็คือ  เมตาเวิร์สนั่นเอง) หากราคา VR ยังไม่สามารถถูกลงได้กว่านี้ และยังไม่สามารถแก้ปัญหาเมาภาพเคลื่อนไหว (Motion Sickness) ได้ ธุรกิจทั้งหลายคงต้องรอดูกันต่อไปอีกสักระยะ

.

 

6.เทรนด์โลก - “ชอปปิ้งออนไลน์” คือ ทางรอด

 

ปี 2563 - 2564 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่า ชอปปิงออนไลน์ คือ ทางรอดของธุรกิจอย่างแท้จริง นอกจากจะช่วยให้ร้านค้าที่ต้องปิดหน้าร้านสามารถขายสินค้าได้แล้ว ยังช่วยให้ร้านค้าสามารถเข้าถึงลูกค้าที่อยู่คนละจังหวัด หรืออีกฟากหนึ่งของโลกได้อีกด้วย ยอดขายฝั่งออนไลน์ของหลายเจ้าก็เติบโตแซงยอดขายหน้าร้านจากอานิสงส์ของโควิด-19 นี่เอง

 

โดยประเทศไทยของเรานั้นจัดได้ว่าเป็นนักช็อปตัวยง ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ แต่เป็นระดับโลก โดยหากเปรียบเทียบสัดส่วนยอดการชอปกับมูลค่าเศรษฐกิจแล้ว ชาวไทยเราเข้าวิน ครองอันดับ 1 เรื่องการใช้เงินชอปปิ้ง เทียบกับ GDP แซงหน้าพญามังกรแห่งเอเชียอย่างจีน ที่ได้อันดับที่ 2 โดยขนาดเศรษฐกิจของพี่จีนนั้น ใหญ่กว่าของเราถึง 30 เท่า แต่เราก็แซงหน้าเขา และทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว!

 

ในระหว่างที่สถานการณ์ของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และพฤติกรรมของคนก็ดูจะคุ้นชินกับการชอปออนไลน์ กลายเป็น “ความปกติใหม่” ของพวกเขาไปแล้ว ใครยิ่งทำช่องทางออนไลน์ให้แข็งแรงได้ก่อน ยิ่งเติบโตได้ไวเท่านั้น แต่ก็มีเรื่องที่จะต้องคำนึงถึงควบคู่กันไปด้วย นั่นก็คือ…

 

ชวนให้คิด - ชอปปิ้งแบบยั่งยืนคือทางรอด(ของโลก)

 

การสั่งสินค้าออนไลน์หนึ่งครั้ง สร้างขยะให้โลกใบนี้ไม่น้อยกว่า 3 ชิ้น (ห่อด้านนอก ห่อด้านใน และตัวสินค้าของคุณเอง!) ยิ่งของชิ้นไหนเล่นใหญ่ไฟกระพริบแบบที่ต้อง Unbox โชว์ประชาชนชาว TikTok ปริมาณขยะยิ่งมหาศาล จากข้อมูลของ วารสารสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นใน 4 เดือนของช่วงโควิด-19 (ม.ค. - เม.ย. 63) มีปริมาณถึง “3.4 พันตัน/วัน” เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 62.3%

 

นอกจากจะมอบความ “สะดวกสบาย” ให้กับลูกค้าแล้ว แบรนด์ยังควรจับมือกับลูกค้าสร้าง “การชอปปิ้งที่รับผิดชอบต่อสังคม” ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อโลก ใช้ทรัพยากรในการผลิตน้อยลง ลดขั้นตอนการขนส่งซึ่งเป็นต้นตอของการเกิดก๊าซเรือนกระจกถึง 16% จากกิจกรรมทั้งหมดของมนุษย์ สร้างการชอปปิ้งที่ยั่งยืนเพื่อลูกค้า และเพื่อโลก

.

 
7. เทรนด์โลก - ที่ทำงานยุคใหม่ ต้องปรับให้เข้ากับ “Hybrid work”

 

“อาคารสำนักงาน ฉากกั้นออฟฟิศ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ” กำลังจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว พนักงานยุคใหม่ จะต้องสามารถทำงานได้จากทุกที่! ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน หรือเข้าออฟฟิศ ประสิทธิภาพในการทำงานต้องเต็มที่ใกล้เคียงกัน บริษัทจะจัดการหาสิ่งในอำนวยความสะดวกในการทำงาน ทั้งเครื่องมือ และระบบให้กับพวกคุณเอง!

 

ข้อมูลจากการสำรวจพนักงานของ ไมโครซอฟต์ พบว่า เหตุผลที่พวกเขาอยาก Work from Home คือ ความยุ่งยากจากการเดินทางที่ลดลง สมาธิและ Work-life balance ที่ดีขึ้น แต่การทำงานในออฟฟิศก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ ซึ่งเหตุผลที่ต้องเข้าไปทำงานร่วมกับพนักงานคนอื่นๆ ในบริษัท คือ การเข้าไปใช้อุปกรณ์สำนักงาน รวมไปถึงอาหารการกินที่ครบครัน อินเตอร์เน็ตที่แรง การทำงานร่วมกัน รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนพนักงานด้วยกันเอง การมุ่งสร้างระบบการทำงานแบบ Hybrid Work จึงดูเหมือนจะเป็นทางออกของการทำงานยุคใหม่

 

ชวนให้คิด - ที่ทำงานยุคใหม่ ต้องให้ตอบสนองกับ “ความสุขของพนักงาน” ด้วย

  

แค่ปรับระบบโครงสร้างพื้นฐานบริษัทอย่างเดียวอาจไม่พอ อย่าโฟกัสแต่ประสิทธิภาพของงาน จนลืม “ความสุขของพนักงาน” ไป ในโลกปัจจุบันประสบวิกฤตการณ์ “The Great Resignation - การลาออกครั้งใหญ่” ส่วนหนึ่งมาจากการที่โควิดทำให้คนตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตมากขึ้น บางคนต้องสูญเสียคนที่เป็นที่รักไป การได้กลับไปอยู่ที่บ้านทำให้ได้ใกล้ชิดกับคนในครอบครัวมากยิ่งขึ้น ได้ความเป็นครอบครัวกลับคืนมา หัวใจของพนักงาน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าไม่แพ้ประสิทธิภาพการทำงาน หรือผลงานประกอบการของบริษัท

 

ตราบใดที่บริษัทของคุณยังขับเคลื่อนด้วยแรงงาน สมองและหัวใจของ “คน” มากกว่า “หุ่นยนต์” แล้วล่ะก็ ทุกเทคโนโลยีใหม่ๆ ระบบใหม่ๆ ที่นำเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ควรมีส่วนช่วยให้ชีวิตทั้งในและนอกเวลาทำงานของพวกเขาดีขึ้นด้วย
.

  6654ad8b-536e-43ac-9e6e-3d6a0

7 เทรนด์เหล่านี้ล้วนมีศักยภาพในการช่วยให้องค์กรของคุณเติบโตขึ้นทั้งสิ้น แต่ก่อนที่จะเฮละโลไปกับทุกกระแสที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจ ลองเคลื่อนไหวให้ช้าลง คิดพิจารณาถึงแก่นของกระแสเหล่านั้น หาเหลี่ยมที่เสริมพลังกับธุรกิจหรือองค์กรของตัวเอง แล้วค่อยตามลงไปเล่นกับกระแสเหล่านั้น เข้าตำรา “ช้าแต่ชัวร์” คงก่อให้เกิดประโยชน์กับคุณ องค์กรของคุณ และลูกค้าของคุณมากกว่าเป็นแน่

 

ที่มา : https://bit.ly/3pKygCu

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT