กรมควบคุมมลพิษ เผยผลตรวจสารเคมี เหตุไฟไหม้โรงงานพลาสติก พบอากาศอยู่ในระดับปลอดภัย

7 ก.ค. 64

กรมควบคุมมลพิษ เข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในโรงงานผลิตเม็ดโฟม ล่าสุดพบว่า บริเวณภายในและด้านหน้าโรงงานตรวจไม่พบทั้งสารสไตรีนและฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อประชาชน

ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินมลพิษจากสารเคมี กรมควบคุมมลพิษ โดย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) ศูนย์ควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก ESP บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซึ่งมีสารเคมีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Styrene Pentane และ Dibenzoyl peroxide โดยตรวจวัดก๊าซพิษที่อาจพบ ได้แก่ สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) สไตรีน (Styrene) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซฟอร์มัลดีไฮด์ (HCHO) และมีผลการตรวจวัดไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศในระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2564 ดังนี้

211609679_4158443890905633_90

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมิงตี้เคมีคอล ออกแถลงการณ์เสียใจเหตุระเบิดและไฟไหม้ ยินดีชดใช้ค่าเสียหาย

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ผลตรวจวัดไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศในพื้นที่โดยรอบในระยะ 500 เมตร - 9 กิโลเมตร เมื่อเวลา 08.30-16.40 น. พบว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชน (ยังไม่มีผลตรวจ Styrene) เนื่องจากเป็นขณะที่เพลิงไหม้ทำให้เขม่าควันไอระเหยลอยขึ้นสูงและลอยไปไกลกว่า 10 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันอันตรายจากการระเบิดของถังสารเคมีในพื้นที่ จึงได้มีการตัดสินใจให้มีการอพยพประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร โดยรอบ

213177369_4161187287297960_21

วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ผลตรวจวัดไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศในบริเวณที่เกิดเหตุพบว่ามีฟอร์มาลดีไฮด์ (HCHO) ในระดับ 1-2.19 ppm ซึ่งสูงกว่าค่าความปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่ (ค่าเพดานสูงสุด) จึงเสนอแนะให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบริเวณดังกล่าวต้องสวมใส่หน้ากากป้องกันไอระเหยสารเคมีขณะปฏิบัติงาน และพบสไตรีนในระดับ 1-8.4 ppm ซึ่งไม่เกินค่าความปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่ ส่วนในบริเวณชุมชนด้านท้ายลมในรัศมี 1-5 กิโลเมตร ตรวจพบสารสไตรีน ในระดับ 0-0.8 ppm และฟอร์มัลดีไฮด์ ในระดับ 0-0.01 ppm ซึ่งอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อประชาชน (ค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุยังมีการปะทุของเพลิงไหม้เป็นระยะจึงยังต้องมีการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่องต่อไป

213842885_4161212313962124_62

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.0-10.00 น. พบว่า 1) บริเวณภายในโรงงานตรวจไม่พบทั้งสารสไตรีนและฟอร์มัลดีไฮด์ 2) บริเวณด้านหน้าโรงงานฯ ตรวจไม่พบสารสไตรีน และตรวจพบฟอร์มัลดีไฮด์ในระดับ 0.007 ppm ซึ่งอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อประชาชน และ 3) บริเวณชุมชนใกล้เคียงโรงงาน 3 จุด ในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ตรวจไม่พบทั้งสารสไตรีน และฟอร์มัลดีไฮด์

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้ประสานข้อมูลการตรวจวัดผลตรวจวัดไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศรายวันให้กับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อการตัดสินใจยุติการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ต่อไป

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ