แม่ เผยลูกป.6 ป่วยออฟฟิศซินโดรม เล่นเกม 6 ชม.ติด – หมอชี้ทุกวัยเสี่ยงสมาธิสั้น (คลิป)

27 ส.ค. 61
จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก "Bumm Montira" ได้โพสต์เล่าว่า ลูกของตนที่อยู่ชั้น ป.6 อายุเพียง 12 ปี ป่วยเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม ที่มักจะเกิดในผู้ใหญ่วัยทำงานที่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ โดยลูกมีอาการอาเจียน ปวดหัวหนัก เหมือนมีไข้ คล้ายเป็นไมเกรน จนต้องประคบร้อนบริเวณต้นคอและนวดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ สาเหตุเป็นเพราะตนปล่อยให้ลูกเล่นโทรศัพท์นานเกินไป
นางมณฑิรา คงยศ ผู้โพสต์
วันที่ 26 ส.ค.61 นางมณฑิรา คงยศ ผู้โพสต์ เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ส.ค. ลูกตนเพิ่งปิดเทอม จากนั้นลูกเล่นโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์อย่างหนัก ราววันละ 5-6 ชั่วโมงติดต่อกัน จนกระทั่งวันเสาร์ที่ 18 ส.ค. 61 ลูกตนมีอาการปวดหัว เมื่อยตามตัว และมีไข้ ตอนนั้นตนก็ให้กินยาพารา จนอาการไข้ลดหายไป แต่อาการปวดเมื่อยคงอยู่ จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ 22 ส.ค. 61 ลูกตนบ่นว่า ปวดหัวอย่างหนักจนอาเจียน จนบอกตนให้พาไปหาหมอ เมื่อถึงโรงพยาบาล หมอแจ้งว่าลูกตนป่วยเป็นออฟฟิศซินโดรม ตอนนั้นก็ตกใจว่าอาการนี้เป็นในเด็กได้ด้วยหรือ ซึ่งแพทย์ก็ระบุว่า เด็กสามารถเป็นได้ หลังใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
ลูกของนางมณฑิรา คงยศ ที่ป่วยเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม
นางมณฑิรา เผยว่า ปกติลูกชายตนเล่นเกมเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ไม่เคยมีอาการเช่นนี้ ประกอบกับลูกตนปิดเทอม ทำให้เล่นเกมไม่จำกัดเวลา แต่ยอมรับว่า ตัวเองปล่อยให้คอมพิวเตอร์เลี้ยงลูก เพราะตนก็ทำงาน เป็นแม่ค้า ปล่อยลูกให้อยู่ที่บ้าน ภายหลังลูกเข้ารับการรักษา ตอนนี้ลูกอาการเป็นปกติ ซึ่งแพทย์แนะนำให้เล่นโทรศัพท์ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งลูกตนก็เข็ด อย่างเมื่อวาน (25 ส.ค.) ก็ไม่เล่นเกมเลย โดยส่วนตัวก็สงสารลูก พร้อมฝากบอกครอบครัวอื่นให้หากิจกรรมให้กับลูก โดยเฉพาะการออกกำลังกาย ซึ่งดีกว่าให้สื่อออนไลน์เลี้ยงลูกแน่นอน ด้านนายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า อาการออฟฟิศซินโดรม สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวัย แต่กรณีนี้เด็กมีการเล่นสมาร์ทโฟนอยู่ในระยะเวลานาน จึงทำให้มีผลต่อกล้าม เนื่องจากบริเวณดังกล่าวทำงานหนัก และมีอาการปวด เกร็ง หากปล่อยไว้นาน ๆ อาจมีผลต่อ สายตา น้ำหนักที่อาจเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลที่อาจตามมาอีก หากเป็นเด็กเล็ก อาจส่งผลให้สมาธิสั้น พัฒนาการในสังคมเสีย พัฒนาการล่าช้า สุขภาพเสีย เกิดความรุนแรง และอาจถึงภาวะที่ติดเกม ตนจึงแนะนำผู้ปกครองว่า ควรสร้างความเข้าใจ โดยไม่ให้มีสื่อเหล่านี้อยู่ในห้องนอน อีกทั้งควรมีการตกลงเรื่องระยะเวลาการเล่นต่อครั้ง

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ