"โกเมน" ชี้ สัญญาณดี โลกมองไทยกู้ภัยถ้ำสำเร็จ – นักวิทย์หวัง ยานจิ๋ว “หมูป่า” ต่อยอดวิจัย (คลิป)

11 ก.ค. 61
เมื่อกลางดึกวันที่ 9 ก.ค. 61 มีรายงานว่า ที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ขณะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ภายหลังได้ตรวจเยี่ยมและติดตามการปฏิบัติงาน พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย โดยพล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้พบกับ อีลอน มัสก์ ซีอีโอบริษัทสเปซเอ็กซ์ ซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึง จ.เชียงราย และจะเดินทางต่อไปยังถ้ำหลวง โดยนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยกับนายอีลอนเป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง ก่อนที่นายอีลอนจะรีบเดินทางต่อมายังถ้ำหลวงทันที
การทดสอบใช้ตอปิโดใต้น้ำของอีลอน มัสก์
ล่าสุด 10 ก.ค. 61 อีลอน มัสก์ ได้ทวีตข้อความพร้อมภาพผ่านทวิตเตอร์​ @elonmusk ​บอกว่า เพิ่งกลับออกมาจากโถง 3 ยานดำน้ำจิ๋วพร้อมใช้งานหากจำเป็น มันทำมาจากชิ้นส่วนจรวดฟอลคอน 9 และตั้งชื่อว่า "หมูป่า" หรือ Wild Boar ตามชื่อทีมฟุตบอลของเด็กๆ จะทิ้งเอาไว้ที่นี่ เผื่อจะมีประโยชน์ในอนาคต พร้อมกับทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยสวยงามมาก
การทดสอบใช้ตอปิโดใต้น้ำของอีลอน มัสก์
ด้าน ผศ.ดร.กฤษณ์ วันอินทร์ รองคณบดีฝ่ายบริการ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้เผยถึงยานดำน้ำจิ๋วที่นายอีลอนนำมาสนับสนุนการกู้ภัยช่วยทีมหมู่ป่าว่า เทคโนโลยีนี้หากได้นำมาศึกษา จะประยุกต์ใช้พัฒนาต่อและเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความพร้อมที่จะนำมาประยุกต์ใช้และสนับสนุนงานวิจัย อาทิ ใช้สำรวจปะการัง สำรวจด้านธรณีวิทยา และอาจรวมถึงสำรวจถ้ำใต้ทะเลด้วย
ผศ.ดร.กฤษณ์ วันอินทร์ รองคณบดีฝ่ายบริการ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
ผศ.ดร.กฤษณ์ เชื่อว่าหากไทยได้ศึกษา จะสามารถพัฒนาจนผลิตขึ้นใช้ได้เอง เพราะอย่างยานดำน้ำจิ๋วที่นายอีลอนนำมาให้ เขาก็ใช้เวลาคิดและผลิตเพียงไม่กี่วัน หากไทยนำมาประยุกต์จนสามารถผลิตใช้กับเมืองไทยได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี ทำให้นักวิจัยไทยขยับขึ้นไปสู่เวทีโลกมากขึ้นอีกก้าว
ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย
ขณะที่ ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย บอกว่า ต้องขอบคุณที่ออกแบบและประดิษฐ์ยานกู้ภัยขนาดจิ๋วมาให้ใช้ เพราะเขาให้ความสำคัญกับการเข้าไปกู้ภัยกับเด็กๆ และเป็นสัญญาณที่ดีที่มีคนระดับโลกให้ความสำคัญกับบ้านเรา โดยอุปกรณ์ที่เรียกว่าตอร์ปิโดใต้น้ำนั้น เป็นผ้าใบที่ใช้วัสดุคุณภาพสูง เพราะฉะนั้นทีมผลิตอาจจะได้ข้อมูลมาเหมือนกันว่าภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อยที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผ้าใบที่ใช้ขาดได้ วัสดุที่ใช้จึงมีความทนต่อการขีดข่วนของพวกนี้ และได้มีการทดสอบแล้วว่าทนต่อการขีดข่วน และยังมีวิทยุสื่อสารภายในตัวอีกด้วย ส่วนระยะเวลาในการทำต่อ 1 ลำ ใช้เวลาทำ 8 ชั่วโมง น้ำหนัก 40 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นการแบกเข้าไปในถ้ำเป็นสิ่งที่ยากแต่ก็สามารถทำได้ กรณีนี้น้องต้องเข้าไปนอนอยู่ด้านใน ส่วนด้านในอาจจะออกแบบให้มีลูกเล่นต่างๆ เช่นมี MP3 สามารถฟังเพลงได้เป็นต้น ถ้าหากเทียบการทำงานที่ถ้ำหลวง ตนเองมองว่า Full face mask อาจจะเหมาะสมกว่า เพราะสามารถเคลื่อนตัวได้ง่ายกว่า และเวลาน้องมีปฏิกิริยาอะไรก็สามารถรู้ได้ทันที แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในนั้น เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า ณ เวลานั้นต้องตัดสินใจอย่างไร ถ้าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ส่วนเรื่องข้อดีของเจ้าตัวนี้ คือไม่จำเป็นต้องดำน้ำเป็น เข้าไปแล้วนอนอยู่เฉยๆ ก็สามารถหายใจได้ตามปกติ เพราะมีออกซิเจนเลี้ยง ส่วนข้อเสียนั้นต้องทดลองใช้ไปสักระยะก่อนแล้วจึงจะทราบว่ามีอะไรบ้าง

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ