ครั้งแรก! พบ 2 โพรงใหม่ดอยผาหมี มุดพิสูจน์ถึงถ้ำหลวง - กรมธรณีลงด่วน ยันข้อมูลใหม่ (คลิป)

28 มิ.ย. 61
ความคืบหน้าการค้นหานักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอน ที่สูญหายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 61 ล่าสุด วันที่ 28 มิ.ย. 61 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ลงพื้นที่หมู่บ้านผาหมี ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นจุดที่ติดต่อกับดอยนางนอน และอยู่ห่างจากปากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนมา ราว 3 กิโลเมตร โดยนายนิวัฒน์ ธำภัศนีย์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านผาหมี หมู่ 6 พาทีมข่าวเข้าเดินสำรวจในจุดที่คาดการณ์ว่ามีโพรง และคาดว่าสามารถเชื่อมต่อกับใต้ถ้ำหลวง
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านผาหมี นำทีมข่าวสำรวจโพรง คาดเป็นจุดเชื่อมต่อถ้ำหลวง
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านผาหมี และชาวบ้านในพื้นที่ นำทีมข่าวสำรวจโพรงจุดแรก ที่คาดว่าเป็นโพรงระบายอากาศ โดยอยู่ในพื้นที่ด้านหลังของไร่ส้มและไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน พบว่าโพรงดังกล่าวถูกปกคลุมด้วยต้นหญ้า ดิน และหินจำนนวนหนึ่ง โดยชาวบ้านจะต้องใช้มีดตัดต้นหญ้าที่ปกคลุม และนำหินที่ปิดโพรงออก เป็นโพรงลึกลงไปใต้ดิน ทั้งนี้ เมื่อทดสอบวางบุหรี่ ปรากฏว่าบุหรี่ล้มทันทีตามแนวทิศทางลมของโพรงดังกล่าว
ทดสอบวางบุหรี่จับทิศทางลมผ่านโพรง
นายนิวัฒน์ ธำภัศนีย์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านผาหมี หมู่ 6 เปิดเผยว่า โพรงนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเมื่อเข้าสู่หน้าฝน ฝนที่ตกลงมาก็จะไหลเข้าสู่โพรงที่อยู่ในไร่สวนส้ม และติดกับพื้นที่ภูเขาลูกเดียวกันกับถ้ำหลวง ซึ่งก่อนหน้านี้ แม้คนงานของไร่สวนส้มจะทราบว่ามีโพรง แต่ก็ไม่เคยเข้าไปสำรวจ ซึ่งคนสวนจะเรียกโพรงจุดนี้ว่าเป็น "ถ้ำลม" เนื่องจากมีลมเข้าออกจากโพรงตลอด ซึ่งชาวสวนไม่กล้าปลูกพืชใกล้จุดนี้ จึงปล่อยทิ้งไว้
นายนิวัฒน์ ธำภัศนีย์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านผาหมี หมู่ 6
ทั้งนี้ คิดว่าโพรงดังกล่าว น่าจะเชื่อมไปยังถ้ำหลวงได้ คาดว่าหากยืนจากหน้าปากถ้ำหลวง จุดนี้จะเป็นฝั่งซ้ายของถ้ำ และห่างจากปากถ้ำไม่ไกลนัก ตนจึงคาดการณ์ว่าถ้ำลมตรงนี้อาจเป็นช่องอากาศที่ทำให้เด็ก 13 คนที่ติดอยู่ สามารถหายใจได้
ภาพจำลองแผนที่บริเวณโดยรอบถ้ำหลวง
ภาพจำลองจุดที่คาดว่าทั้ง 13 คน อยู่ในจุดใกล้ดอยผาหมี
นอกจากนี้ พบโพรงจุดที่ 2 ห่างจากโพรงแรกประมาณ 800 เมตร ซึ่งเป็นโพรงที่ชาวบ้านระบุว่า หากฝนตกลงมา น้ำจะไหลเข้าไปในโพรงทันที โดยโพรงอยู่ใต้พื้นดินลงไป มีทางเข้าขนาดใหญ่ และทางลาดลงไปค่อนข้างลึก ด้านหน้าถูกปกคลุมด้วยเถาวัลย์และพืชไม้เลื้อย ซึ่งหากไม่สังเกต จะไม่เห็นว่ามีโพรงใต้ดินนี้อยู่
โพรงที่ 2 ที่สำรวจพบ ในสวนไร่ส้ม-ข้าวโพด
จากนั้น ชาวบ้านพยายามลงไปสำรวจในโพรงใต้ดิน พบว่าพื้นที่ค่อนข้างแคบ เมื่อเทียบกับลำตัวคน หากคนตัวเล็กก็สามารถลงไปได้ โดยขนาดโพรงมีความกว้างประมาณ 50 ซม. ชาวบ้านลงสำรวจได้เพียงเล็กน้อยก็กลับขึ้นมา เพราะด้านในค่อนข้างมืด และอากาศทำให้รู้สึกอีดอัด นายนิวัฒน์ กล่าวต่อว่า เจ้าของสวนที่เป็นญาติกับตน บอกว่าจุดนี้ค่อนข้างน่าสงสัย เพราะเวลามีน้ำป่าไหลเกิดขึ้น ก็จะไหลลงไปในโพรงนี้ ชาวบ้านก็สงสัยว่าทำไมน้ำไหลไม่เคยเต็มโพรง แต่เนื่องจากไม่เคยมีใครเข้าไปสำรวจ จึงไม่แน่ชัดว่าโพรงนี้จะมีทางน้ำหรือทางเดินต่อไปได้หรือไม่ แต่คาดว่าน่าจะเป็นโพรงที่เชื่อมไปยังบริเวณถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนได้ ซึ่งจุดนี้อาจเป็นจุดที่อยู่สูงกว่าบริเวณปากถ้ำหลวง เมื่อฝนตกลงมา น้ำฝนอาจไหลลงสู่บริเวณถ้ำ ทำให้ไปขังด้านใน ประกอบกับอาจเป็นช่องทางลมทำให้มีอากาศถ่ายเทเข้าไปได้ อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าเด็ก ๆ ยังมีชีวิต และยังสู้อยู่ ซึ่งตนอยากแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบโพรงดังกล่าว เพื่อให้ความช่วยเหลือในการค้นหาเด็กทั้ง 13 คนต่อไป
นายจั๊ดโด่ เบกากู ชาวอาข่า คนงานชาวไร่
ขณะที่ นายจั๊ดโด่ เบกากู ชาวอาข่า คนงานไร่ เล่าว่า ตอนที่ตนลงไปสำรวจนั้น พื้นที่ขนาดค่อนข้างแคบ คนตัวใหญ่ไม่น่าที่จะลงไปได้ แต่เดินลงไปลึก ๆ จะพบว่าด้านล่างมีพื้นที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งต้องอาศัยการเดินและคลานลงไป แต่ไม่เห็นว่ามีทางน้ำไหลผ่าน จะพบเพียงตอไม้ และทราย ซึ่งตนคาดว่าคนสามารถเดินลงไปได้ แต่ข้างในมืดมาก และพบตุ๊กแกอยู่ด้วย 1 ตัว
นายนิกร รุ่งประชารัตน์ เจ้าของไร่ส้ม-ข้าวโพด
นอกจากนี้ นายนิกร รุ่งประชารัตน์ เจ้าของไร่ส้ม-ไร่ข้าวโพด ชาวหมู่บ้านผาหมี เปิดเผยว่า พื้นที่ที่พบโพรงอยู่ในไร่สวนของตน โดยขนาดของไร่มีขนาดประมาณ 20 ไร่ และอยู่ติดกับดอยนางนอน ซึ่งระยะทางจากถ้ำหลวง ห่างจากจุดนี้ประมาณ 3 กิโลเมตร โดยโพรงอยู่ทางทิศตะวันตกของปากถ้ำหลวง และที่ผ่านมา ช่วงฤดูฝน น้ำจะไหลเข้าโพรงนี้ตลอด ในไร่ของตนก็ไม่เคยมีน้ำท่วมในจุดนี้ แต่ส่วนตัวยังไม่เคยเข้าไปสำรวจ จึงไม่แน่ใจว่าน้ำจะไหลเข้าไปภายในถ้ำหลวงด้วยหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่ามีความใกล้เคียง เพราะโพรงนี้อยู่ฝั่งที่ติดกับถ้ำหลวง อย่างไรก็ตาม สำหรับโพรงในจุดบริเวณใกล้เคียง ตนยังไม่เคยเห็น เพราะไม่เคยไปสำรวจด้านบนถ้ำผาหมี ส่วนถ้ำผาฮี้นั้น จะห่างออกไปอีก 20 กิโลเมตร ซึ่งส่วนตัวคิดว่า เป็นไปได้ที่น้ำบนภูเขาทั้ง 2 ผา จะไหลเข้าไปในถ้ำหลวง หากฝนตกอย่างต่อเนื่อง
นายสมหมาย เตชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี
ด้านนายสมหมาย เตชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า จุดที่เพิ่งมีการค้นพบตามพิกัดที่เจ้าหน้าที่ภาคสนามและทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ส่งมาให้ดูนั้น พบว่าจุดดังกล่าวเป็นจุดที่รับน้ำ ซึ่งอยู่ด้านเหนือของถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน และเป็นบริเวณที่ตรงกับรอยแตกของชั้นหิน ประกอบกับบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางน้ำหลัก และเป็นข้อสันนิษฐานได้อย่างหนึ่งว่า บริเวณดังกล่าวติดกับธารน้ำจากห้วยน้ำคัน ซึ่งมีความเป็นได้ที่ธารน้ำดังกล่าวอาจจะมีการแยกออกมาบางส่วนไหลเข้าถ้ำ และทำให้น้ำไหลมาเติมเต็มปริมาณน้ำในถ้ำขณะนี้ ซึ่งจากเดิมบริเวณจุดดังกล่าวไม่ได้อยู่ในแผนการสำรวจของทางเจ้าหน้าที่ภาคสนามแต่อย่างใด แต่ในเมื่อตอนนี้ได้มีการพบจุดที่มีความเป็นไปได้ ว่าจะเป็นจุดที่ทำให้มีน้ำไหลเข้ามาเพิ่มปริมาณน้ำในถ้ำ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ภาคสนามไปตรวจสอบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นรอยแตกของชั้นหิน หรือเ ป็นทางน้ำไหลเข้าไปในถ้ำจริงหรือไม่ และหากพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นทางน้ำไหลเข้าไปในถ้ำจริง ก็อาจจะต้องมีการดำเนินการเบี่ยงเส้นทางน้ำอย่างเร่งด่วน โดยการใช้กระสอบทรายปริมาณมากมาปิดกั้นทางน้ำ ไม่ให้น้ำไหลเข้ามาในจุดที่เป็นโพรง และจะทำให้น้ำไหลเข้าไปในถ้ำได้ ส่วนตัวตนมองว่าบริเวณดังกล่าว หากเป็นจุดที่เป็นทางน้ำไหลเข้ามาสู่ถ้ำจริงๆ ก็ถือว่าเป็นจุดที่น้ำไหลเข้ามาเติมเต็มปริมาณน้ำในถ้ำโดยหลัก และหากมีการเบี่ยงทางน้ำหรือกั้นทางน้ำได้ถึงจริง ก็จะทำให้ลดการเติมปริมาณน้ำในถ้ำลงไปได้มาก อย่างไรก็ตามก็ต้องขอขอบคุณทีมสำรวจจากหน่วยงานของทหาร และทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี เป็นอย่างมาก ที่ทำให้พบจุดสำคัญที่คาดว่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำในถ้ำดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวแทนเจ้าหน้าที่ภาคสนามจากกรมทรัพยากรธรณี ที่จะนำทีมเข้าไปสำรวจโพรงทั้ง 2 จุดในไร่สวนที่มีพื้นที่ติดต่อกับถ้ำหลวง ได้เลื่อนการเข้าสำรวจออกไปก่อน เนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้เป็นอุปรรคต่อการทำการสำรวจโพรงภายใน และเส้นทางน้ำ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ